วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ป่าเมี่ยง

ป่าเมี่ยง, สวนเมี่ยง ชา และเมี่ยง
การกระจายของต้นชา
ความเป็นมาของชนกลุ่มที่ปลูกชาเมี่ยง
ป่าเมี่ยง พื้นที่กันชนที่ป้องกันแหล่งต้นน้ำ
การใช้ประโยชน์ที่ดินในหมู่บ้านป่าเมี่ยง
โครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเมี่ยง
ต้นไม้ควบคุมบรรยากาศใกล้ผิวดินในป่าเมี่ยง
ต้นไม้ช่วยควบคุมการหมุนเวียนของธาตุอาหาร
รากของต้นไม้ป่าถ่ายทอดน้ำและธาตุอาหารให้กับรากของต้นชา
บทบาทของพืชต่อการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน
บทบาทของไม้พื้นล่างต่อการงอกของเมล็ดไม้และการรอดตายของกล้าไม้
การปลูกและผลิตเมี่ยง
ข้อเสนอแนะ
เอกสารอ้างอิง

ความเป็นมาของชนกลุ่มที่ปลูกชาเมี่ยง

ประชาชนที่อาศัยอยู่บนที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ปลูกเมี่ยง ประกอบไปด้วยคนไทย (Preechapanya, 1996) และ ชนกลุ่มน้อยพวกออสโตรเอเชียติค (Austro-asiatic) ได้แก่ ขมุ ลัวะ ว้า และ ถิ่น (LeBar, 1967) โดย Weatherstone,(1992) ให้รายละเอียดว่าชุมชนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ และรวมถึงทางเหนือของรัฐฉาน (รัฐไทยใหญ่) ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์ รู้จักใช้ใบชาเพื่อเป็นสมุนไพร และบริโภคในยุดเดียวกับชาวจีนนานกว่าสองศตวรรษ

ชนกลุ่มน้อยกลุ่มออสโตรเอเชียติคอพยพขึ้นตั้งถิ่นฐานบนภูเขา และประกอบอาชีพการเกษตรในป่า การเก็บใบชา หรือใบเมี่ยงเพื่อขายเป็นรายได้ เป็นอาชีพหนึ่งที่ชนกลุ่มนี้ยึดเป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะกลุ่มชาวขมุ จากการศึกษาของ Preechapanya, (1996) ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณเทือกเขาผีปันน้ำ เขตท้องที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าชาวบ้านป่าเมี่ยงดั้งเดิมมีเชื้อสายของขมุที่มาจากจังหวัดบ่อแก้ว ในประเทศลาว อพยพมาบุกเบิกปลูกข้าวไร่เป็นอาหาร และเก็บใบชาเมี่ยงจากป่าขายเป็นรายได้ และพัฒนาขึ้นมาเป็นสวนเมี่ยงนานกว่า 150 ปี ในระยะแรกเก็บใบชาจากป่า และต่อมาเริ่มมีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนโดยการตัดต้นบางส่วน เพื่อให้ต้นชาเมี่ยงเป็นพุ่มเตี้ย และเก็บได้สะดวก ต่อมาจึงมีการป้องกันไฟป่า และกำจัดวัชพืช จากนั้นจึงมีการแบ่งต้นชากันเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ และแบ่งที่ดินกันออกเป็นสวนเมี่ยง อย่างไรก็ตามการแบ่งสวนกันก็ยังมีขอบเขตไม่แน่นอนชัดเจน ส่วนใหญ่ยึดเอาต้นเมี่ยง ต้นไม้ ลำธาร หรือสันเขาเป็นหลัก การครอบครองให้ความสำคัญกับต้นไม้มากกว่าพื้นที่ดิน ดังที่ Keen (1978) พบว่าการเลี้ยงสัตว์ในสวนเมี่ยง เจ้าของสัตว์ปล่อยสัตว์พื้นที่ใดก็ได้ หากสัตว์ไม่ทำความเสียหายให้กับต้นไม้ การทำสวนเมี่ยงในเวลาต่อมาเจ้าของสวนปรับปรุงสวนโดยการปลูกเสริม และหาพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการมาปลูก โดยเฉพาะการที่นำพันธุ์อัสสัมที่มีใบสีเหลืองหลังจากการนึ่งมาปลูกทดแทนพันธุ์กัมพูชา (ชื่อพื้นเมืองคือ เมี่ยงอีอาม) (Smitinand, 1980) ที่มีใบสีคล้ำ นอกจากนั้นยังเก็บใบชาเพื่อขายเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ชาจีนคุณภาพต่ำ เก็บเมล็ด หรือเพาะกล้าชาขาย ในบางที่ที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตชายุโรป หรือชาจีน เกษตรกรหันมาเก็บยอดชาขาย และปรับปรุงสวนเมี่ยง โดยปลูกเสริมให้มีระยะต้นแคบลง ลดร่มเงาโดยการตัดต้นไม้ออก ทำขั้นบันไดดิน ให้น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดหญ้า ดังที่พบที่สวนชาใกล้โรงงานชาของบริษัทชาสยาม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผลิตชาฝรั่ง และที่สวนชาใกล้กับโรงงานชาจีน ที่กิ่งอำเภอวาวี จังหวัดเชียงราย อย่างไรก็ตาม การปลูกชาบนที่สูงส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะดั้งเดิม สวนเมี่ยงยังติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ และมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย

 

ชาวไทยอพยพขึ้นไปบนภูเขาภายหลัง (Keen, 1978) โดยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพื่อต้องการมีที่ดินทำกิน หรือไปรับจ้างเป็นคนงานเก็บใบเมี่ยง ในช่วงฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำนาและบางส่วนก็แต่งงานกับคนในหมู่บ้าน (Castillo, 1990; Preechapanya, 1996) เนื่องจากความสัมพันธ์ของชนสองกลุ่มมีมานาน จึงทำให้ชาวป่าเมี่ยงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่มีอุปนิสัย และวัฒนธรรมเดียวกัน โดยวัฒนธรรมที่เด่นกว่ากลืนวัฒนธรรมเดิม ทำให้ชาวป่าเมี่ยงกลายเป็น 'คนเหนือ' พูดภาษาไทยเหนือ (คำเมือง) มีวัฒนธรรมทุกอย่างเหมือนคนเหนือ เรียกพวกตัวเองว่า 'ชาวป่าเมี่ยง' หรือ 'ชาวสวนเมี่ยง' น้อยคนนักสามารถพูดหรือใช้ภาษาเดิมของกลุ่มออสโตรเอเชียติคได้ เช่นที่ Preechapanya (1996) พบที่หมู่บ้านแม่ตอนหลวง เชียงใหม่ เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมาได้มีการอพยพของคนไทยจากอำเภอดอยสะเก็ด และสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ขึ้นไปปะปนแต่งงานกับคนที่อพยพขึ้นไปก่อนจนกลายเป็นคนเมืองทั้งหมู่บ้าน

หมู่บ้านป่าเมี่ยงตั้งอยู่กระจายล้อมรอบบริเวณเทือกเขาผีปันน้ำ บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง และแพร่ เป็นเขตกันชนเทือกเขาผีปันน้ำ ทำให้พื้นป่าต้นน้ำบริเวณเทือกเขาดังกล่าวได้รับการปกปักรักษาเป็นอย่างดี ในปัจจุบันบางส่วนกลายเป็นอุทยานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติดอยหลวง อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นต้น เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำปิงตอนบนบริเวณที่ผ่านอำเภอเชียงดาว แม่น้ำแม่งัด กวง ลาว อิง วัง และยม นอกจากนั้นยังมีหมู่บ้านป่าเมี่ยงบริเวณเทือกเขาในเขตอำเภอแม่แตง แม่ริม เชียงดาว ไชยปราการ และฝาง NADC (1977) รายงานว่าพบหมู่บ้านป่าเมี่ยงเกือบทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งที่เส้นแวงที่ 18 องศาเหนือ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการสำรวจจำนวนและที่ตั้งที่แน่นอน หากมีการดำเนินการข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร และจัดการแนวป่ากันชนป้องกันป่าต้นน้ำลำธาร และอุทยานแห่งชาติทั้งห้า โดยเฉพาะเป็นประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่เทือกเขาผีปันน้ำ และพัฒนาชุมชนป่าเมี่ยง อันจะนำไปสู่ลู่ทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการประสพความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย