ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษย์กับการใช้เหตุผล

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์คือใคร: ทัศนะด้านศาสนา
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาอินดู
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาคริสต์และอิสลาม
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาขงจื้อ
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์
ความหมายของการใช้เหตุผล
สมองกับพัฒนาการการใช้เหตุผลของมนุษย์
สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล
ความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เหตุผล
การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา

ปรัชญาตามรูปศัพท์หมายถึง ความรู้อันประเสริฐ หรือความรู้อย่างยอดเยี่ยม (ปร+ชญา) ส่วนคำว่า Philosophy มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณว่า Philos มีความหมายว่า ความรัก (Love) และ Sophia มีความหมายว่า ความรู้ หรือปัญญา (Knowledge/wisdom) โดยความหมายแล้วหมายถึง ความรักในความรู้หรือการแสวงหาความรู้ (knowledge) ธรรมชาติของความจริง (Metaphysics) ความดี (Ethics) และความงาม (Aesthetics) ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ทั้งสิ้น ปรัชญาจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์โดยตรง

คำอธิบายเกี่ยวกับมนุษย์คือใครและธรรมชาติของมนุษย์คืออะไรในทางปรัชญา สมภาร พรมทา (2538: 31-32) ได้เสนอแนวความคิดหลักๆ ทางปรัชญาไว้ 2 สำนักใหญ่ ๆ คือ สำนักแรกเชื่อว่า มนุษย์คือสสาร ส่วนสำนักที่สองเชื่อว่านอกจากสสารแล้ว มนุษย์ยังมีส่วนประกอบที่เป็นนามธรรมในตัวมนุษย์ ส่วนนี้เรียกว่า จิต สำนักแรกเรียกว่า “วัตถุนิยม” หรือ “สสารนิยม” (Materialism) และ สำนักที่สองเรีกว่า “จิตนิยม” (Idealism)

สสารนิยมเชื่อว่า สสารเท่านั้นมีอยู่จริง มนุษย์มีสถานะเป็นสสารที่หยาบ ส่วนจิตวิญญาณละเอียดกว่า แต่ก็ยังเป็นสสารเช่นเดียวกับร่างกาย จิตเป็นเพียงชื่อเรียกปรากฏการณ์หรือกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนของสสารซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวเราเท่านั้น โดยมองว่า จิตหรือวิญญาณที่เป็นนามธรรมนั้นไม่มีอยู่จริง (สมภาร พรมทา, 2538: 36) กล่าวคือเมื่อมนุษย์เป็นสสาร ครั้นตายลงก็ไม่มีอะไรเหลือ จึงไม่มีวิญญาณที่เป็นอมตะที่จะไปเกิดใหม่ในชาติหน้าจุดหมายของชีวิตจึงอยู่ในชาตินี้ และจุดหมายดังกล่าวก็คือความสุขสบาย ซึ่งมนุษย์จะรับรู้ได้โดยทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น กล่าวคือความสุขสบายเป็นเรื่องของชีวิตนี้เท่านั้น (สุจิตรา อ่อนค้อม, 2545: 29) มนุษย์ในทัศนะของสสารนิยมจึงไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า และคุณธรรมความดี และมนุษย์สามารถตัดทอนลงมาให้เป็นสิ่งที่เล็กที่สุดได้ด้วยขบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังเป็นสสารอยู่ หรือพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือ มนุษย์คือเครื่องจักร หากแต่เป็นเครื่องจักรที่ทำงานซับซ้อนอย่างยิ่งเท่านั้นเอง



ส่วนจิตนิยมเชื่อว่ามนุษย์เป็นอะไรที่มากกว่าสสาร การที่เลือกไปทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์จากประสาทสัมผัสและเหตุผลนั้นเป็นเรื่องที่แคบและเป็นจักรกลมากเกินไป สำนักนี้เชื่อว่า “เมื่อใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ เราจะพบสองสิ่ง สิ่งแรกคือภาพของมนุษย์ในแง่ที่เป็นก้อนสสาร สิ่งที่สองคือภาพของมนุษย์ในแง่ที่เป็นบางสิ่งที่พ้นไปจากความเป็นก้อนสสาร” (สมภาร พรมทา, 2538: 44) ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาวจิตนิยมเชื่อว่ามนุษย์มีอะไรที่มากกว่าสสาร ที่เรียกว่า จิต นั้นคือ (วิทศ์ วิศทเวทย์ 2525: 55-58) มนุษย์มีการริเริ่ม ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าก้อนหินหรือพืช มนุษย์มีการเรียนรู้ กล่าวคือ มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด มีอารมณ์ และรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และมนุษย์มีความรู้สึกขัดแย้ง เพราะมนุษย์ประกอบด้วยส่วน 2 ส่วน คือกายกับจิต ความรู้สึกขัดแย้งจะเกิดขึ้นว่าเราทำในสิ่งที่ผิด ถ้ามนุษย์มีแต่ร่างกาย ความรู้สึกขัดแย้งนี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เพราะมนุษย์มีจิต มนุษย์จึงเกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นเมื่อทำในสิ่งที่ผิด เพราะจิตสามารถสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรม ความดี ความชั่ว เป็นต้น

จากเหตุผลข้างต้น จิตนิยมจึงเชื่อว่า มนุษย์ คือ จิต ถึงแม้มนุษย์จะประกอบด้วยกายและจิต แต่กายเป็นเพียงส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นสสารที่มีการแตกสลายไปตามกาลเวลา ส่วนจิตซึ่งเป็น อสสารนั่นมีความเป็นอมตะและเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ ดังนั้น จิตนิยมจึงมีทัศนะว่า มนุษย์คือ จิต

สรุปแล้วคำอธิบายทางปรัชญาเกี่ยวกับประเด็นคำถามที่ว่ามนุษย์คือใคร และธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไรนั้น พิจารณาได้จากสำนักคิดใหญ่สองสาย คือ สสารนิยมและจิตนิยม แต่มนุษย์ในทัศนะของนักปรัชญา เริ่มจะแตกต่างจากมนุษย์ในทัศนะของศาสนา กล่าวคือมนุษย์เริ่มที่จะปฏิเสธและตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้า มนุษย์เน้นการเอาชนะธรรมชาติและมีความเชื่อมั่นในการค้นหาคำตอบที่มีเหตุผลด้วยศักยภาพทางสติปัญญาและการคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดของมนุษย์โดยใช้วิธีการทางเหตุผลและการให้ความสำคัญกับประสาทสัมผัส นี่คือจุดเปลี่ยนของการปฏิวัติทางอารยธรรมของมนุษยชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นโลกแห่งการแสวงหาความรู้ ความจริงทางวิทยาศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย