วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ปลาหมอแคระ

       ปลาหมอแคระอาศัยอยู่ทั่วไป ทุกที่ที่มีปลาหมอสี ย่อมต้องมีทั้งสายพันธุ์ขนาดใหญ่และสายพันธุ์ขนาดจิ๋ว กระทั่งแหล่งน้ำทางทวีปอเมริกากลางเองซึ่งเป็นที่รวมของบรรดาปลาหมอยักษ์ใหญ่อย่าง โดวิอาย (Parachromis dovii) มานาเกวนเซ่ (Parachromis managuensis) ซินสไปลุ่ม (Vieja synspilus) แต่ละตัวล้วนมีขนาดไม่ต่ำกว่า 35 เซนติเมตร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปลาหมอเนมาโทพัส (Neetroplus nematopus) ผู้มีความยาวเพียง 12 เซนติเมตร อาศัยอยู่โดยหาได้เกรงกลัวเพื่อนยักษ์ร่วมวงศ์เดียวกันไม่ ในทวีปแอฟริกา ทะเลสาบใหญ่สำคัญทั้งสามคือ ทะเลสาบมาลาวี (Lake Malawi) ทะเลสาบทังกันยิกา (Lake Tanganyika) และทะเลสาบวิกตอเรีย (Lake Victoria) ก็ล้วนมีปลาหมอขนาดจิ๋วๆ แหวกว่ายหากินปะปนไปกับบรรดาปลาหมอสายพันธุ์ขนาดปกติอยู่ทั่วไป ในทะเลสาบทังกันยิกามีปลาหมอหอย (shell dweller cichlid) ปลาหมอสกุลจูลิโดโครมิส (Genus Julidochromis) ปลาหมอสกุลคาลิโนโครมิส (Genus Chalinochromis) ในทะเลสาบมาลาวีก็มี ปลาหมอกลุ่มเอ็มบูนาแคระ (dwarf mbuna cichlid) เช่น ปลาหมอเดอเมสันอาย (Pseudotropheus demasoni) ปลาหมอฟลาวัส (Pseudotropheus flavus) ปลาหมอโพลิท (Pseudotropheus polit) และอีกหลายๆ ชนิดที่มีขนาดเล็กกว่า 12 เซนติเมตร ในประเทศอินเดียที่มีจำนวนปลาหมอสีเพียง 3 ชนิด ก็ยังอุตส่าห์มีชนิดหนึ่งซึ่งเป็นปลาหมอแคระ นั่นก็คือปลาหมอโครมาย (Etroplus maculatus)

ปลาหมอที่มีขนาดไม่เกิน 15 เซนติเมตร จัดเป็นปลาหมอแคระได้ ซึ่งตัวต้องไม่อวบอ้วนหนาจนเกินไป แต่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดก็คือ ปลาหมอแคระต้องเป็นปลาหมอสายพันธุ์ขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่ต้องยาวไม่เกิน 12 เซนติเมตร หรือโดยเฉลี่ย 10 เซนติเมตร ปลาตัวเมียอาจเล็กกว่านั้นมาก เช่น ปลาหมอแคระอพิสโตแกรมมาบางชนิด ปลาตัวเมียจะมีความยาวเพียง 2.5 เซนติเมตร เท่านั้น ถิ่นที่มีปลาหมอแคระอาศัยอยู่มากที่สุดคือ ทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา



ทวีปอเมริกาใต้ ปลาหมอแคระอาศัยอยู่ตามลำธารสายเล็กๆ และบริเวณน้ำตื้นของลำคลองทั่วไป น้ำไม่ไหลแรงมากนัก และด้วยเหตุที่ตัวของมันเล็กมาก ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำชนิดอื่นหรือกระทั่งสัตว์ปีก เช่น นกกินปลาบางชนิดได้ง่าย บริเวณที่พวกมันอาศัยอยู่จึงต้องมีที่หลบซ่อนเหลือเฟือ พร้อมจะผลุบหายเข้าไปได้ตลอดเวลา เช่น ซากต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่ร่วงโรยลงจากคาคบใหญ่ของป่าฝนเขตร้อนของลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ทับถมก้นบึงลำธารจนซ้อนทับเป็นซอกหลืบเล็กๆ น้อยๆ อยู่เต็มไปหมด นักมีนวิทยาที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องของปลาหมอแคระเคยเข้าไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติของเหล่าปลาตัวจิ๋ว พบว่าแอ่งน้ำเล็กๆ ขนาดเพียงไม่กี่ตารางเมตร และลึกเพียง 15 เซนติเมตร ก็มีปลาหมอแคระอพิสโตแกรมมาและไดครอสซัส อาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย แต่หากแอ่งน้ำใดที่ปราศจากที่หลบซ่อน อย่างใบไม้และซากต้นไม้แล้ว ก็แทบจะไม่พบว่ามีปลาหมอพวกนี้อาศัยอยู่เลย

ปลาหมอแคระที่พบในทวีปนี้มีมากมาย เช่น ปลาหมอแคระสกุลอพิสโตแกรมมา (Apistogramma) สกุลแนนนาคารา (Nannacara) สกุลไดครอสซัส (Dicrossus) สกุลเครนิคารา (Crenicara) สกุลลีตาคารา (Laetacara) สกุลไมโครจิโอฟากัส (Microgeophagus) สกุลทีเนียคารา (Taeniacara) นอกจากนั้น ยังมีสมาชิกของปลาหมอสกุลหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่โต คือพวกปลาหมอไพค์ (Genus Crenicichla) อีกหลายสิบชนิดที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถจัดได้ว่าเป็นปลาหมอแคระ แต่พวกนี้มีวิธีการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมแตกต่างออกไปจากปลาหมอแคระชนิดอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างมาค่อนข้างมากทีเดียว

ทวีปแอฟริกาตะวันตก นักเลี้ยงปลาในบ้านเราส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้ว่าปลาที่ตัวเองเคยเลี้ยงหรือกำลังเลี้ยงอยู่ มาจากดินแดนแถบนี้หลายสายพันธุ์ เช่น ปลาหมอคริบเอนสิสพัลเคอร์ (Pelvicachromis pulcher) ปลาหมอแรมแดง (Hemichromis guttatus) ปลาไบเคอร์ หรือที่เรียกชินปากว่า บิเชียร์ (Genus Polypterus) ปลางวงช้าง (Gnathonemus petersii) ปลาคิลลี่สกุล Aphyosemion เป็นต้น

ภูมิประเทศทางแถบนี้คล้ายกับภูมิประเทศของทวีปอเมริกาใต้ คือชายฝั่งติดทะเล ลึกเข้ามาเป็นป่าดงดิบหรือป่าฝน สภาพอากาศร้อนชื้น น้ำมีความเป็นกรดมากเนื่องจากซากใบไม้ กิ่งไม้ทับถมจมอยู่เป็นเวลานาน แต่ทว่าใสสะอาดเพราะไหลเอื่อยหมุนเวียนไปตลอดทั้งปี

ปลาหมอแคระที่พบเห็นได้มากทางแถบนี้ ได้แก่ สกุลเพลวิคาโครมิส (Pelvicachromis) สกุลนาโนโครมิส (Nanochromis) สกุลอโนมาโลโครมิส (Anomalochromis) สกุลทิลาเปียซึ่งปกติเป็นปลาใหญ่ แต่บางชนิดก็เล็กจนจัดเป็นปลาหมอแคระได้ก็มี เช่น ปลาหมอโจก้า (Tilapia joka) เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย