ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชประวัติพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยกะทันหัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช 1289 รัตนโกสินทร์ศก 146 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซทท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 3 พระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ต่อมาในปีพุทธศักราช 2478 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 1 พระองค์ มีพระนามเดิมและพระอิสริยยศต่อมาตามลำดับ ดังนี้
หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช 2478 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาปีพุทธศักราช 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ทรงมีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หม่อมเจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ 20
กันยายน พุทธศักราช 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล
เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2478 ทรงพระปรมาภิไธยว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เมื่อวันที่ 9
มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี
ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนก
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์
ได้เสด็จทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จวิชา
แพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช
เมื่อพุทธศักราช 2459 ต่อจากนั้นทรงได้รับทุนการศึกษาของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา
บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช 2460
ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ขณะดำรงพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อพุทธศักราช 2463
เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2471
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาได้ 1 พรรษา
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย
ครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา
บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2472
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน
ในปีเดียวกัน
เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนี ทรงรับพระราชภาระแห่งความเป็นแม่อย่างใหญ่หลวง
เพราะต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดาองค์น้อยๆ โดยลำพังถึง 3 พระองค์
และที่นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของแม่ใดๆ
ก็เพราะว่าพระโอรสธิดาที่ทรงอภิบาลรับผิดชอบนั้นต่อมาเป็นพระประมุขของประเทศถึง 2
พระองค์ เพราะฉะนั้น การอภิบาลรักษาและการถวายการอบรมสั่งสอน
จึงมีความยากและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พระราชจริยาวัตรในเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือสมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้เรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
โรงเรียนเพาะช่างในสมัยนั้นจัดทำแผนที่ประเทศไทยโดยผลิตเป็นรูปตัวต่อ
เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ
มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์
ทรงเล่นเป็นเกมส์สนุกคล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการสอนให้รู้จักประเทศไทย
และรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมๆ กัน
จึงกล่าวได้ว่าพระราชดำริสร้างสรรค์เหล่านี้
ประกอบกับคุณธรรมอีกหลายประการได้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการที่ทรงอภิบาลและฝึกสอนพระโอรสธิดา
ดังจะเห็นได้ว่าพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงามหลายประการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่งผล
ไปถึงพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรของพระโอรสธิดา อาทิ
พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์
ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างครบถ้วน
ดังจะเคยได้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ใดจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์ คือ
ทรงมีแผนที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบด้วย เวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ
เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนบนแผนที่
เช่นเดียวกับพระบรมราชชนนีที่ทรงกระทำมาก่อน บางครั้งจะทรงพบว่า ณ
จุดทรงงานนั้นเป็นสถานที่บนภูเขาแต่ตามระวางของกรมแผนที่ระบุไว้ว่าเป็นธารน้ำ
จึงดูคล้ายกับน้ำไหลขึ้นสูง
และได้พระราชทานข้อสังเกตนี้แก่กรมแผนที่ซึ่งกรมแผนที่ได้สำรวจใหม่จึงพบว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง
กลายเป็นน้ำไหลกลับขึ้นที่สูง
จากนั้นกรมแผนที่ได้เขียนเป็นเอกสารถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักแผนที่ผู้ชำนาญพระองค์หนึ่งด้วย
พุทธศักราช 2475
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 พรรษา
ได้เสด็จทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 ปี
หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง
จำเป็นต้องประทับในสถานที่ซึ่งอากาศดีและไม่ชื้น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระปิตุลา ทรงแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอลเมียร์มองต์ (Ecole
Mieremont) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ
ลาซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร โลซานน์
(Chailly-sur-Lausanne)
พุทธศักราช 2481
ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal)
แห่งเมืองโลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์
แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม
พุทธศักราช 2488 ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 โดยเสด็จ
สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช หลังจากเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยชั่วคราวครั้งที่
1 เมื่อพุทธศักราช 2481 ครั้งหลังนี้ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน
ในพระบรมมหาราชวัง
จนกระทั่งถึงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน คณะรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชภารกิจในการศึกษาต่อ
จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น
รวมเวลาที่เสด็จประทับในประเทศไทยได้ 6 เดือน ในการทรงศึกษาต่อครั้งนี้
ทรงเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่แต่เดิมก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492
ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล
กิติยากร ผู้ซึ่งต่อมา เมื่อพุทธศักราช 2493
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้านักขัตรมงคลและในพุทธศักราช 2495
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
พุทธศักราช 2493
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน
วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนต่อมา