สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิวัฒนาการและโลกทัศน์ของแนวคิดยุคใหม่

คลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลก
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ผลกระทบด้านการเมือง

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  1. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบเสรี จากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และการเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ระบบทุนนิยมโลกแผ่ขยายออกไปครอบคลุมเกือบทุกส่วนของโลก เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของทุนระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ประเทศต่างๆ พากันปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีเพื่อเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศสังคมนิยมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนและควบคุมที่ส่วนกลาง ได้ปฏิรูปโดยเปิดประเทศให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน นำกลไกตลาดมาประยุกต์ใช้ เช่น จีนมีนโยบายที่ทันสมัย เวียดนามใช้นโยบายปฏิรูป (Doi Moi) ส่วนประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยม ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการเงินโดยลดข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เสรียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุน การเคลื่อนย้ายทุน อันส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตและการประกอบการลดลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ เนื่องมาจากการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในระบบการค้าเสรีบางประเทศเริ่มใช้มาตรการปกป้องทางการค้า หลายประเทศพยายามหาแนวร่วมทางเศรษฐกิจ ขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้น เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ได้กระชับความร่วมมือจัดตั้งเป็น ตลาดเดียว ใน ค.ศ. 1999 ส่วนสหรัฐอเมริกา แคนาดา และแม็กซิโกได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA) ในขณะที่กลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อีกทั้งยังมีการร่วมมือในย่านเอเชียแปซิฟิก(APEC) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเหล่านี้ อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าหรือสงครามการค้าได้ ถ้าหากผลประโยชน์ขัดกันจนไม่สามารถประนีประนอมได้ นอกเหนือจากการกลุ่มในระดับภูมิภาคแล้ว บางประเทศยังพยายามร่วมมือในระดับเล็กในลักษณะอนุภูมิภาค เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle : IMTGT) และความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Quadangle Cooperative) ระหว่างไทย ลาว พม่า และจีนตอนใต้ โดยแต่ละประเทศจะอาศัยความได้เปรียบของกันและกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกกำลังนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งมี 3 ขั้ว คือ ยุโรป เอเชีย และอเมริกา ระบบเศรษฐกิจโลก 3 เส้าดังกล่าวกำลังก่อตัว ซึ่งจะมีทั้งการแข่งขันและความร่วมมือ ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป (Asia Europe Meeting : ASEM)

     
  3. เกิดระบบเสรีด้านการเงินและการค้า เป็นระบบเศรษฐกิจที่สินค้าและเงินตราต่างไหลเวียนไปทั่วโลกได้อย่างเสรี โดยความเป็นสากลของทุนและเงินตรา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้ทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปมาได้อย่างเสรี การเคลื่อนย้ายของทุนในระดับโลกจากจุดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปยังจุดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ก่อให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นทั่วไปในระบบตลาดที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ผู้ที่ควบคุมทุนได้จะอยู่ในฐานะได้เปรียบโดยสิ้นเชิง เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกรวมเข้าด้วยกัน ทุนสามารถไหลเวียนไปยังที่ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้กระจายต้นทุนออกไปสู่ภายนอกได้มากที่สุด ผลที่ตามมาคือการโอนย้ายภาระต้นทุนจากนักลงทุนระหว่างประเทศไปยังท้องถิ่นต่างๆ ในภาวะเช่นนี้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่นำทุนเข้าจากต่างประเทศได้ในระยะเวลาไม่มากนัก ไม่ว่าสมรรถภาพการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายของกองทุนขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วทั้งไหลเข้าและไหลออก
  4. ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตสินค้า โดยการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิต โดยมีลักษณะการใช้งานเฉพาะซึ่งใช้ระยะเวลาการผลิตสั้นกว่า สิ้นเปลืองน้อยกว่า เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์อาจได้รับการผลิตอยู่ในหลายประเทศแล้วนำมาประกอบเป็นรถยนต์ในอีกประเทศหนึ่ง แล้วส่งขายไปทั่วโลก ซึ่งลักษณะการประกอบการอย่างนี้เป็นลักษณะของบริษัทข้ามชาติซึ่งเป็นแบบฉบับของธุรกิจโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจการเงินหลักทรัพย์ ธนาคาร ประกันภัย ต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ด้วย การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนระบบการผลิตมาเป็นการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ระบบการเงินก็จะต้องปรับมาให้บริการแบบเดียวกันด้วย กระแสเงินตราต่างๆ และธุรกรรมทางการเงินผ่านเข้าออกธนาคารตลอดเวลาในช่วงเสี้ยววินาที โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กระแสการแข่งขันด้านการค้าและการแสวงหาตลาดซึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วนี้ กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติอย่างแท้จริง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย