ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

ตานก๋วยสลาก

ประเพณีการสู่ขวัญ
ประเภทของการสู่ขวัญ
การสู่ขวัญสัตว์
การสู่ขวัญสิ่งของ
การประกอบพิธีสู่ขวัญ
ขั้นตอนการประกอบพิธีสู่ขวัญ
ตุง
ประเภทของตุง
พิธีทอดผ้าป่า

ประเภทของตุง

ตุงมีหลายชนิด ดังนี้

ตุงมงคล

1. ตุงไจย (ธงชัย , ธงไชย)
โดยมากทำด้วยผ้าขาว อาจมีสีอื่นบ้าง เช่นเหลือง เขียว เป็นผืนยาว ประดับตกแต่งด้วยลวดลายเป็นรูปดอก พานดอก ปราสาท คน เทวดา ช้าง ม้า นาค ทำเป็นปล้อง ๆ หรือขั้น ๆ แต่ละขั้นมีไม้สอดแบ่งไว้ ตรงหัวไม้ขั้นจะตกแต่งด้วยมาลัย สร้อยดอก ช่อดอกใบ ให้ทั้งสองข้างแกว่งไหวสวยงาม ส่วนชายตุง หรือตีนตุง หรือเสื้อตุงก็จะตกแต่งด้วยมาลัย สร้อย ร้อยลูกเดือย เป็นตาข่ายห้อยด้วย ดอกจุมบี๋กระดาษสวยงามส่วนหัวตุง จะทำเป็นลวดลายด้วยไม้ เป็นห่วง (ว้อง) ประมาณ 3 ห่วง หรือทำเป็นลวดลายต่าง ๆ นำไปผูกกับไม้คานที่เสียบกับคันตุง ตรงหังตุงนี้หมุนได้ตามแรงลมพัด อาจจะมีการตกแต่งยอดคันตุงให้สวยงามพิศดารออกไป แล้วแต่ “สล่า” ตุงทำเป็นท่อน ๆ ยาวไม่ต่ำกว่า 7 ท่อน แต่ละท่อนยาว 9 นิ้ว ในช่วงแต่ละท่อนหรือข้อ ใช้ไม้ตึงขวางไว้ เพื่อไม่ให้ ตุงพับพันกันเมื่อลมพัดและไม่ให้ตุงยับยู่ยี่ ตุงไจยยังแบ่งออกเป็น

  • ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายเรียงกันเป็นแผงโดยมีไม้คั่นเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่หัวถึงตีน (ชาย) ตุง จะทอทึบเฉพาะส่วนตรงกลาง ระหว่างคั่นที่มีไม้สอดเท่านั้น
  • ตุงตั๋น (ทึบ) ทำด้วยเส้นด้ายทอทึบเป็นผืนมักจะทอเป็นรูปต่าง ๆ มีทั้งทอยก และทอจก ซึ่งเรียกตามภาษาชาวบ้าน ว่า “เก็บดอก” บางแห่งใช้วิธีทำสลับกัน คือทอทึบสลับโปร่งเป็นช่วง ๆ หรือโปร่งเฉพาะหัวตุง ชายตุง หรือตรงกลาง หัวตุง ก็มี

ตุงไจย ใช้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงชัยชนะ ความสำเร็จ ความปิติยินดีชื่นชม เป็นเกียรติ จึงใช้ร่วมขบวนแห่ หรือปักไว้ในบริเวณงาน หรือสองข้างทาง เนื่องในงานปอยหลวง ซึ่งอาจจะเป็นการฉลองถวายทานโบสถ์ วิหาร กุฎิ กำแพง และใช้ในเทศกาลอันเป็นมงคลทั้งหลาย

2. ตุงแม่กระด้าง (ตุงกระด้าง)
ทำด้วยไม้กระดานเป็นแผ่น แกะสลักลวดลายทึบและโปร่งด้วยการฉลุลาย เรียกว่า “ต้องลายผดหล่าย” ลงรักปิดทอง หรือทา ด้วยน้ำหาง (ชาด) บางอันอาจประดับด้วยแก้วสีสวยงาม เมื่อถวายทานแล้วใช้ประดับในวิหารโดยตั้งหรือแขวนสองข้างพระประธาน

3. ตุงซาววา
ลักษณะเหมือนตุงไจยทุกประการ แต่มีความยาวถึง 20 วา แต่ต่อมาอาจจะสั้นหรือยาวกว่าเล็กน้อยก็คงเรียกว่า ตุงซาววา เมื่อทานแล้วใช้ประดับในวิหารโดยพาดกลับไปกลับมาบนขื่อวิหารที่พาดกลับไปกลับมาก็เพราะตุงยาวมาก หากใช้ร่วมขบวนแห่ ต้องให้คนหลาย ๆ คน ช่วยถือตั้งแต่หัวถึงหางตุง หากจะเก็บหรือประดับนอกวิหารนอกอาคารก็ต้องใช้เสาหลักทำเป็นราวห่างกัน ประมาณ 1 วา เป็นช่วง ๆ แล้วนำตุงนี้วางพาดบนราวนั้น

4. ตุงใส้จ้าง (ไส้หมู ตุงพญายอ)
เป็นตุงรูปร่างทรงกลมรี ยาวประมาณ 1 ศอก ใช้ประดับคัวตานเพื่อความสวยงาม หรือใช้ปักบนกองเจดีย์ทรายในวันพญาวัน ป๋าเวณีปี๋ใหม่ ตุงไส้จ้าง ทำด้วยกระดาษสี สองสีขึ้นไปซ้อนกัน 2-3 แผ่น พับหลายชั้นแล้วพับทะแยงมุมเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ใช้มียับ (กรรไกร) ตัดสลับกันซ้ายขวา แต่อย่าให้ขาดจากกันส่วนปลายแหลมไปจนถึงส่วนที่เป็นฐานสามเหลี่ยม แล้วตัดเป็นรูปลวดลายดอกต่าง ๆ แล้วแต่ถนัด เสร็จคลี่ออก ใช้มือล้วงเข้าไปจับส่วนปลายแหลมด้านในกลับออกมา (ปิ้นในเป๋นนอก) แล้วสลัด (สะวัด) ให้กระดาษยืดออก จะทำให้ตุงมีสปริง สลับสีสวยงาม

5. ตุงตั๋วนาม (ตุงสิบสองราศี)
ทำด้วยกระดาษหรือผ้าขาว ถ้าเป็นกระดาษมักจะเป็นกระดาษสา ตุงนี้โดยมากไม่ค่อยเห็นมีลูกคั่น หรือไม้คั่นเป็นท่อน ๆ ในตัวตุงจะเขียนหรือพิมพ์ เป็นรูปสัตว์ตามราศี ทั้งสิบสองราศี เรียกว่า “ตั๋วนามปี๋เกิด” ตั้งแต่ปีแรก คือ ไจ้(หนู) เป้า(งัว) ยี(เสือ) เม้า(กระต่าย) สี(นาค) ไส้(งู) สะง้า(ม้า) เม็ด(แป๊ะ,แพะ) สัน(อี่วอก) เล้า(ไก่) เสด(หมา) ไก่(จ้าง) ขนาดของตุงประมาณ 3-4 นิ้ว ยาว 2 ศอก ใช้ถวายทานเจดีย์ทราย โดยนำไปปักบนกองเจดีย์ทรายในวันพญาวันเทศกาลสงกรานต์(ปี๋ใหม่) และ บางครั้งใช้ในพิธีกรรมสืบจ๊ะต๋า (สืบชะตา)

6. ตุงจ้อจ้าง
ทำด้วยผ้า หรือ กระดาษ เป็นผืนขนาดใหญ่รูปสามเหลี่ยม บางทีก็เรียกว่า “ตุงสามเหลี่ยม” เพราะมีขนาดใหญ่จึงเรียกว่า “จ้อจ้าง” ขนาดความกว้างตรงฐานสามเหลี่ยมประมาณ 2 ศอก ความยาวประมาณ 1 วา การตกแต่ง อาจจะปักลวดลาย ดอก รูป สัตว์ในนิยาย หรือทำเป็นลายปรุโปร่ง ขลิบขอบตุงทั้งสองด้าน ใช้เสียบกับคันที่ยาวพอเหมาะโดยพับผ้าตรงฐานสามเหลี่ยม เป็นตุงที่ปล่อยชาย ไปทางด้านขวางคล้ายธง ใช้เป็นตุงร่วมขบวนแห่คัวตานในงานปอยหลวง กฐินบางแห่งเรียกว่า “ตุงจ้อนำตาน”

7. ตุงเจดีย์ทราย
นอกจากตุงตั๋วนามแล้ว ยังมีตุงที่ทำด้วยกระดาษหลากสีเล็ก ๆ รูปร่างเรียวยาวหลายขนาดแต่ไม่ใหญ่โต กว้างประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณช่วงแขน หรือเล็กกว่านี้ผูกติดคัดไม้เดี่ยวและเป็นกลุ่ม โดยผูกติดกับกิ่งไม้หลายอัน ใช้ปักบนเจดีย์ทรายในวันขึ้นปี๋ใหม่

8. ตุงจ้อน้อย
คือตุงจ้อจ้าง ตุงสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก สีต่าง ๆ ใช้ประดับคัวตานและร่วมกับตุงอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม

9. ตุงสามเหลี่ยม (ตุงกฐิน)
ทำด้วยผ้าขาว เขียนรูป ตะขาบ จระเข้ ปลา เงือก ปัจจุบันมีรูปร่างทั้งสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ร่วมขบวนแห่กฐิน และนำ ไปปักไว้หน้าวัดที่มีศรัทธา “จองทอดกฐิน” เมื่อมีตุงนี้ปักไว้ที่วัดแสดงว่าวัดนี้มีผู้ “จองกฐิน” แล้วผู้อื่นจะมาทอดซ้ำมิได้

10. ตุงร้อยแปด
ทำด้วยกระดาษเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ง่าย ๆ หลายสี ใช้ในพิธีกรรมสืบชะตา สะเดาะเคราะห์

11. ตุงปันจ้อ (พันช่อ)
ทำด้วยกระดาษขาวเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ มีจำนวนถึงหนึ่งพันช่อติดคันสั้นปักบนฟ่อนหญ้าคา ผูกติดตามเสาวิหาร หรือแขวน ไว้ตามขื่อวิหาร ใช้ในการบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ รวม 1,000 คาถา มักใช้ในงานวัน “ยี่เป็ง”

12. ตุงค่าคิง
ทำด้วยผ้าหรือกระดาษ สีขาวกว้าง 4-6 นิ้ว ความยาวยาวเท่าความสูงของตัวคนที่จะทานตุง หรือทำพิธีสืบชะตาของตัวเอง

13 ตุงพระเจ้าสิบจาด (ตุงทศชาติ ,ทศปรามี)
เป็นตุงที่ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เพื่อบูชาพระปัญญาบารมีแห่งการเสวยพระชาติของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 10 ชาติ ก่อนที่ จะจุติเสวยพระชาติที่ 11 เป็น “พระพุทธเจ้า” ตุงนี่จึงมีถึง 11 ตุง แต่เรียกว่า “ตุงพระเจ้าสิบจาด” ดังนี้
- ตุงดิน บูชา พระชาติเตมียะ
- ตุงทราย บูชา พระชาติชน
- ตุงไม้ บูชา พระชาติสุวรรณสาม
- ตุงจืน(ตะกั่ว) บูชา พระชาติเนมิราช
- ตุงเหียก (ดีบุก) บูชา พระชาติมโหสถ
- ตุงเหล็ก บูชา พระชาติภูริทัต
- ตุงตอง(ทองเหลือง)บูชา พระชาติจันทกุมาร
- ตุงข้าวเปลือก บูชา พระชาตินารทะ (นารอท)
- ตุงข้าวสาร บูชา พระชาติวิฑูร
- ตุงเงิน บูชา พระชาติเวสสันตระ (เวสสันดร)
- ตุงทองคำ หรือตุงคำ บูชา พระชาติสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า)

14. ตุงพระบด (พระบฏ)
เป็นผืนใหญ่ ขนาด 2 X 4 ศอก เขียนรูปพระพุทธเจ้าไว้ตรงกลาง ใช้ประดับฝาโบสถ์วิหาร ทำเป็นคู่ ๆ ประดับฝาทั้งสองด้าน คล้ายตุงกระด้าง

15. ตุงยอดพระธาตุ (จ้อตุง)
ทำด้วยโลหะที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทองเหลือง เป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดไม่จำกัด ใช้ประดับบนยอดพระธาตุเหนือจากฉัตรขึ้นไป ที่ประเทศพม่านั้น “จ้อตุง” ทำเป็นคัดสวมลงในกระบอกสามารถหมุนได้ เมื่อลมพัดมา นอกจากจะสวยงานแล้ว ยังสามารถบอก ทิศทางลงได้อีกด้วย ตุงยอดธาตุ ถือว่าเป็นของมีค่าและสำคัญ

16. ตุงแฮ
คือตุงที่ทำด้วย ผ้าแฮ (ผ้าที่โปร่งบางอ่อน) แต่ไม่ใช่ผ้าแพรซึ่งทึบแต่อ่อนพริ้ว ปัจจุบันมักเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน มีลักษณะ หลายรูปแบบใช้ประโยชน์หลายอย่างตามรูปแบบตุงเพียงแต่ทำด้วย “ผ้าแฮ” เท่านั้น

17. ตุงไม้
ที่ประดับด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ประดับหรือฉาบด้วยทราย เรียกว่า “ตุงทราย” ได้แก่ตุงข้าวเปลือก ตุงข้าวสาร ตุงแก้ว ตุงดิน ใช้ในพิธีกรรมและงานบุญต่าง ๆ

18. ตุงฮาว
เป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ทำด้วยกระดาษ หรือผ้า เป็นสีต่าง ๆ ขนาดประมาณฝ่ามือ หรือโตกว่านั้นเล็กน้อย ใช้ประดับอาคาร ประรำผามเบียง เต้น รั้ว โดยทากาวติดกับเส้นด้าย เชือก มัดขึง ใช้ในงานบุญ วันสำคัญ ปัจจุบันมักจะเป็นธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร ตุงอวมงคล

19. ตุงแดง (ตุงสามหาง)
ทำด้วยผ้าสีแดง ลักษณะคล้ายตุงไจย แต่ต่างกันตรงสี ,หาง (ชายตุง มี 3 แฉก) และท่อนหรือข้น จะมีประมาณ 5 ท่อน ใช้เป็นเครื่องอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย และสูตถอน หากมีคนตายมักจะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายโหง หลังจากนั้น 7 วัน หรือภายใน 7 วัน จะต้องนำตุงแดงมาปักไว้ตรงจุดที่ตาย พร้อมกองทรายกองใหญ่ 1 กอง กองเล็ก 100 กอง และเครื่องสังเวย (ขันข้าว) มาทำพิธีตานตุง เพื่อให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นไปผุดไปเกิด ไม่เป็นผีวนเวียนอยู่ตรงนั้น นอกจากนี้ตุงแดงยังสามารถ ทานแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วในวันปีใหม่ได้อีกด้วย

20. ตุงสามหาง (ตุงนำศพ)
ทำด้วยผ้า หรือกระดาษ สีขาวกว้างประมาณ 8 นิ้ว ยาวประมาณ 2 ศอก หรือกว่านี้ รูปร่างของตุงคล้ายคน มีส่วนหัว ลำดัว และ แขนสองข้างแนบกับลำตัว ตุงสามหางอีกแบบหนึ่งทำเป็นส่วนหัว ลำตัว ไม่มีแขน แต่จะทำตีนตุง(ชายตุง) เป็นสามชายหรือ สามหางเรียงกัน ใช้ในการนำขบวนศพเข้าสู่ป่าเฮ่ว ซึ่งหมายถึงว่าผู้ตาย นับถือพระพุทธศาสนาเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจึงขอ พระรัตนตรัยนำสู่สุคติ อีกนัยหนึ่งเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

21. ตุงเหล็กตุงตอง
ทำด้วยโลหะเหล็ก (ปัจจุบันเป็นสังกะสี) และทองเหลือง ลักษณะเป็นช่อสามเหลี่ยมหรือช่อเรียวยาว ขนาดประมาณ 2 x 4 นิ้ว แขวนติดกับคันตุงที่ทำด้วยโลหะเช่นกัน มีจำนวน 108 อัน มัดรวมกันเป็นกำ ใช้ในพิธีเกี่ยวกับคนตาย โดยวางตั้งไว้ใกล้ศพ และมักเปนศพที่ตายโหง

22. ตุงดำ
เป็นตุงสามเหลี่ยมที่ด้วยกระดาษขนาดเล็ก ๆ แต่มีสีดำ ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับสูตถอน ถอนขึด และปักบูชาเทพเจ้าประจำทิศใต้ ของสะตวงต้าวทั้งสี่ ซึ่งได้แก่ ท้าววิรูปักษ์ (ยักษ์)

แม้คนในภูมิภาคอื่นจะมีตุง (ธง) เช่นเดียวกันกับคนเมืองในล้านนา แต่ความเชื่อความนิยม การเห็นความสำคัญของตุง ในการใช้ประโยชน์ประดับประดาใช้ในพิธีกรรม ใช้บูชาพระพุทธศาสนา เทวดา คนล้านนาถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและ แน่นเหนียวมาจนตราบทุกวันนี้และจะสืบสานต่อไป ตุงเท่าที่กล่าวมานี้อาจจะยังไม่ครบหรือมีส่วนผิดพลาดบ้างก็เพราะไม่มี ตำราใด ๆ บันทึกเกี่ยวกับตุงไว้เลย จึงต้องค้นคว้าจดจำจากโน้นนิดนี่หน่อยแต่ก็เชื่อว่าเกือบสมบูรณ์และใช้อ้างอิงได้ จึงขอให้ตุง เป็นสัญลักษณ์ของเราชาวล้านนาดุจดังที่บรรพบุรุษเราได้จงใจเอาตุง เป็นเครื่องหมายดอยสูง และพระธาตุเด่นนั่นคือ “พระบรมธาตุเจ้าดอยตุง สืบต่อไปชั่วกาลนานเทอญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย