วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เซลล์ต้นกำเนิดและสังคม

  แหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิด
  ปัญหาเรื่องการจัดการเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน และเซลล์ต้นกำเนิด
  ตัวอย่างนโยบายของประเทศต่างๆ
  ความเคลื่อนไหวและการนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย
  สถานการณ์ทางด้านกฎหมายในประเทศ

ตัวอย่างนโยบายของประเทศต่างๆ

แนวทางขององค์การสหประชาชาติ และ UNESCO

องค์การสหประชาชาติ ได้ยกร่างร่างปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโคลนนิ่งมนุษย์ และเสนอให้ประเทศสมาชิกพิจารณา โดยในระหว่างจัดทำร่างข้อถกเถียงสำคัญคือ การยอมรับการทำสำเนามนุษย์ โดยหลายประเทศ ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดการเรื่องการทำสำเนามนุษย์เพื่อการรักษา ซึ่งจุดยืนของประเทศไทยก็เป็นในกลุ่มหลังนี้ อย่างไรก็ดี ปฏิญญานี้ ผ่านการเห็นชอบจากประเทศสมาชิกแล้ว

สำหรับองค์การ UNESCO ได้จัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมชีวการแพทย์ (International Bioethics Committee – IBC) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1994 ให้มีหน้าที่พิจารณาประเด็นและแง่มุมทางจริยธรรมของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านชีววิทยาการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การพิจารณาและหาข้อสรุป ซึ่ง IBC ก็ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อสรุปทางด้านจริยธรรมที่พึงกระทำเกี่ยวกับการวิจัยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านเซลล์ต้นกำเนิดด้วย ซึ่งคณะทำงานฯ ได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ตัวอ่อนมนุษย์เป็นแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับการศึกษาวิจัย (รวมทั้งการใช้ประโยชน์ต่อไปเมื่อการวิจัยได้รับผลสำเร็จ) รายงานของคณะทำงานชุดนี้มีข้อเสนอหลายประการ แต่สุดท้ายก็มิได้ระบุว่า คณะทำงานเห็นว่าการวิจัยโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในทางจริยธรรมหรือไม่ ใจความสำคัญของรายงานมีว่า การวิจัยสเต็มเซลล์ที่มาจากตัวอ่อนเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ แต่การดำเนินการของแต่ละประเทศให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสังคมในประเทศนั้น ๆ และแต่ละประเทศควรถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผยในประเด็นนี้ ที่สำคัญควรจะระบุให้ชัดเจนถึงฐานะของตัวอ่อน (moral standing of the embryo) ในบริบทของแต่ละประเทศ โดยรัฐจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์และมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด

ออสเตรเลีย
ในทางกฎหมาย ออสเตรเลียมีกฎหมายว่าด้วย Gene Technology Act 2000 บังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2001 และกฎหมายเฉพาะ The Prohibition of Human Cloning Act 2002 ห้ามทำสำเนามนุษย์ในทุกกรณี

ในขณะเดียวกันในแง่การวิจัย ประเทศออสเตรเลียให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ใช้ตัวอ่อนจากเทคโนโลยีการผสมเทียม (IVF) มาใช้ในการศึกษาทดลองได้ (โดยคำนึงถึงจริยธรรม) รวมไปถึงนักวิจัยสามารถนำเข้า embryonic stem cells จากต่างประเทศได้ และได้สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์วิจัย The Australian Stem Cell Centre ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความร่วมมือกับบริษัทเอกชนจากประเทศสหรัฐอเมริกา (LifeCell Inc.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยในปี 2002-2003 ได้รับงบประมาณถึง 43.5 ล้านเหรียญ (สหรัฐ) จากรัฐบาลกลาง และจากรัฐวิคตอเรียสมทบอีก 11.375 ล้านเหรียญ (สหรัฐ)

สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นอย่างมาก ในปี 1990 ได้ออกกฎหมาย Human Fertilisation and Embryology Act โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ เช่น เงื่อนไขการเก็บรักษา โดยกำหนดให้เก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ ไม่เกิน 10 ปี เก็บรักษาตัวอ่อนไม่เกิน 5 ปี และอนุญาตให้นักวิจัยใช้ตัวอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 14 วันไปใช้ในการวิจัย (รวมทั้งเซลล์ต้นกำเนิด) ได้ รวมไปถึงนักวิจัยสามารถสร้างหรือนำเข้าตัวอ่อนขึ้นเพื่อใช้ทำวิจัยก็สามารถทำได้ โดยมีหน่วยงานอิสระขึ้นทำหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าว

ต่อมาในปี 2001 สหราชอาณาจักรได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 ฉบับ คือ Human Reproductive Cloning Act ห้ามนักวิจัยทำสำเนามนุษย์เพื่อการเจริญพันธุ์ (Reproductive Cloning) มีโทษทางอาญา แต่ไม่ห้ามการทำสำเนามนุษย์เพื่อนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้เพื่อการรักษา

ญี่ปุ่น
รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านกฎหมาย Law Concerning Regulation Relating to Human Cloning Techniques and other Similar Techniques เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2000 และมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2001 ห้ามการใช้เทคโนโลยีทำสำเนามนุษย์ แต่ไม่ห้ามการใช้ตัวอ่อนที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่อายุไม่เกิน 14 วัน เพื่อนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้เพื่อการวิจัย

ในเดือนกรกฎาคม 2004 คณะกรรมการชีวจริยธรรมของสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีอนุญาตให้นักวิจัยสามารถสร้างและทำสำเนาตัวอ่อนขึ้นเพื่อใช้ในการวิจัยได้ภายใต้เงื่อนไขและระบบตรวจสอบที่เคร่งครัด ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ของญี่ปุ่นกำลังเร่งทำแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่

เกาหลีใต้
ห้ามทำสำเนามนุษย์ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้กระทำการจะได้รับโทษจำคุก การทำลายตัวอ่อนเพื่อนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้เพื่อการรักษา อนุญาตให้ทำสำเนามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการรักษาและทำวิจัย ซึ่งทำให้เกาหลีใต้พัฒนาวิชาการและการวิจัยในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถทำสำเนาตัวอ่อนของมนุษย์ได้สำเร็จในปี 2547 และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานักวิจัยชาวเกาหลีได้ประกาศว่าสามารถทำสำเนาตัวอ่อนผู้ป่วยและนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประสบผลสำเร็จแล้ว

เบลเยี่ยม
ออกกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2003 (The Law Concerning Research on Embryos in Vitro) ห้ามทำสำเนามนุษย์เพื่อการเจริญพันธุ์โดยเด็ดขาด แต่สามารถใช้ตัวอ่อนอายุไม่เกิน 14 วัน มาศึกษาวิจัยได้ ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาวเบลเยียมขณะนี้สามารถทำการทดลองจนกระทั่งเกิดทางเลือกใหม่ สำหรับการสร้างเซลล์ต้นกำเนิด โดยนักวิจัยสามารถทดลองนำไข่ที่ไม่สุกมาใช้ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดในห้องทดลองได้ประสบความสำเร็จ

สหรัฐอเมริกา
ในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช ได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2001 ห้ามใช้งบประมาณของรัฐบาลกลางมาสนับสนุนการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด เนื่องจากมีการทำลายตัวอ่อน รวมไปถึงห้ามการนำตัวอ่อนที่เหลือใช้จากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาใช้ในการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดด้วย

และในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านกฎหมาย Human Cloning Prohibition Act (H.R.534) ห้ามการทำสำเนามนุษย์ในทุกกรณีไม่ว่าจะเพื่อการเจริญพันธุ์หรือเพื่อการรักษา อย่างไรก็ดีหลายมลรัฐให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีนโยบายนี้ไม่รวมถึงการใช้นโยบายในส่วนของภาคเอกชนและมลรัฐต่างๆ ซึ่งหลายรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดอย่างชัดเจน เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวเจอร์ซี่ เป็นต้น

เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา สภาวิจัยแห่งชาติ (National Research Council) และสถาบันวิจัยทางการแพทย์ (Institute of Medicine of the National Academics) ได้ออกแนวปฏิบัติการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้สำหรับควบคุมกำกับงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดให้คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมมากขึ้น โดยกำหนดให้มีหน่วยงานพิจารณาด้านจริยธรรมเฉพาะกิจเพิ่มเติมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย โดยโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ต้นกำเนิดไม่ว่าจะได้มาจากตัวอ่อนที่เหลือจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ตัวอ่อนที่พัฒนาขึ้นเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ หรือตัวอ่อนที่ได้จากการทำสำเนาเพื่อการรักษา ต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานเฉพาะกิจนี้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย