ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ประวัติพระศาสนจักรในประเทศไทย

การเข้ามาของพวกโปรตุเกสกับคริสตศาสนา
ความปรารถนาของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์
ธรรมทูตคณะโดมินิกันในสยาม
มรณสักขีองค์แรกในแผ่นดินสยาม
สิทธิอุปถัมภ์ศาสนา (Padroado)
ระบบ “ปาโดรอาโด” ของโปรตุเกส
การเข้ามาของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส

ระบบ “ปาโดรอาโด” ของโปรตุเกส

อำนาจปกครองของกษัตริย์
กษัตริย์มีส่วนร่วมในกิจการเผยแพร่ศาสนา โดยเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นสังฆราชในสังฆมณฑลต่างๆ ของอาณานิคม พระองค์แต่งตั้งเจ้าอาวาสโดยตรง สำหรับสังฆราชไม่ต้องแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา พระสงฆ์จิตตาธิการของคณะ “กองพลของพระคริสต์” มีอภิสิทธิ์มอบอำนาจฝ่ายธรรมแก่พระสังฆราชองค์ใหม่ นอกนั้น กษัตริย์เป็นผู้ออกเงินเพื่อบำรุงวัดและอาราม ให้เงินเลี้ยงพระสงฆ์และฆราวาสที่ทำงานในวัด มีหน้าที่ซ่อมแซมวัดวาอารามและสร้างใหม่ตามความต้องการ

สมัยนั้นถือว่ากษัตริย์มีส่วนในงานของพระศาสนจักร เพราะต้องรับผิดชอบในความรอดฝ่ายวิญญาณของไพร่พล รับผิดชอบต่อความเจริญของศาสนา และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระศาสนจักรในราชอาณาจักร พระสันตะปาปาได้ทรงมอบภาระหน้าที่การเผยแพร่ศาสนาและการจัดระเบียบการปกครองของพระศาสนจักรในประเทศที่ไม่อยู่ในยุโรปให้กษัตริย์ และทุกคนย่อมรับสิทธิ์การปกครองทางธรรมของกษัตริย์

ระเบียบของปาโดรอาโด
ธรรมทูตที่ไปในดินแดนมิสซังต้องโดยสารทางเรือของโปรตุเกสประเทศเดียว โดยออกเดินทางจากกรุงลิสบอนเมืองเดียว ฉะนั้นพระสงฆ์และนักบวชชาวโปรตุเกสหรือชาวต่างประเทศทั่วยุโรป ต้องไปรวมกันที่ลิสบอน โดยมีเจ้าหน้าที่โปรตุเกสตรวจคนที่จะเดินทางอย่างละเอียด (เกี่ยวกับอายุ สัญชาติ ยศ ตำแหน่ง) คนต่างชาติต้องเรียนภาษาโปรตุเกสเพราะเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปในมิสซัง อีกทั้ง ธรรมทูตทุกคนต้องไปเฝ้ากษัตริย์และปฏิญาณที่จะซื่อสัตย์ต่อกษัตริย์โปรตุเกส และทำงานภายใต้การปกครองของพระสงฆ์โปรตุเกส


จุดอ่อนเกี่ยวกับการปกครองของโปรตุเกส
ประเทศโปรตุเกสเป็นประเทศเล็ก มีพลเมืองไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนคน เมื่อนักเดินเรือเริ่มพบดินแดนใหม่ โปรตุเกสเองจึงไม่สามารถรับผิดชอบการเผยแพร่ศาสนาทั่วอาณานิคมของตน กษัตริย์จึงขอความช่วยเหลือจากคณะนักบวชให้เรียกสมาชิกของคณะที่เป็นชาวต่างชาติมาช่วย จึงมีนักบวชชาวอิตาเลียน สเปน เยอรมัน ออสเตรีย โปแลนด์ ไปสมทบชาวโปรตุเกสเป็นธรรมทูตเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปโปรตุเกสยึดครองดินแดนตามชายทะเล ไม่นิยมเข้าไปในแผ่นดินที่เป็นอาณานิคม ดังนั้น โปรตุเกสจึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการมากมายของประเทศมิสซังอันกว้างใหญ่ได้

ข้อสังเกตเกี่ยวกับปาโดรอาโด
น่าสังเกตว่า แม้ระยะเวลานั้นจะอยู่ในศตวรรษที่ 16 แล้วก็ตาม แต่ประเทศโปรตุเกสและสเปนยังคงยึดถือจิตตารมณ์ของสมัยกลางอยู่ นั่นคือการยึดมั่นอยู่กับสถาบันพระสันตะปาปา แทนที่จะโน้มเอียงไปสู่ความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ตามที่มีอยู่ทั่วไปในยุโรปเวลานั้น ประเทศทั้งสองจึงกลายเป็นเครื่องมือที่พระศาสนจักรใช้ในการขยายพระศาสนจักรไปสู่ดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ การก่อตั้งระบบปาโดรอาโด ทำให้ประเทศสเปนและโปรตุเกสต้องรับหน้าที่ในการต่อสู้กับพวกแขกมัวร์มุสลิมที่กำลังคุกคามยุโรปในเวลานั้นด้วย

แม้ว่าสเปนกับโปรตุเกสจะเป็นมหาอำนาจในยุโรป แต่ต่างต้องขออนุญาตจากพระสันตะปาปา เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อโดยแท้จริงว่า พระสันตะปาปาในฐานะเป็นผู้แทนพระคริสตเจ้าบนโลกนี้มีอำนาจหน้าที่โดยสมบูรณ์ที่จะถอดถอนประเทศทั้งหลายของคนต่างศาสนา เพื่อประโยชน์สำหรับนักปกครองซึ่งถือศาสนาคริสต์ เป็นที่น่าสังเกตว่าสิทธิพิเศษจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจในการแพร่ธรรมโดยตรงมีแต่ทางอ้อมเท่านั้น

สรุปสิทธิพิเศษของปาโดรอาโด

นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งคือ ซิลวา เรโก (Silva Rego) ได้สรุปสิทธิพิเศษต่างๆ ของปาโดรอาโดไว้ ดังนี้

1) การเดินเรือเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ๆ สงวนไว้เฉพาะนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อผลดีต่อผู้ที่ยังไม่เชื่อในพระศาสนาเอง
2) ชาวโปรตุเกสเป็นผู้ปกครองที่แท้จริงทางทะเล รวมทั้งแผ่นดินต่างๆ ที่จะค้นพบและยึดครอง นอกเหนือจากที่ค้นพบและยึดครองไว้แล้ว
3) ชาวโปรตุเกสมีอำนาจในการเจรจาโดยตรงอย่างอิสระกับผู้ที่ยังไม่เชื่อ รวมทั้งกับพวกมุสลิมด้วย
4) กษัตริย์โปรตุเกสสามารถสร้างและก่อตั้งวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จัดตั้งและจัดหาคณะนักบวชสำหรับวัดวาอารามเหล่านั้น เพื่อโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การยกบาปยกเว้นเฉพาะกรณีที่พระสันตะปาปาสงวนไว้เท่านั้น
5) ประเทศโปรตุเกสเป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง (Jurisdiction) แถบอินเดียตลอดไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย