สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคเท้าช้าง

(Filariasis)

ผู้เรียบเรียง: นางสาวกนกทิพย์ ทิพย์รัตน์

โรคเท้าช้าง เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง มียุงหลายชนิดเป็นแมลงนำโรค ได้แก่

  • ยุงเสือ (Mansonia spp.)
  • ยุงก้นปล่อง (Anopheles spp.)
  • ยุงลาย (Aedes spp.)
  • ยุงรำคาญ (Culex spp.)

และมีพยาธิตัวกลมใน Superfamily Filarioidea เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ Brugia malayi, Brugia timori และWuchereria bancrofti

ในประเทศไทยมีเชื้อสาเหตุ 2 ชนิดคือ

  • B. malayi
  • W. bancrofti

พยาธิจะอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของผู้ป่วย ทำให้ต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ หลอดน้ำเหลืองคดโค้ง พับหักงอ น้ำเหลืองไหลไม่สะดวก มีการคั่งค้างของน้ำเหลืองในอวัยวะส่วนปลาย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นบวมโต เมื่อบวมนาน ๆ ผิวหนังจะหนาและหยาบขรุขระกลายเป็นภาวะเท้าช้าง (elephantiasis) แม้ว่าอาการของโรคจะไม่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานและพิการ ซึ่งมีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยครอบครัวและชุมชน รวมทั้งมีผลกระทบทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ

ประเทศที่พบโรคเท้าช้างมี 73 ประเทศ แบ่งเป็น

  • ในทวีปแอฟริกา 38 ประเทศ
  • ทวีปอเมริกา 7 ประเทศ
  • แถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก 4 ประเทศ
  • เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ
  • และเปซิฟิกตะวันตก 16 ประเทศ

พบว่าหนึ่งใน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศอินเดีย อีก 1 ใน 3 อยู่ในแอฟริกา ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในเอเชียใต้ แปซิฟิก และอเมริกา  ในประเทศไทยพบโรคนี้เฉพาะในเขตชนบท สำหรับโรคเท้าช้างจากเชื้อ B. malayi พบความชุกชุมสูงเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส

อาการที่สำคัญคือ ขาโตตั้งแต่เข่าลงไป บางครั้งจะพบที่แขนตั้งแต่ข้อศอกลงไป ส่วนโรคเท้าช้างจากเชื้อ W. bancrofti พบความชุกชุมในจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะอำเภอสังขละบุรี ทองผาภูมิ และบางตำบลของอำเภอไทรโยค และยังพบในจังหวัดอื่นๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน พยาธิสภาพจากเชื้อ W. bancrofti ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ถ้าเป็นเพศหญิงอาจพบอาการบวมของ vulva และที่หน้าอก ส่วนผู้ชายจะพบมีอาการคั่งของน้ำเหลืองในอัณฑะ (hydrocele) และปัสสาวะเป็นสีขุ่นขาวเหมือนน้ำนม



จากระบบเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา ในปี พ.ศ. 2548 มีรายงานผู้ป่วย 9 ราย เป็นชาวไทย 2 ราย ชาวเมียนมาร์ 7 ราย อัตราป่วย 0.01 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยจาก 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 4 ราย เป็นชาวเมียนมาร์ทั้งหมด ประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย เป็นชาวเมียนมาร์ทั้ง 2 ราย น่าน ตาก จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาวไทย ราชบุรี 1 ราย เป็นชาวเมียนมาร์ (รูปที่ 1) เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลัง พบผู้ป่วยมากที่สุดในปี พ.ศ. 2537 จำนวน 22 ราย รองลงมา ปี พ.ศ. 2538 จำนวน 15 ราย หลังจากนั้นไม่พบผู้ป่วยหรือพบเพียงปีละ 1 ราย และเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา (รูปที่ 2)

พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี, 25 - 34 ปี และ 45 - 54 ปี ตามลำดับ (อัตราป่วย 0.05, 0.02, 0.02 และ 0.01 ต่อประชาการแสนคนตามลำดับ (รูปที่ 3) อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1:2 ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง คิดเป็นร้อยละ 77.78 อาชีพงานบ้านและนักเรียน ร้อยละ 11.11, 11.11 ตามลำดับ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 4 ราย ร้อยละ 44.44 โรงพยาบาลชุมชน 3 ราย ร้อยละ 33.33 และโรงพยาบาลทั่วไป 2 ราย ร้อยละ 22.22

สถานการณ์โรคเท้าช้างจากการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มโรคเท้าช้าง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง มีผู้ป่วยชาวไทยขึ้นทะเบียนรักษา ณ เดือนกันยายน 2548 จำนวน 254 ราย อัตราความชุกของโรคเท้าช้าง 0.40 ต่อประชากรแสนคน อัตราความชุกผู้ป่วยที่พบเชื้อพยาธิในโลหิต 0.24 ต่อประชากรแสนคน อัตราความชุกผู้ป่วยอวัยวะบวมโต 0.01 ต่อประชากรแสนคน และ ร้อยละ 65.30 เป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อพยาธิในโลหิต ร้อยละ 30.70 เป็นผู้ป่วยตรวจพบแอนติเจนของเชื้อพยาธิในโลหิต ร้อยละ 2.80 เป็นผู้ป่วยระยะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และร้อยละ 1.20 เป็นผู้ป่วยระยะอวัยวะบวมโต

ภาคใต้มีอัตราความชุกสูงสุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคกลาง อัตราความชุก 1.91, 0.50 และ 0.15 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ปัจจุบันในประเทศไทย มีแหล่งแพร่โรคเท้าช้างเพียง 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก ลำพูน กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และนราธิวาส

ในผู้ป่วยชาวเมียนมาร์ พบจำนวน 620 ราย ร้อยละ 99.40 เป็นผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อพยาธิในโลหิต และ 0.60 เป็นผู้ป่วยระยะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ พบอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน ระนอง พังงา และภูเก็ต

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา เป็นข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังเชิงรับ (passive surveillance) รายงานผู้ป่วยจากสถานบริการสาธารณสุขที่ผู้ป่วยไปรับการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการที่สงสัย เช่น อาจมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือมีอวัยวะบวมโต ซึ่งมีความสอดคล้องกับรายงานจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จะพบผู้ป่วยระยะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรืออวัยวะบวมโตเพียง 10 ราย (ร้อยละ 3.94) ของผู้ป่วยที่รายงานทั้งหมด นอกนั้นเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะแพร่เชื้อพยาธิในโลหิตและผู้ป่วยที่ตรวจพบแอนติเจนของเชื้อพยาธิในโลหิต ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการ ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลจาก 2 แหล่งมารวมกัน จะทำให้ได้สถานการณ์ภาพรวมของทั้งประเทศ

เอกสารอ้างอิง

  • อุษาวดี ถาวระ. ยุงพาหะ. ใน : อุษาวดี ถาวระ, จักรวาล ชมภูศรี, สุวัฒนา ศิริอ่อน และ สุกัญญา ปุโรทกานนท์. ชีววิทยาและการควบคุมแมลง. บริษัท ดีไซร์ จำกัด กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2544 หน้า 1-22
  • พรรณทิพย์ ฉายา, สราวุธ สุวัณณทัพพะ, ศรีวิชา ครุฑสูตร, อรทัย รวยอาจิณ, สุวัช ธรรมปาโล, ธีรยศ กอบอาษา และคณะ. โรคเท้าช้าง. ใน : สยมพร ศิรินาวิน และศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์. แนวทางเวชปฏิบัติโรคติดเชื้อ เล่ม 1 โรคติดต่อ. โหลทอง มาสเตอร์พริ้นท์ จำกัด กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2544 หน้า 313-24
  • World Health Oragnization, Lymphatic filariasis. [Cited 23 July 2006]; Available from : URL:http//www.int/mediacenter/factsheets/fs102/en/
  • สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง, โรคเท้าช้าง. [Cited 21 July 2006] ; Available from : URL:http//www.thaivbd.org/cms/index.php
  • สถานการณ์โรคเท้าช้าง. เอกสารประกอบการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กรมควบคุมโรค ครั้งที่ 11/2548

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย