วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ป่าเมี่ยง

ป่าเมี่ยง, สวนเมี่ยง ชา และเมี่ยง
การกระจายของต้นชา
ความเป็นมาของชนกลุ่มที่ปลูกชาเมี่ยง
ป่าเมี่ยง พื้นที่กันชนที่ป้องกันแหล่งต้นน้ำ
การใช้ประโยชน์ที่ดินในหมู่บ้านป่าเมี่ยง
โครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเมี่ยง
ต้นไม้ควบคุมบรรยากาศใกล้ผิวดินในป่าเมี่ยง
ต้นไม้ช่วยควบคุมการหมุนเวียนของธาตุอาหาร
รากของต้นไม้ป่าถ่ายทอดน้ำและธาตุอาหารให้กับรากของต้นชา
บทบาทของพืชต่อการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน
บทบาทของไม้พื้นล่างต่อการงอกของเมล็ดไม้และการรอดตายของกล้าไม้
การปลูกและผลิตเมี่ยง
ข้อเสนอแนะ
เอกสารอ้างอิง

โครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเมี่ยง

ในป่าเมี่ยงมิใช่มีแต่ต้นชากับไม้ป่าเท่านั้น แต่ว่ายังมีพืชและสัตว์อื่นอีกมาก โดย Preechapanya (1996) เดินสำรวจตามการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ป่าเมี่ยง ลุ่มน้ำแม่ตอนหลวง ดังในรูปที่ 2 พบว่าป่าเมี่ยง ประกอบด้วยความหลายหลายทางชีวภาพมากมาย โดยเฉพาะพืชที่เป็นประโยชน์ต่อการครองชีพจำนวนมาก รวมทั้งพืชอาหารที่ขึ้นเอง และเกษตรกรปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารในครัวเรือนไว้หลังบ้าน ไม้ใหญ่ที่เกษตรกรปลูกเอง และปล่อยให้ขึ้นทั้งที่เป็นร่มเงาต้นชา และไม้ฟืนสำหรับนึ่งใบเมี่ยง หรือไว้ใช้ในการสร้างบ้านและเครื่องเรือน พืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพร ตลอดจนสังคมพืชโดยรวมที่เกษตรกรจัดการ และดูแลไว้เพื่อการควบคุมสมดุลของระบบนิเวศลุ่มน้ำ

Preechapanya (1996) วิจารณ์ว่าระบบวนเกษตรแบบป่าเมี่ยงเป็นระบบที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์มากกว่าการผลิตสินค้า โดยพบพืชจำนวน 91 ชนิด จาก 48 ตระกูล ประกอบไปด้วย ไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม พืชที่อาศัยบนต้นไม้อื่น ไม้เลื้อย พืชกาฝาก เฟิร์น ไม้ล้มลุก หญ้า จากจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 149 ชนิด 71 ตระกูล ที่พบในบริเวณลุ่มน้ำรวมทั้งป่าดิบเขาที่อยู่ตอนบนของพื้นที่และสวนหลังบ้าน ครึ่งหนึ่งของชนิดของต้นไม้ใหญ่พบทั้งในป่าธรรมชาติ และสวนเมี่ยง ชึ่งต้นไม้ใหญ่ในป่าเมี่ยงงอกจากตอไม้เดิม โดยหนึ่งในสี่เป็นไม้ในตระกูล Anacardiaceae และ Theaceae ทั้งนี้เพราะกล้าไม้ทั้งสองตระกูลเจริญเติบโตได้ดีทั้งสภาพที่เป็นร่มเงาและกลางแจ้ง พบกล้าไม้ป่าน้อยชนิดในสภาพที่มีร่มเงาในบริเวณป่าเมี่ยงและสวนหลังบ้าน อาทิเช่น ไม้ในตระกูล Euphorbiaceae และ Moraceae ทั้งนี้เพราะว่ากล้าไม้ของไม้เหล่านั้นต้องการแสงแดดมากในการเจริญเติบโต ส่วนไม้ไผ่นั้นไม่พบในป่าเมี่ยงเลย ถึงแม้พบในป่าธรรมชาติและสวนหลังบ้าน ทั้งนี้เพราะว่าเกษตรกรมักทำลายกอไผ่ที่ขึ้นในสวนเมี่ยง McClure (1966) อธิบายว่าระบบรากของไผ่มีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของรากของพืชอื่น รวมทั้งรากของต้นชา อย่างไรก็ตามพบสารดังกล่าวที่ปลายรากของหญ้าคา และหญ้าไม้กวาดเช่นกัน การที่เกษตรกรเก็บหญ้าทั้งสองเอาไว้ในป่าเมี่ยง เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มากเท่าผลที่เกิดจากรากของไผ่ และเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากหญ้าทั้งสอง เช่น ใบหญ้าคาใช้ทำหลังคาบ้าน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และรากใช้ในการปรุงยาสมุนไพร ส่วนก้านดอกหญ้าไม้กวาดที่ผึ่งแดดแห้งแล้วนำมามัดรวมกันเป็นไม้กวาด และหญ้าทั้งสองยังเป็นพืชอาหารสัตว์ที่ใช้สำหรับเลี้ยงวัว

 

Preechapanya (1996) ศึกษารายละเอียดโดยการวางแปลงเพื่อเก็บข้อมูลขนาด 6 เมตร x 100 เมตร พบว่าชาพันธุ์อัสสัม และทะโล้ เป็นไม้เด่น โดยพบว่ามีปริมาณเนื้อไม้ของไม้ทุกชนิดรวมประมาณ 70 ลูกบาศก์เมตร ต่อ เฮกแตร์ ต้นชาประมาณ 2,000 ต้น ต่อ เฮกแตร์ ชึ่งปริมาณความหนาแน่นของต้นชานั้นมีความแปรปรวนมากขึ้นอยู่กับการจัดการป่าของเจ้าของป่าเมี่ยงแต่ละราย เช่น พรชัย และคณะ (2528) สำรวจที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ชึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ พบประมาณ 600 ต้น ต่อ เฮกแตร์ ในขณะที่ ปัฐวี (2536) สำรวจในท้องที่เดียวกันในหลายพื้นที่พบว่าความหนาแน่นอยู่ในช่วง 300 ถึง 3,000 ต้น ต่อ เฮกแตร์ โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 635 ต้น ต่อ เฮกแตร์ การที่เกษตรกรปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นในป่าเมี่ยงเพราะต้องการให้ต้นไม้ช่วยเหลือต้นชา เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ เกษตรกรต้องการให้ทรงพุ่มของต้นไม้ทำหน้าที่ควบคุมบรรยากาศใกล้ผิวในป่าเมี่ยง และการหมุนเวียนของธาตุอาหาร และรากของต้นไม้ส่งธาตุอาหารและน้ำให้กับรากของชา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย