สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

นันทนจิต
(Leisure)

นันทนาการ นันทนจิต นันทนจิตศึกษา หมายถึงอะไร
ทำไมต้อง “นันทนจิต”
นันทนจิต ต่างกันหรือเหมือนกันกับ นันทนาการ หรือไม่ อย่างไร
ความหมายและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับนันทนาการ
ที่มาของคำ “นันทนจิต” แนวคิด ความหมายและคำที่เกี่ยวข้อง
อิวาซากิและแมนเนลล์ (Iwasaki & Mannell, 2000)
แรงกระตุ้นของนันทนจิต
นันทนจิตเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองหรือไม่
ประสบการณ์นันทนจิต (Leisure Experiences)
สรุป
บรรณานุกรม

ประสบการณ์นันทนจิต (Leisure Experiences)

เป็นอีกคำหนึ่งที่มีการใช้ในนันทนจิต อันมีความหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เป็นประสบการณ์ที่เหมือนกับประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างอื่น ๆ ทั่วไป ที่รวมกิจกรรมการเล่นที่ชักจูงใจผู้เข้าร่วม ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นกิจกรรมประเภทสร้างสรรค์และศิลปะ (art and creative activities) กิจกรรมที่ท้าทายและผจญภัย (adventure challenges activities) กิจกรรมประเภทเกมและกีฬา (sports and games) กิจกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว (travel and vacations) และ/หรือเป็นกิจกรรมสำหรับการเฉลิมฉลองเนื่องในวันหยุด (holiday celebrations) ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของประสบการณ์ นันทนจิต ซึ่ง คอร์เดสและอิบราฮิม (1996) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์นันทนจิตไว้ 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. ความมีอิสระที่รับรู้เข้าใจได้ (Perceived Freedom) หมายถึง บุคคลสามารถลงมือ

กระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่จะสร้างเสริมประสบการณ์ของตน และสามารถละเลิกการกระทำหรือการเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ได้ตามที่ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น เรามีอิสระที่จะขับรถยนต์ไปเที่ยวชายทะเลในวันอาทิตย์ พักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่บริเวณชายหาดได้นานเท่าที่เราต้องการ หลังจากนั้นเราก็ขับรถยนต์กลับเมื่อรู้สึกว่าอยากจะกลับ อย่างไรก็ตาม ในวันทำงานเราก็คงไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้

2. กิจกรรมที่เข้าร่วมมีจุดจบ/ความมุ่งหมายในตัวเองและเพื่อตัวเอง (Autotelic

Activity) หมายถึง กิจกรรมนั้น ๆ มีความมุ่งหมายหรือผลประโยชน์อยู่ภายในตัวเอง (possessing internal purpose) และการเข้าร่วมในกิจกรรมของบุคคลใดก็เป็นไปเพื่อการเข้าร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ เท่านั้น โดยมิได้มุ่งถึงการที่จะให้ได้รับรางวัลหรือเพื่อการหลีกเลี่ยงจากการถูกกระทำโทษ (done for its own sake)

3. ผลที่ได้รับเป็นสิ่งมีประโยชน์ (Beneficial Outcome) หมายถึง การที่บุคคลเข้าร่วม

ในกิจกรรม บุคคลย่อมรับรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา เช่น เขาเข้าไปออกกำลังกาย/เล่นกีฬาในสถานที่สำหรับการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก สร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย หรือเพื่อการพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ เป็นต้น

ความหมายของนันทนจิตจึงอาจสรุปได้เป็น 3 ลักษณะ

ลักษณะแรก นันทนจิตในฐานะเวลาที่เหลืออยู่ (Leisure as Residual Time)

อันหมายถึงเวลาที่ว่าง (Free Time) จากการปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นประจำวันสำหรับร่างกาย (Time for Existence) และเวลาที่ต้องประกอบอาชีพ (Time for Subsistence) ระหว่างเวลาทั้งสามนี้จะมีเวลาที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด (เป็นลักษณะวงกลมสามวงวางทับกัน จะเกิดส่วนที่ทับซ้อนกัน/เหลื่อมกันอยู่) ลักษณะที่สอง นันทนจิตในฐานะกิจกรรม (Leisure as Activity) อันหมายถึงปฏิบัติการในพฤติการณ์เฉพาะ (Specific Deed or Act) ซึ่งแม้ว่าพฤติการณ์ของมนุษย์จะมีมากมาย แต่ก็จะมีลักษณะที่เป็นของแน่นอนร่วมกันอยู่ ยกตัวอย่างจากการวิเคราะห์ของนักจิตวิทยาสังคม (เชื้อสาย อเมริกัน-ญี่ปุ่น) คนหนึ่งที่ชื่อ ทาโมทสึ ชิบูทานิ (Tamotsu Shibutani) ที่กล่าวว่า พฤติการณ์ใดใดของบุคคลมักเกิดจากการที่สภาพของร่างกายอยู่ในสภาวะของการขาดสมดุล (Condition of Disequilibrium) เมื่อสภาพดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นจะต้องทำให้ร่างกายกลับสู่สภาพที่มีสมดุลให้ได้ เช่น กรณีที่จะลื่นหกล้ม ก็ต้องมีการปรับแต่งส่วน ต่าง ๆ ของร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่จะช่วยให้ร่างกายมีการทรงตัวที่ดีมีความมั่นคงโดยเร็ว หรือ ถ้าหิว ก็ต้องรีบไปหาอาหารมารับประทาน และถ้าในขณะที่หิวนั้น กำลังอยู่กับเพื่อน ๆ ด้วยก็ต้องคิดว่า เรามีเงินที่จะไปซื้ออาหารมาทานไหม เพื่อนจะรู้ไหมว่าถึงเวลาที่จะต้องทานอาหารแล้ว จะไปหาอาหารรับประทานได้ที่ไหน หรือถ้าแต่งกายไม่เรียบร้อยก็จะรู้สึกกังวลไม่สบายใจ เป็นต้น และนันทนจิตในฐานะสุดท้ายคือในฐานะภาวะของจิตใจ (Leisure as State of Mind) ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนนำมาคิดเป็นคำไทยคำใหม่ รายละเอียดดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น อันมีความหมายว่า ภาวะของจิตใจของแต่ละบุคคลจะเป็นตัวกำหนดว่ากิจกรรมแท้จริงใดเป็นนันทนจิต บางท่านอาจคิดว่าการได้เล่นปล้ำกับเพื่อนในดินโคลนเป็นนันทนจิตที่สุดยอดของเขา ในขณะที่ท่านอื่นอาจชอบสะสมแสตมป์ สะสมของเก่า ปลูกผักชีวภาพ หรือเพียงให้ได้นอนในเปลญวนเท่านั้นก็เป็นความพึงพอใจอย่างที่สุดแล้ว

จากที่กล่าวมาแต่ต้น ท้ายที่สุด คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจนันทนจิตในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งก็คือ ทำไมบุคคลจึงประกอบกิจกรรมนั้น ๆ? ผู้เข้าร่วมทำการตัดสินใจเลือกได้อย่างไร? และอะไรเป็นผลที่ตามมา? จาก “นันทนจิต” ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วม หรือการตัดสินใจที่จะเลือกเข้าร่วมอย่างมีอิสระในนันทนจิต ด้วยนันทนจิต และเพื่อนันทนจิต ด้วยก็ตาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย