ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ชาติพันธุ์
(The races of man)

ทฤษฎีเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของมนุษย์

        ฟรานส์ โบแอส นักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า การที่คนมีสีผิวต่างกันเป็นเพราะระดับของการปกป้องจากธรรมชาติไม่เท่ากัน โบแอสยกตัวอย่างว่า หากจะพิจารณาดูหมี จะเห็นได้ว่าหมีสีดำมักอาศัยตามเส้นศูนย์สูตรเพราะไม่ค่อยได้รับการปกป้องจากแสงอันแรงกล้าของดวงอาทิตย์เมื่อเปรียบเทียบกับหมีสีขาวที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลก อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน เช่น วัว และควายจะมีสีเข้มกว่าสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น แมว ซึ่งมีสีอ่อนกว่าเพราะได้รับการเลี้ยงดูในที่ร่ม จากข้อสังเกตนี้เอง โบแอสจึงให้ความเห็นว่า ทฤษฎีนี้อาจใช้ในการอธิบายความแตกต่างทางด้านสีผิวของมนุษย์ที่คนผิวดำและผิวเหลืองอาศัยตามบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร และคนผิวขาวมักอาศัยตามเขตอบอุ่นและเขตหนาว

       ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักมานุษยวิทยากายภาพ ได้แก่ระดับของสีผิวมักสัมพันธ์โดยตรงกับภูมิอากาศรอบข้าง ดังจะเห็นได้ว่า คนผิวดำมักพบว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในเขตร้อนและเขตที่มีความชื้นสูงหรือบริเวณรัศมี 20 องศาเหนือใต้จากเส้นศูนย์สูตร ทั้งนี้เพราะผิวสีดำสามารถดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีกว่า ผลการทดลองพบว่า ผิวสีดำของคนนิโกรสะท้อนแสงได้เพียง 24 % ในขณะที่ผิวสีขาวของคนยุโรปสะท้อนแสงราว 64 % นั่นหมายความว่าคนผิวดำได้เปรียบในแง่การดูดซับความร้อนได้ดีกว่าคนผิวขาว นอกจากนี้ ผิวขาวจะไหม้ได้ง่ายกว่าหากถูกแสงแดดตรง ๆ และผิวขาวมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่า ดังนั้น จึงพบว่าแสงอาทิตย์มีส่วนทำให้เกิดการแบ่งแยกถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ต่างสีผิวให้อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามทฤษฎีเกี่ยวกับชาติพันธุ์ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ เพราะมีข้อโต้แย้งมากมาย(4) อาทิเช่น ชาวเอสกิโมมีผิวสีเหลืองแต่อาศัยอยู่ในเขตขั้วโลก ในขณะที่ชาวอียิปต์อาศัยอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรแต่มีสีผิวดำเข้มน้อยกว่าพวกนิโกรที่อาศัยอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากกว่า

ในการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ของมนุษย์นี้บางครั้งก่อให้เกิดปัญหาทางด้านข้อขัดแย้งระหว่างหมู่มนุษยชาติเพราะก่อให้เกิด "อคติทางเชื้อชาติ" (racism) ได้ ดังตัวอย่างเช่น คนผิวขาวมักอ้างว่าพวกตนดีเด่นและเฉลียวฉลาดกว่าคนผิวสีดำและผิวเหลือง จึงสามารถสร้างเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าทันสมัยได้มากกว่า อนึ่ง แม้คนผิวสีเดียวกันก็มีอคติต่อกัน อาทิเช่น คนเยอรมันมักคิดว่าพวกเขามีคุณลักษณะทางพันธุกรรมเหนือกว่าคนผิวขาวกลุ่มอื่น และคนญี่ปุ่นก็อ้างว่า ยีนของพวกเขามีคุณภาพมากกว่ายีนของคนผิวเหลืองอื่น ๆ และดีกว่าของคนผิวขาว ดังนั้นนักวิชาการของสังคมเหล่านี้จึงใช้วิธีการทางพันธุศาสตร์วิเคราะห์โครงสร้างของยีนและโมเลกุลดีเอ็นเอเพื่อจะหาหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างถึงวุฒิปัญญาและความเฉลียวฉลาดของเผ่าพันธุ์ของตนว่าดีเด่นกว่าชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งมีการ ดูถูกเหยียดหยามคนเผ่าพันธุ์อื่นที่มิใช่กลุ่มพันธุ์ของตน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความรังเกียจเดียจฉันท์และการต่อสู้อย่างรุนแรงทางเชื้อชาติในแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และสหภาพแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสงครามโลกระหว่างเยอรมันกับพันธมิตรในยุโรปและญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย



ดังนั้น องค์การยูเนสโกจึงลงความเห็นว่า...ในทางมานุษยวิทยา คำว่าชาติพันธุ์ใช้ในการแบ่งกลุ่มมนุษยชาติซึ่งมีลักษณะสีผิวทางด้านร่างกายแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนี้เป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐานทางธรรมชาติและสืบต่อไปยังลูกหลานได้โดยทางพันธุกรรม การจัดกลุ่มของมนุษย์โดยวิธีนี้ นักมานุษยวิทยาได้ใช้กฎเกณฑ์ของการแบ่งทางสัตวศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือแบ่งตามหลักของชีววิทยา... แต่ต้องขอย้ำว่าการแบ่งแยกกลุ่มซึ่งอาศัยชาติพันธุ์เป็นหลักนี้ "ไม่ใช้" เป็นสื่อสำคัญในทางมานุษยวิทยามากนัก ทั้งนี้ ลักษณะของความแตกต่างด้านอื่นซึ่งซับซ้อน และมีความหมายในเชิงนิตินัยยังมีอีกมาก... คนเราไม่ว่าจะเป็นคนมีผิวพรรณแบบไหน ก็ย่อมมีจิตใจที่คล้ายคลึงกัน บางคนเป็นคนดี บางคนก็เป็นคนเลวควบคู่กันไป คนทุกสีผิวอาจมีความรู้ความฉลาดและสามารถเท่าเทียมกันถ้าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน

ขนาดของร่างกาย

         จากการที่โครงสร้างและรูปร่างทางร่างกายของมนุษย์มีขนาดแตกต่างกัน ทำให้นัก มานุษยวิทยากายภาพให้ความสนใจค้นหาสาเหตุของความแตกต่างดังกล่าว ด้วยการตั้งสมมติฐาน เช่น กฎทางสัตวศาสตร์ที่เรียกว่า Bergman's rule กล่าวว่า กลุ่มมนุษย์ที่มีโครงสร้างทางร่างกายขนาดเล็กมักจะพบว่าอาศัยอยู่ตามบริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่วนกลุ่มที่มีร่างกายสูงใหญ่จะพบในเขตอากาศหนาว5 เมื่อนำทฤษฎีนี้มาตรวจสอบกับข้อเท็จจริง ปรากฏว่าในบางกรณีอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ชาวเอสกิโมมิได้มีขนาดร่างกายสูงใหญ่ทั้ง ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตขั้วโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งทฤษฎีก็ให้เหตุผลต่ออีกว่า แม้ว่าพวกเอสกิโมจะเตี้ย แต่พวกเขาก็มีร่ายกายที่แข็งแรง อกหนา ขาสั้น มีนิ้วมือนิ้วเท้าสั้น ซึ่งลักษณะดังนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาความร้อนของร่างกายได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม ชาวแอฟริกันเผ่าไนโลติกที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตร้อนมีความสูงกว่า 180 ซม.ขึ้นไป แต่พวกนี้กลับผอม เอวบาง และลำตัวยาว แขนขายาว ลักษณะเช่นนี้มีความเหมาะสมต่อการมีชีวิตอยู่ในเขตร้อน

ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจมาก ก็คือ การดำรงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ จากการศึกษาพบว่า อวัยวะทางร่างกายมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะที่มีปริมาณอากาศอ๊อกซีเจนน้อย เช่น ขนาดของปอดและหัวใจใหญ่ กว่าคนปกติที่อาศัยอยู่บนพื้นราบ จำนวนเม็ดโลหิดแดงมีมากขึ้น ฯลฯ ตัวอย่างของกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่ ชาวเนปาลและธิเบตจำนวนกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยบนที่ราบสูงเชิงเขาหิมาลัยที่มีความสูงเฉลี่ย 12,000 ฟุต และคนอินเดียนแดงจำนวนกว่า 25 ล้านคนที่อาศัยบนที่ราบสูงแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งมีความสูงราว 17,500 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล บริเวณที่อยู่อาศัยที่มีความสูงขนาดนี้จะมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์หากคนจากพื้นราบขึ้นไปอาศัยอยู่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย