วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

ลิลิตตะเลงพ่าย


ตอนที่ 1 เริ่มบทกวี
ตอนที่ 2 เหตุการณ์ทางเมืองมอญ
ตอนที่ 3 พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี
ตอนที่ 4 พระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร
ตอนที่ 5 สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ
ตอนที่ 6 พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ
ตอนที่ 7 พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะหน้าของไทย
ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน
ตอนที่ 9 ทัพหลวงเคลื่อนพลฯ
ตอนที่ 10 ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย
ตอนที่ 11 พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร
ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะ 25 รูปสองแผนก คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญวาสี มาถวายพระพรและถามข่าวที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเล่าจบ พระวันรัตกราบทูลว่าเมื่อพระองค์ทรงมีชัยชนะ เหตุใดจึงลงโทษข้าราชบริภารเหล่านั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสต่อไปว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงซึ่งได้รับเกณฑ์เข้าในกองทัพ เมื่อเห็นข้าศึกก็ตกใจกลัว ยิ่งกว่ากลัวพระองค์ซึ่งเป็นเจ้านาย ไม่ตามเสด็จให้ทัน ปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องเข้าสู้รบท่ามกลางข้าศึกจำนวนมากจนมีชัยชนะรอดพ้นความตายจึงได้มาดูหน้าพวกทหารเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะคุณความดียิ่งใหญ่ที่ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองไว้คอยอุดหนุนพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สองพี่น้อง ถ้าไม่ได้ความดีแต่เก่าแล้ว กรุงศรีอยุธยาจะต้องสิ้นอำนาจเสียแผ่นดินแก่กรุงหงสาวดีเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงควรลงโทษตามพระอัยการศึกเพื่อมิให้คนอื่นเอาเยี่ยงอย่างสืบไป

 

สมเด็จพระวันรัตจึงกราบทูลว่า บรรดาข้าข้าราชการเหล่านั้นล้วนมีความจงรักภักดี แต่เพราะพระบรมเดชานุภาพปรากฏแก่ปวงชนเป็นที่น่าอัศจรรย์จึงบันดาลให้เป็นเช่นนั้น เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( พระตรีโลกนาถ ) ทรงชนะพระยามารลำพังพระองค์เองเช่นเดียวกับ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ เสด็จไปปราบอริราชศัตรูจนแพ้พ่ายโดยปราศจากไพร่พล พระเกียรติยศจึงเลื่องลือกึกก้องไปทั่วทุกแห่งหน หากมีทหารล้อมจำนวนมากแล้วเอาชนะได้ พระเกียรติยศก็ไม่ฟุ้งเฟื่องเพิ่มพูน และกษัตริย์ทั้งหลายก็จะไม่พากันออกพระนามเอิกเกริกกันเช่นนี้ ขอพระองค์ทั้งสองอย่าได้โทมนัสน้อยพระทัย ทั้งนี้เพราะบุญบารมีของทั้งสองพระองค์ ทวยเทพทั้งหลายจึงบันดาลให้เป็นไปดังนั้น ขอทั้งสองพระองค์ อย่าได้ทรงขุ่นแค้นพระทัย สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังก็ทรงเห็นด้วย เมื่อพระวันรัตเห็นว่าทรงคลายกริ้วแม่ทัพนายกองแล้ว จึงกล่าวถวายพระพรให้สมเด็จพระนเรศวรปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง แล้วกราบทูลว่า แม่ทัพนายกองเหล่านี้มีความผิดรุนแรง ควรได้รับโทษทั้งโคตร แต่เคยได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อนนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระบรมราชอัยกา และสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา จนล่วงถึงสมเด็จพระนเรศวร ขอให้ ทรงงดโทษประหารแม่ทัพนายกอง เพื่อจะได้เป็นกำลังส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ และเพิ่มพูนพระบารมีให้แผ่ไปทั่วบ้านเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชทานอภัยโทษตามคำทูลของพระวันรัต แต่ทรงเห็นสมควรที่จะใช้ให้ไปตีเมืองตะนาวศรี ทวาย และ มะริด เป็นการชดเชยความผิดจึง พระราชทานอภัยโทษแม่ทัพนายกอง และมีพระราชกำหนดให้ เจ้าพระยาคลังไปตีเมืองทวาย ให้เจ้าพระยาจักรีไปตีเมือง มะริด และ ตะนาวศรี เป็นการไถ่โทษ จากนั้นทรงมีพระราชดำรัสถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือว่า ไทยได้กวาดต้อนครอบครัวเข้ามาจำนวนมากแต่ยังไม่หมด ทรงมีพระราชดำริ ถึงศึกพม่า- มอญ ว่าคงจะลดลงถึงจะยกมาอีกคงไม่น่ากลัว ควรจะได้ทะนุบำรุงหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ให้รุ่งเรืองปรากฏเป็นเกียรติยศสืบต่อไปชั่วกัลปาวสาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย