สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาธิปไตยกับการเมืองไทย

เหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
กลไกของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎร
การปฏิรูปวุฒิสภา
การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ
การปฏิรูประบบราชการ
ศาลปกครอง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

การปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติ

การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการ กำหนดให้สมัยประชุมมี 2 สมัย คือ สมัยประชุมทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ (มาตรา 159 วรรค 2) ซึ่งจะทำให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรากฎหมายได้มากขึ้น ขยายระยะเวลาสมัยประชุมเป็นสมัยละ 120 วัน (มาตรา 160)

กำหนดให้กฎหมายที่สำคัญมีกระบวนการนิติบัญญัติที่แตกต่างไปโดยระบุว่า ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใด หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบและคะแนนเสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบก็จะมีการตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภามีจำนวนเท่ากัน ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้วก็ส่งให้รัฐสภามีมติต่อไป (มาตรา 173)

กำหนดให้กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภา สามารถถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้โดยไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภา (มาตรา 178)

2. กลไกของรัฐในทางบริหาร

กลไกของรัฐในทางบริหารมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารโดยตรง แนวทางที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกของฝ่ายบริหาร



การปฏิรูปฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ทำการปฏิรูปฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลในหลายกรณีด้วยกัน

  • ประการแรก คือ การลดจำนวนคณะรัฐมนตรีให้เหลือเพียง 36 คน จากเดิมที่มีอยู่เกือบ 50 คน สาเหตุสำคัญที่มีการลดจำนวนรัฐมนตรีให้เหลือน้อยลงดังกล่าว ก็เนื่องมาจากการคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เพราะอาจจะกล่าวได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น คณะรัฐมนตรีของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ เพราะไม่ได้ประกอบด้วยรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ประเพณีการแบ่งสรรอำนาจของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการก็มีลักษณะที่แบ่งแยกกันเด็ดขาด รัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานจึงไม่เกิดขึ้น การกำหนดจำนวนคณะรัฐมนตรีมากเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปูนบำเหน็จทางการเมืองด้วย โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด จำนวนรัฐมนตรีมิได้มีความสอดคล้องกับกระทรวง ทบวง กรม ที่มีอยู่ การลดจำนวนรัฐมนตรีลงจะทำให้การปูนบำเหน็จรางวัลเป็นไปได้ยากขึ้น การบริหารงานจะมีความเป็นเอกภาพ และคณะรัฐมนตรีจะสามารถเป็นศูนย์รวมของการตัดสินใจปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง
  • ประการที่สอง คือ การปรับปรุงให้มีการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนารัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดกลไกไว้ในมาตรา 202 ว่าจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมติของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งต้องกระทดโดยเปิดเผยจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลไกตามาตรานี้มีขึ้นเพื่อให้การสรรหานายกรัฐมนตรีเป็นอย่างโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงการดำเนินการของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือเลขาธิการพรรคการเมืองที่มักจะอาศัยการตกลงภายในกับพรรคการเมืองอื่น เพื่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • ประการที่สาม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ ประเด็นนี้เป็นที่มีความขัดแย้งกันเป็นอย่างสูงในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของมาตรา 204 คือ การห้ามฝ่ายบริหารดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างจาก “ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี” เพราะในกรณีหลังนั้นทำให้ไขว้เขวได้ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์ที่จะให้ “คนนอก” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะแม้จะมีเจตนามิให้ฝ่ายบริหารดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติในขณะเดียวกัน แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ประสงค์ที่จะให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง ดังจะเห็นได้มาตรา 204 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดจากวันที่ครบ 30 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

การที่รัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในขณะเดียวกัน มีเหตุผลที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1) บทบาทของฝ่ายบริหารและบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ผ่ายบริหารมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลดังกล่าวจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

2) เป็นที่ทราบกันดีว่าฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศไทยตรากฎหมายได้น้อยมากในแต่ละปี แม้จะมีสาเหตุหลายประการก็ตาม แต่เหตุผลหนึ่งก็คือ ฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศไทยไม่ได้ให้ความสนใจต่อการตรากฎหมายเท่าที่ควร ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักให้ความสนใจกับการตรากฎหมายค่อนข้างน้อย แต่เน้นหนักความสนใจของตนเองไปที่การเป็นฝ่ายบริหารมากกว่า การห้ามมิให้ฝ่ายบริหารดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในขณะเดียวกัน จึงเท่ากับทำให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติสามารถทุ่มเทการทำงานของตนได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับหลักการ “แยกงานกันทำ” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม

3) การให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายบริหารได้ ยังเป็นช่องทางให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการเป็นรัฐมนตรี เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายต่างก็มุ่งหวังว่าตนเองจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้จำนวนหนึ่ง เพื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามโควต้า การห้ามมิให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารในขณะเดียวกันจะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตระหนักว่าเมื่อใดก็แล้วแต่ที่ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีก็จะกลับมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย