วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา  >>

โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์

     โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ Foot and Mouth Disease (FMD) เป็นโรคติดต่อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว (highly contagious) ในสัตว์กีบคู่ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เกิดจากเชื้อไวรัส อัตราการตายต่ำ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงและรุนแรง โรคนี้มีลักษณะเฉพาะคือมีไข้สูง มีเม็ดตุ่มเกิดขึ้นที่เยื่อเมือกภายในช่องปากและไรกีบ พบการตายอย่างเฉียบพลันในลูกสัตว์ เนื่องจากหัวใจล้มเหลว

สาเหตุ (Etiology)

เชื้อ FMD เป็น Non-envelop single-stranded RNA Virus อยู่ในจีนัส Apthovirus ซึ่งอยู่ในตระกูล Picornaviridae Spherical nucleocapsids ขนาด 22-30 nm สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ซีโรไทป์ ตามลักษณะของ immunological คือ A, O, C, Southern African Territories (SAT-1, SAT-2, SAT-3) และ Asia-1 ภายใน 7 ซีโรไทป์นี้ยังแบ่งออกได้มากกว่า 60 Subtypes ตามลักษณะทาง serological methods เช่น A5, A24, O1, C3 เป็นต้น โดยพบว่าซีโรไทป์ A, O และ C พบได้ในยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ซีโรไทป์ Asia-I สามารถตรวจพบในหลาย ๆ ส่วนของเอเชีย และตะวันออกกลาง โดย 3 ซีโรไทป์ของ SAT แต่ก่อนพบเฉพาะใน Africa จนในปี 2002 สามารถตรวจพบ SAT 1 ในตะวันออกกลาง

สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามี 3 ไทป์ คือ A, O และ Asia-1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะเป็นความจำเพาะต่อซีโรไทป์และแม้กระทั่งซับไทป์ที่จำเพาะ (type and subtype-specific) ดังนั้นแต่ละซีโรไทป์จะไม่มี cross immunity ต่อกัน สัตว์ที่หายป่วยจากโรคแต่ละซีโรไทป์ จะมีความคุ้มโรคเฉพาะซีโรไทป์นั้น ๆ ได้นานประมาณ 1-4 ปี

ระบาดวิทยา (Epidemiology)

โรคปากและเท้าเปื่อยได้ถูกรายงานว่าพบในรายประเทศทั่วโลก ภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน Africa และหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น โคลัมเบีย เปรู เวเนซูเอล่า โบลิเวีย เอกวาดอร์ และในทางตอนเหนือของบราซิล อาร์เจนตินา ในส่วนทางใต้ของบราซิลและปารากวัย ชิลี ได้ประกาศให้เป็นเขตปลอดโรคนี้ ในยุโรปจะมีการระบาดใน ตุรกี และบางส่วนของกรีซและ ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก มีรายงานการเกิดการระบาดใหญ่ของโรคนี้ครั้งแรกในอังกฤษในปี ค.ศ. 1967 และถัดมาในปี ค.ศ. 2001 ล่าสุดในปี ค.ศ. 2007 ในปี ค.ศ. 1996 พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคจะอยู่ในบริเวณแถบเอเชีย แอฟริกา และบางส่วนในทวีปอเมริกาใต้ ใน ค.ศ. 1997 จีนและไต้หวันพบการระบาดใหญ่ ทำให้มีการฆ่าสุกรมากกว่า 4 ล้านตัวในระยะเวลา 2 เดือน โดยสาเหตุของการเกิดโรคคาดว่าจะมาจากผลิตภัณฑ์สัตว์ ที่นำมาโดยเรือหาปลาในประเทศฟิลิปปินส์ ในยุโรปตะวันออกพบมีการระบาดน้อยลงใน 30 ปีที่ผ่านมา

แหล่งของเชื้อ (Source of infection)

สามารถพบเชื้อ FMDV ใน esophageal และ pharyngeal fluids ในช่องทางเดินหายใจ (respiratory aerosols) ของสัตว์ที่ติดเชื้อทั้งก่อนและหลังหรือช่วงกำลังแสดงอาการ โดยในโค กระบือ แพะแกะ จะแพร่เชื้อออกทางลมหายใจ ในช่วงแสดงอาการ FMDV จะอยู่กระจายทั่วไปในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ การติดต่อทางสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำนม น้ำเชื้อ หรือสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ

ในสัตว์ที่หายจากการเจ็บป่วย จะตรวจพบเชื้อในลำคอ (softtissue of throat) ได้นาน 9 เดือน ถึง 2 ปี ในโค ส่วนในแพะแกะ 9 สัปดาห์ จนถึง 9-11 เดือน แต่ในสุกรจะพบเชื้อ FMDV ในลำคอเพียงช่วงที่แสดงอาการเท่านั้น ไม่มีรายงานจากการทดลองว่า มีการติดต่อจากสัตว์กลุ่มนี้ เข้าใจว่าระดับเชื้อที่มีอยู่ เพียงพอเพื่อการคงอยู่ของเชื้อเท่านั้น (viral maintenance)

ไวรัสสามารถอาศัยอยู่ได้ใน เลือดแห้ง (dried blood) ซาก (carcasses) กองอุจจาระ กองหญ้า กองฟาง ดิน ขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เลือดแข็งในซากสุกรที่เก็บไว้ที่ £ 4 องศาเซลเซียส จะมีชีวิตได้ 2 เดือน ซากโคที่แช่แข็งอย่างรวดเร็ว (Quick-freezing of the fresh meat) อุณหภูมิ £ -20 องศาเซลเซียส ไวรัสจะมีชีวิตอยู่ได้ 6 เดือน ซากที่แช่เย็นที่ 4 องศาเซลเซียส FMDV จะมีชีวิตอยู่ได้นาน 36 ชั่วโมง เนื่องจาก pH ในกล้ามเนื้อลดลงถึง pH 5.3 FMDV จะถูก inactivate อย่างรวดเร็ว และใน frozen semen FMDV มีชีวิตอยู่ได้นานอย่างน้อย 1 เดือน

 

การติดต่อของโรค (Route of Transmission)

โรคปากและเท้าเปื่อยมีช่องทางการติดต่อของโรคได้หลายช่องทาง โดยมีการติดต่อกันระหว่างฝูง และระหว่างประเทศ ในระดับตัวการติดต่อส่วนมากจะติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ (Respiratory aerosols) โดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป และจากการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างสัตว์ป่วยและสัตว์ปกติหรือแม้กระทั่งจากคน พบว่าเมื่อคนหายใจเอา FMDV จากสัตว์ที่ติดเชื้อ ไวรัสสามารถอาศัยอยู่ได้ในลำคอได้นาน 24 ชม. และในระหว่างนั้นสามารถถ่ายทอดเชื้อ FMDV ไปสู่คนอื่นหรือสัตว์ได้ หรือจากคนรีดนมที่สัมผัสกับวิการบริเวณ Teat or udder หรือเครื่องรีดนม โดยตัวเชื้อสามารถอยู่ที่บริเวณเนื้อเยื่อเต้านมได้ 3-7 สัปดาห์

จากการกิน สัตว์สามารถติดโรคได้จากการที่อาหารมีการปนเปื้อนของเชื้อ หรือจากน้ำนมของสัตว์ป่วย จากการผสม ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อในน้ำเชื้อ (semen) โดยพ่อโคอาจได้รับเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการและมีโอกาสที่จะแพร่ผ่านทางการผสมเทียม (AI) ได้จากน้ำเชื้อของพ่อโคตัวที่เป็นโรค โรคติดต่อจากอิมมูน แครีเออร์ สัตว์ที่หายป่วยจากโรคนี้อาจเป็นตัวแพร่เชื้อได้นานถึง 1 ปี

เชื้อไวรัสอาจติดไปกับฝุ่นละออง และถูกลมพัดไปติดต่อสัตว์ในต่างท้องที่ได้ การระบาดของโรคไปตามลม อาจเกิดขึ้นได้ในระยะทางไกลถึง 256 กม. (156 ไมล์) มีการรายงานว่า การแพร่ระบาดโดยลมพัดพาไวรัส จากตอนเหนือของเยอรมันเข้าสู่เดนมาร์ก เดนมาร์กเข้าสู่สวีเดน และจากฝรั่งเศสเข้าสู่เกาะอังกฤษทางตอนใต้

สัตว์ป่าบางชนิดเป็นตัวสะสมโรคและนำมาสู่สัตว์เลี้ยง เช่น กวาง สุกรป่า เป็นต้น นกเป็นพาหะสำคัญในการแพร่โรค โดยเชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้ในทางเดินอาหารของนก รวมทั้งเห็บอาจจะเป็นตัวสะสมโรคนี้

สัตว์ที่เป็นโรคนี้ได้ (Host range)

  1. ได้แก่สัตว์กีบคู่ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ กวาง เป็นต้น
  2. สุนัข แมว กระต่าย หนู ไก่ จะไม่ susceptible ต่อโรคนี้ภายใต้สภาวะธรรมชาติ แต่อาจติดได้จากการทดลอง
  3. สัตว์ปีก เช่น ไก่ ทำให้ติดโรคได้โดยการทดลองฉีดเชื้อ
  4. คน ไม่ susceptible ต่อโรคนี้ ดังนั้นโรคนี้จึงไม่น่าวิตกในสัตวแพทยสาธารณสุข
  5. สัตว์ป่า เช่น Bison, elk, antelope, hedgehog, armadillos, nutria, capybara และช้าง จะเป็นตัวกักเก็บโรคที่สำคัญของโรคนี้ ยกเว้นควายป่าแอฟริกาจะเป็นแหล่งเชื้อธรรมชาติของ SAT และเป็นตัวแพร่โรคไปสู่ โค กระบือ ในแอฟริกาใต้

โคและกระบือจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดโรคได้ไวและง่ายกว่า (animal at risk) แพะ แกะ สุกร เนื่องจากใช้ปริมาณไวรัสที่น้อยกว่า และปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าไป หลังจากสัตว์ที่เริ่มมีการติดเชื้อจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ตาม วิธีแรกที่จะมีการแพร่กระจายของเชื้อ คือการผ่านทางการหายใจ ส่วนทางอื่นๆ ที่สำคัญก็คือ การสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีที่มีการระบาดของโรคขึ้น บทบาทของโฮสต์ 3 ชนิดแรกจะแตกต่างกันคือ

ในแกะและแพจะเป็น maintenance host เมื่อมีการติดเชื้อ FMDV โรคจะไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เพราะว่า อาการและวิการที่แสดงออกจะน้อยมาก จนแทบสังเกตไม่เห็น และในช่วงนี้เอง สัตว์ป่วยจะเริ่มเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสออกมา

ในสุกรจะเป็น amplifier host กล่าวคือจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่รวดเร็วมาก จำนวนเชื้อที่ผลิตจะมากถึง 30-100 เท่าที่พบในแกะและโค โดยสุกรที่ติดเชื้อจะสามารถผลิตได้ถึง 1 ล้าน infectious dose ต่อวัน

ในโคจะเป็น indicator host โดยเมื่อมีการได้รับเชื้อ FMDV อาการและวิการจะแสดงออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าใน สุกร แกะ และแพะ ถ้าหากว่าโค แกะ สุกร ได้รับการสัมผัสเชื้อพร้อมกัน โคจะเป็นตัวที่แสดงอาการป่วยก่อน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย