ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

สาระธรรมจากพระพุทธศาสนา

ประวัติของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนา
องค์ประกอบของพระพุทธศาสนา
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ปรัชญา
ความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา
ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญา
ลักษณะเชิงปรัชญาของพระพุทธศาสนา

ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญา

พระพุทธศาสนาและปรัชญามีความแตกต่างกัน โดยสรุปในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. พุทธศาสนาเกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เกิดจากการคาดคะเนหรือการใช้เหตุผลในการกะเก็งความจริง แต่เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติส่วนปรัชญาเกิดจากการใช้เหตุผลหรือการคาดคะเนเอาตามประสบการณ์

    หรือข้อมูลเท่าที่จะสามารถหาได้ ข้อสรุปทางปรัชญานั้นเป็นเพียงผลของการตีความหรือตีความหมายจากประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงต่อสิ่งที่ตนคิดนั้น กล่าวคือ ไม่เคยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เลย
  2. พระพุทธศาสนาเน้นสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น จัดได้ว่าเป็นศูนย์กลางของแนวความคิดและคำสอนของพระพุทธศาสนากล่าวคือ สอนเรื่องความเป็นจริงในชีวิต ส่วนปรัชญาเน้นถกเถียงกันเรื่องโลก จักรวาล หรือธรรมชาติภายนอกเท่านั้น ไม่ได้เน้นศึกษาเรื่องของชีวิต ดังนั้น ปรัชญาจึงเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว เพราะไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง จนบางครั้งดูเหมือนรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตในความเป็นจริง
  3. พระพุทธศาสนาเน้นสอนเรื่องที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงเท่านั้น ไม่ได้สอนทุกเรื่องที่คนอยากรู้ กล่าวคือไม่ได้สอนเพื่อสนองความต้องการอยากจะรู้ แต่สอนเรื่องที่สามารถดับความทุกข์ในชีวิตของมนุษย์ได้ ส่วนปรัชญาสนใจทุกเรื่อง ทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาของชีวิตเป็นการแสวงหาความรู้เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ โดยไม่สนใจว่าความรู้ที่ได้นั้นนำมาสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่หรือประสบความสำเร็จในการ แสวงหาแล้ว ฉะนั้น ปรัชญาจึงมีลักษณะเป็นทฤษฎีหรือแนวคิด มิใช่วิธีการหรือแนวทางปฏิบัติ
  4. พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกิดความรู้ มีปัญญา รู้จักใช้เหตุผล สามารถมีปัญญาหรือเ ห ตุผ ล ใ น ก า ร แ ก้ไ ข ปัญ ห า ที่เ กิด ขึ้น ใ นชีวิตประจำวันได้ ปัญญาทางพระพุทธศาสนามิใช่เป็นเพียงการรู้เพื่อสนองความอยากรู้เท่านั้น แต่เป็นการรู้เพื่อหาทางแก้ทุกข์ของชีวิตและปัญญา ความรู้ที่แท้จริงทางพระพุทธศาสนานั้น ยังช่วยทำลายกิเลสในชีวิตของมนุษย์ให้หมดไป มากน้อยตามกำลังของปัญญา เมื่อพัฒนาปัญญาได้ถึงขั้นสมบูรณ์ ก็จะทำลายกิเลสได้หมดสิ้น รวมทั้งหมดความอยากที่จะรู้ต่อไปด้วยเพราะรู้สิ่งที่ควรรู้แล้วส่วนปรัชญาถือกันว่าเป็นศาสตร์แห่งความรู้เพื่อการพัฒนาปัญญาและเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อในแนวของศาสนา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ปัญญาทางปรัชญานั้นมีลักษณะ เป็นการสนองความอยากรู้ของมนุษย์ และช่วยกระตุ้นให้มนุษย์อยากรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทางปรัชญาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่าต่อความเป็นมนุษย์
  5. พระพุทธศาสนาเน้นสอนในเรื่องปัจจุบันโดยถือว่าทั้งอดีตและอนาคตเนื่องอยู่กับปัจจุบันหากปัจจุบันดีแล้ว อดีตและอนาคตก็จะดีไปด้วยหากปัจจุบันชั่ว อดีตและอนาคตก็จะชั่วไปด้วยส่วนปรัชญาสนใจศึกษาทุกเรื่อง ทั้งเรื่องที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่เรื่องส่วนใหญ่ที่ปรัชญาสนใจศึกษามักจะเป็นเรื่องอดีตและอนาคตอันเป็นเรื่องที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า เรื่องเบื้องต้นและเบื้องปลายของโลกหรือจักรวาล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์และเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด เพราะทำให้เสียเวลาเปล่า

     
  6. พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์สนใจศึกษาเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้คือ ตัวเอง ส่วนปรัชญาสนใจศึกษาเรื่องโลกและจักรวาล หรือธรรมชาติภายนอกตัวมนุษย์เป็นอันดับแรกและถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานของปรัชญาทั้งปวง โดยเชื่อว่าหากรู้ความจริงของโลกหรือจักรวาลได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ย่อมจะรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ในโลกได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะความจริงของโลกย่อมเป็นรากฐานหรือมาตรฐานสำหรับความจริงของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนย่อยภายในโลกด้วย มนุษย์ซึ่งเป็นส่วนย่อยในส่วนใหญ่คือโลกและจักรวาล จึงมีความสำคัญเป็นอันดับรองในการค้นคิดทางปรัชญา จนปรัชญาทุกระบบแทบจะไม่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาเรื่องมนุษย์
  7. พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ชีวิตทั้งในด้านกายและด้านใจ หรือทั้งด้านวัตถุและจิตใจเพราะทั้งสองอย่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต การพัฒนาชีวิตต้องพัฒนาทั้งทางกายและทางใจ และต้องพัฒนาทั้งสองด้านให้สมดุลกัน จึงจะยังผลเป็นความสมบูรณ์ของชีวิต แนวทางพัฒนาชีวิตอย่างสมดุลนั้น พระพุทธศาสนาเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ส่วนปรัชญามักมองชีวิตด้านเดียวอันเป็นผลจากความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการ คิดค้นด้วยเหตุผล เพราะปรัชญามีความเชื่อมั่นว่าโลกนี้น่าจะอธิบายได้ด้วยหลักการอันเดียว ฉะนั้นเมื่อคิดด้วยเหตุผลแล้วได้ข้อสรุปว่า โลกคือสสาร ก็ทำให้มองชีวิตเฉพาะในแง่สสารเท่านั้น หากได้ข้อสรุปว่าโลกคือจิต ก็ทำให้มองชีวิตเฉพาะในแง่จิตเท่านั้น แม้ผลของการคิดค้นจะออกมาในลักษณะทวินิยมหรือพหุนิยม ปรัชญาก็ยังคงมีทรรศนะเอียงไปข้างหนึ่งอยู่นั่นเอง ดังนั้น ทฤษฏีทางปรัชญาจึงไม่อาจจะให้ภาพของชีวิตที่สมบูรณ์ได้ เพราะขาดความรู้หรือความเข้าใจที่สมบูรณ์เรื่องชีวิตนั่นเอง
  8. พระพุทธศาสนานั้นไม่สนใจปัญหาทางอภิปรัชญา หรือไม่สนใจปัญหาเชิงปรัชญา เพราะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเชิงเหตุผล หรือขัดแย้งกันด้วยความคิด จึงเป็นเรื่องที่หาข้อยุติได้ยากและไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์ แต่พระพุทธศาสนาสนใจปัญหาทางปฏิบัติมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ทดสอบได้ และสามารถนำมาแก้ปัญหาของชีวิตได้ ซึ่งปัญหาทางอภิปรัชญานั้นในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าอัพยากตปัญหา (ปัญหาที่ไม่ควรหาคำตอบหรือไม่มีคำตอบ) ส่วนลักษณะเฉพาะของปรัชญาก็คือสนใจเฉพาะปัญหาเชิงปรัชญา ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจุดกำเนิดหรือเบื้องต้น และที่สุดของจักรวาล ที่เรียกว่า ความจริงสูงสุด หรืออันติมสัจจะ แม้การคิดค้นในเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ ก็เป็นการคิดค้นเพื่อให้รู้ความจริงสูงสุดในเรื่องนั้นๆเช่นกัน ปัญหาในลักษณะเช่นนี้ มักเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตนเองสำหรับมายืนยันความถูกต้องเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ เนื่องจากปัญหาเชิงปรัชญาเป็นเรื่องที่โต้เถียงเพื่อหักล้างกันด้วยเหตุผลหรือความคิดไม่ใช่เรื่องที่สามารถพิสูจน์หรือหาข้อยุติกันได้ด้วยข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้มีแต่จะนำไปสู่การโต้ถียงหรือขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
  9. พระพุทธศาสนามีทรรศนะว่า เหตุผลไม่อาจทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ เพราะเหตุผลเป็นเพียงการคาดคิดหรือคาดคะเนเอาเท่านั้น แต่มนุษย์จะเข้าถึงความจริงได้ด้วยปัญญาซึ่งเป็นผลของการพัฒนาจิตใจจนบริสุทธิ์สะอาดแล้วเกิดปัญญาหยั่งรู้ ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมนั้นๆได้ตามเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัศนะ) เป็นประสบการณ์ตรงระหว่างจิตซึ่งเป็นผู้รู้กับสัจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยไม่มีสิ่งอื่นใดเป็นตัวกลางหรือคั่นกลาง ส่วนปรัชญามีทรรศนะว่า เหตุผลเท่านั้นที่นำมนุษย์เข้าไปสู่ความจริงหรือความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับจักรวาล มนุษย์สามารถบรรลุหรือเข้าถึงความจริงได้ด้วยเหตุผล แต่พระพุทธศาสนาถือว่าการใช้เหตุผลเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นที่จะช่วยให้มนุษย์มีความเชื่อที่ถูกต้องขึ้นเท่านั้น เหตุผลเป็นเพียงเบื้องต้นของศรัทธาที่ถูกต้องเท่านั้น ลำพังการใช้เหตุผลอย่างเดียวนั้นอาจจะผิดหรืออาจจะถูกก็ได้ เพราะการใช้เหตุผลเองนั้นก็ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้อื่นๆประกอบอีกมากพุทธศาสนาจึงถือว่าเหตุผลไม่ใช่เครื่องมือชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้มนุษย์บรรลุถึงความจริง แต่เหตุผลเป้นเพียงเครื่องมือขั้นหยาบๆ ที่พอจะช่วยให้มนุษย์มองเห็นเงาของความจริงได้บ้างเท่านั้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย