ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ประวัติมโนราห์
นายสาย ภักดีสังข์ ผู้สอนรำมโนราห์ (ปัจจุบันอายุ 69 ปี) เป็นศิษย์ของ มโนราห์ เจิม เศรษฐ์ณรงค์ บ้านช่างทองตก หมู่ที่ 6 ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เริ่มเรียนรำมโนราห์เมื่ออายุ 7 ปี ในช่วงระหว่างฝึกรำอยู่นั้นอาจารย์เจิม ได้เล่าประวัติความเป็นมาของ มโนราห์ ให้ฟังว่า
ประวัติมโนราห์ (เล่าจาก อาจารย์เจิม เศรษฐ์ณรงค์)
กาลครั้งนั้น ยังมีพระยาเมืองพัทลุง กับพระมเหสี
ได้ครองคู่กันมาหลายปี แต่ก็หาได้มีบุตรไว้สืบสกุลสักคน ทั้งพระสามี และมเหสี
ได้ตกลงกันจุดธูปเทียน บนบานศาลกล่าว แด่เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ขอให้ช่วยประทานบุตรให้สักคน จะเป็นหญิงก็ได้ ชายก็ดี ไว้เป็นทายาทสืบสกุลต่อไป
อยู่มาวันหนึ่งพระมเหสี บอกพระสามีว่ากำลังทรงมีพระครรภ์
พระสามีได้ฟัง ก็ดีพระทัยมาก ต่อมาเมื่อครบกำหนดประสูติกาลได้ประสูติพระธิดา
จึงได้ตั้งชื่อว่า ศรีมาลา เจริญวัยมาได้ประมาณ 5 - 6 เดือน ก็เริ่มรำ
ทำมือพลิกไปพลิกมา นางสนมพี่เลี้ยง ก็เลยร้องเพลง หน้อย ๆ ๆ จนเคยชิน
ตั้งแต่เล็กจนโตรำมาตลอด ถ้าหากวันใดไม่ได้รำ ข้าวน้ำจะไม่ยอมเสวย
ส่วนพระบิดาก็ร้อนใจ และละอายต่อไพร่ฟ้า ประชาชน ที่พระธิดาโตแล้วยังรำอยู่
เช่นนั้น ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนประชาชนก็พากันติฉินนินทาไม่ขาดหู เลยตัดสินใจ
ให้ทหารนำไปลอยแพในทะเล แม่ศรีมาลาต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
จนสลบนอนแน่นิ่งอยู่บนแพนั้น แพถูกคลื่นลมพัดพาไปตามกระแสน้ำตามยถากรรม
จนกระทั่งไปติดอยู่กับโขดหิน ใกล้กับเกาะสีชัง
พ่อขุนศรัทธา ซึ่งต้องคดีการเมืองถูกนำไปกักไว้บนเกาะสีชัง
พร้อมพวกพระยาต่างๆ ที่ต้องคดีเดียวกัน ถูกนำมากักขังรวมกัน เป็นนักโทษการเมือง
บนเกาะแห่งนี้ ในวันนั้น พ่อขุนศรัทธา ได้ลงไปตักน้ำ เพื่อจะชำระร่างกาย
บังเอิญมองไปในทะเล ได้เห็นแพลำหนึ่งลอยมาติดอยู่ ที่โขดหินใกล้เกาะ และมีคนๆ
หนึ่งนอนอยู่บนแพ พอจะแลเห็นได้ถนัด
ตนเองจะลงไปช่วยก็ไม่ได้เพราะน้ำบริเวณนั้นลึกมาก จึงไปบอกกับพระยาโถมน้ำ
ซึ่งเป็นผู้มีวิชาอาคม เดินบนน้ำได้ ให้ไปช่วย พระยาโถมน้ำรับปากแล้ว ได้ลงมาดู
เห็นเป็นดังที่ขุนศรัทธาพูดจริง จึงตัดสินใจเดินไปบนน้ำ ลากแพเข้าหาฝั่งได้
แต่จะทำอย่างไร ผู้หญิงที่นอนอยู่ในแพยังสลบไศลไม่ได้สติ
จึงได้เรียกบรรดาพวกพระยาทั้งหมด ให้มาดูเผื่อจะมีผู้ใดมีปัญญาช่วยเหลือได้
ขณะนั้น พระยาลุยไฟซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย คิดว่าผู้หญิงคนนี้
คงไม่เป็นอะไรมาก คงเนื่องจากความหนาวเย็นนั่นเอง ที่ทำให้เธอไม่ได้สติ
เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงสั่งให้พวกพระยาทั้งหลาย ช่วยกันหาไม้ฟืนมาก่อไฟสักกองใหญ่
แล้วพระยาลุยไฟก็อุ้มเอาร่างผู้หญิงคนนั้น เดินเข้าไฟในกองไฟ
ความหนาวที่เกาะกุมนางอยู่ เมื่อถูกความร้อนจากกองไฟ
ก็เริ่มผ่อนคลายและรู้สึกตัวในเวลาต่อมา เมื่อเห็นว่าเธอปลอดภัยแล้ว
จึงนำนางขึ้นไปยังที่พัก และให้ข้าวปลาอาหารแก่นาง จนมีเรี่ยวแรงปกติขึ้น
เมื่อมีเรี่ยวแรงดีแล้ว แม่ศรีมาลาก็เริ่มรำอีก ทำให้พวกพระยาทั้งหลายพากันแปลกใจ
พากันถามไถ่ไล่เรียง แม่ศรีมาลาจึงเล่าความเป็นมาทั้งหมดให้พวกพระยาฟัง
พวกพระยาทั้งหมดต่างก็คิดกันว่า จะทำอย่างไรต่อไปดี
พระยาคนหนึ่ง จึงเสนอให้พ่อขุนศรัทธา นำแม่ศรีมาลาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ส่วนเรื่องการร่ายรำของเธอ จะมอบให้พระยาเทพสิงหร ไปประชุมพระยาให้ช่วยกันจัดการ
ในเครื่องดนตรี และพระยาเทพสิงหร เป็นหัวหน้าคณะ
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่ตกลงกันแล้ว
ก็ยังมีเหลืออีกอย่าง คือชื่อคณะ ให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าจะตั้งชื่อคณะว่าอย่างไร
แม่ศรีมาลาได้ยินดังนั้น จึงคิดขึ้นมาได้ว่า ตอนที่ลอยอยู่ในทะเล
เธอได้ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ จึงบอกพระยาทั้งหลายว่า ชื่อคณะสมควรจะใช้ชื่อว่า
"คณะมโนราห์" เพราะเมื่อชาติก่อน หนูเคยเกิดเป็นมนุษย์ครึ่งนก หนูชื่อ มโนราห์
ทุกคนพูดว่า จำชาติเกิดปางก่อนได้ด้วยหรือ แม่ศรีมาลาตอบว่า จำได้ทุกชาติ
หนูเกิดมาทั้งหมด 12 ชาติ รวมทั้งชาติปัจจุบันด้วย เหล่าพระยาจึงว่า
ถ้าอย่างนั้นหนูช่วยเล่าเรื่องราวแต่ละชาติให้พวกเราฟังเถิด แม่ศรีมาลารับคำ
แล้วก็เริ่มเล่าเรื่องแต่ละชาติปางก่อนให้ฟัง ชาติเกิดทั้ง 12 ชาติมีดังนี้
- ชาติที่ 1 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ มโนราห์
- ชาติที่ 2 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เมรี
- ชาติที่ 3 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ทิพย์เกสร
- ชาติที่ 4 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ อัมพันธุ์
- ชาติที่ 5 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ รจนา
- ชาติที่ 6 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ จันทร์โครพ
- ชาติที่ 7 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ โมรา
- ชาติที่ 8 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เกตุบุปผา
- ชาติที่ 9 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ สังข์ศิลป์ชัย
- ชาติที่ 10 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ยอพระกลิ่น
- ชาติที่ 11 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ ไกรทอง
- ชาติที่ 12 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ศรีมาลา
ฉะนั้น การตั้งชื่อคณะ ขอตั้งชื่อตามชื่อชาติที่หนึ่ง เพราะเป็นนักฟ้อนรำ
หนูเป็นพวกกินรี ครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ จึงขอตั้งชื่อคณะว่า "มโนราห์"
พวกพระยาได้ฟังดังนั้น จึงตอบตกลง จึงได้ชื่อว่า มโนราห์ มาจนทุกวันนี้
ในฐานะพระยาเทพสิงหร เป็นหัวหน้าคณะ และได้ตั้งคณะมโนราห์ขึ้น
มโนราห์โรงนี้ จึงเรียกกันว่า มโนราห์เทพสิงหร กาลเวลาผ่านมาพอสมควร
คณะมโนราห์เทพสิงหร ได้แสดงไปเรื่อยๆ จนข่าวลือไปทั่วสารทิศ จนทราบไปถึง
พระยาพัทลุง พระบิดา ซึ่งรู้เพียงว่า มโนราห์เทพสิงหรแสดงดีมาก
จึงรับสั่งให้ทหารไปรับมาแสดงในพระราชวัง มโนราห์ก็มาแสดงตามคำเรียกร้อง
พระยาเมืองพัทลุง ได้ทอดพระเนตรการแสดง ก็ทรงชื่นชมพอพระทัย
พอถึงฉากแม่ศรีมาลาออกมารำ เจ้าเมืองก็จำไม่ได้ว่าเป็น
แม่ศรีมาลา เพราะแต่งกายในชุดมโนราห์ ดูผิดแปลกไป มีรูปทรงน่ารักน่าเอ็นดู
พร้อมทั้งมีเสน่ห์เย้ายวนใจ เมื่อแม่ศรีมาลา นั่งอยู่บนเตียงตั่ง(ที่นั่งไม่มีพนัก)
สำหรับมโนราห์นั่ง เจ้าเมืองก็ลุกจากที่ประทับ เดินเข้าไปในโรงมโนราห์
ด้วยความเสน่หา แล้วได้จูงมือแม่ศรีมาลา พาไปยังตำหนัก และเข้าไปในห้องทรง
ให้แม่ศรีมาลา เปลี่ยนเครื่องทรงชุดมโนราห์ออก แล้วร่วมสมสู่กับกับนาง
แม่ศรีมาลาเห็นผิดปกติ ก็เลยบอกความจริงว่า พระบิดาเจ้าข้า หม่อมฉัน
เป็นลูกของท่านน๊ะ ลูกที่ท่านลอยแพไป หม่อมฉันยังไม่ตาย แพไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง
พวกพระยาทั้งหลายเขาเลี้ยงหม่อมฉันไว้ แล้วได้ตั้งคณะมโนราห์ขึ้น
เมื่อได้ฟังดังนั้น ก็ทรงโกรธมาก
จึงรับสั่งให้นำแม่ศรีมาลาไปถ่วงน้ำ คณะมโนราห์ทั้งหมดก็ให้ทหารควบคุมตัวไว้
ไม่ให้ออกนอกวัง ส่วนแม่ศรีมาลา เมื่อทหารกำลังนำตัวเดินลงมาจากพระตำหนัก
นางได้ขอร้องให้ทหารนำตัวไปพบคณะมโนราห์ และได้กล่าวอำลาครั้งสุดท้ายด้วย
ทหารจึงทำตามความประสงค์ นำตัวแม่ศรีมาลาไปพบคณะมโนราห์
ทุกคนเมื่อรู้เรื่องราวก็พากันเศร้าโศกเสียไจไปตามๆ กัน
แม่ศรีมาลา พูดกับคณะมโนราห์ว่า หนูหมดบุญที่จะเป็นมนุษย์แล้ว
เพราะเกิดมาครบสิบสองชาติแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
เมื่อท่านคิดถึงหนู ขอให้จัดโรงมโนราห์ขึ้น แล้วให้รำสิบสองท่า ว่าให้ครบสิบสองบท
และเล่นสิบสองเรื่อง ตามชาติเกิดของหนู แล้วท่านจะได้สมหวัง
หนูจะมากินกับมโนราห์เท่านั้น สรุปว่า แม่ศรีมาลาตาย เพราะถูกถ่วงน้ำ (ตายในน้ำ)