วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
สมองมหัศจรรย์
สมองเป็นส่วนของอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของคนเรา
ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการกระทำของเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว
ความรู้สึกนึกคิด หรือความจำ
นอกจากนี้ยังมีการกระทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่สมองไม่ได้ควบคุมการกระทำนั้นโดยตรง
แต่ควบคุมผ่านทางสารเคมีที่มีอยู่ในโลหิต ซีงจะส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่น ๆ
ของร่างกาย
เรื่องของสมองได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเหตุเนื่องจาก อัลเบิร์ต ไอสไตน์
(Albert Einstein) ชีวิตในตอนเด็กของเขานั้น
เขาถูกครูประจำชั้นกล่าวหาว่าเขาเป็นคนใจลอย เป็นเด็กไม่เอาไหน
เป็นคนช่างถามจนชั้นเรียนเสียวินัยกันไปหมด
แถมยังสำทับว่าเด็กอย่างเขานี่อย่าเรียนหนังสือเลยจะดีกว่า
แต่แล้วทำไมสามารถเขากลับกลายเป็นนักกวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก
ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ และระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจของคนทั่วโลก
ทำให้เรื่องของสมองได้รับความสนใจค้นคว้ากันมากขึ้น
จนในทศวรรษที่ผ่านมาถูกเรียกว่าเป็นทศวรรษแห่งการค้นคว้าเรื่องสมอง
เพื่อหาความจริงและศักยภาพเร้นลับที่แฝงอยู่ในสมองออกมา
สมองของคนเราเป็นอวัยวะที่มีความสลับซับซ้อนมาก
ประกอบด้วยเซลประสาทและเส้นประสาทจำนวนมากมาประกอบกันเป็นระบบประสาท
โดยอยู่ภายในกระโหลกศีรษะ ห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มสมองและมีน้ำหล่อเลี้ยงสมอง หล่ออยู่
ของเหลวนี้บรรจุอยู่ในช่องว่างสี่ช่องภายในสมอง
และจะถูกขับออกมาหล่อระหว่างชั้นของเยื่อหุ้มสมอง
จากนั้นก็เข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้ง
นอกจากนั้นยังมีแผ่นกระดูกอ่อนระหว่างข้อสันหลังแต่ละชิ้นช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่จะกระทบถึงสมองด้วย
ในระบบประสาท สิ่งที่สำคัญมากเท่า ๆ กับสมองก็คือ ไขสันหลัง (Spinal cord)
ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อออกจากสมอง ผ่านมาตามลำกระดูกสันหลัง
ทั้งสมองและไขสันหลังนี้จะรวมกันเป็น ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system)
ตลอดระยะความยาวของไขสันหลัง จะมีเส้นใยประสาท (Nerves)
แยกออกและแผ่ขยายออกไปครอบคลุมเกิอบจะทั่วทุกส่วนของร่างกาย เพื่อรับเอาข้อมูลต่าง
ๆ จากอวัยวะประสาทไปสู่สมอง
และในขณะเดียวกันก็จะนำคำสั่งจากสมองไปยังอวัยวะเหล่านั้นด้วย
สมองของมนุษย์หนักกว่าสมองของสัตว์อื่น ๆ นอกจากช้างและปลาวาฬ
คิดเฉลี่ยในผู้ชายผู้ใหญ่ หนักประมาณ 1380 กรัม ในผู้หญิงหนัก 1250 กรัม
น้ำหนักของสมองนี้ต้องแล้วแต่ความเจริญของสมอง สมองเจริญเร็วภายในอายุ 5
ปีและเจริญเรื่อยไป สมองจะหยุดเจริญเมื่ออายุ 20 ปี สมองจะมีน้ำหนักเพียง 2 %
ของน้ำหนักร่างกาย แต่ต้องใช้พลังงานถึง 20 %
ของพลังงานที่ร่างกายผลิตได้ในการทำงานของสมอง
โดยพลังงานส่วนนี้ได้จากกลูโคสและออกซิเจนซึ่งนำมาทางกระแสโลหิต
สมองของมนุษย์เป็นมรดกแห่งวิวัฒนาการหลาย ๆ ล้านปี
สมองของมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ ๆตามการทำงานของสมองได้ดังนี้ คือ (อริยะ
สุพรรณเภษัช :2543)
สมองส่วนแกนกลางหรือสมองดึกดำบรรพ์หรือสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน
เช่นเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังขั้นต้นทั้งหลาย
ทำหน้าที่เป็นกลไกรับความรู้สึกต่าง ๆ ,ตัดสินใจในสถานการณ์ว่าสู้หรือถอย
และควบคุมการอยู่รอดของชีวิต เช่น การหายใจ การไหลเวียนของโลหิต การย่อยอาหาร ฯลฯ
ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ สมองระดับนี้มีในปลา และสัตว์เลื้อยคลาน
ส่วนนี้ของสมองได้แก่ก้านสมองและไขสันหลัง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ 300
ล้านปีที่แล้ว ความอยู่รอดระดับนี้ไม่ต้องอาศัย ความคิด
เพียงแต่เป็นปฏิบัติการของก้านสมองและไขสันหลังที่เรียกว่า ปฏิกิริยา
Reflexซึ่งระบบของกลไกรับความรู้สึกต่าง ๆ
ของสมองส่วนนี้สามารถได้รับการพัฒนาขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ
ซึ่งเมื่อย่างเข้าอายุปีที่ 4 สมองส่วนนี้จะพัฒนาได้มากถึง 80 %
และจะหยุดการพัฒนาไปเมื่ออายุได้ประมาณ 7 ปี
ซึ่งสมองในระดับที่สูงขึ้นไปมากกว่านั้นจะเริ่มต้นพัฒนาในขั้นปฐมภูมิ
เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างเอาใจใส่
ความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ก็จะเปิดเผยออกมา กลไกรับความรู้สึกต่าง ๆ
ก็ได้รับการพัฒนาได้เต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมจิตใต้สำนึกให้เป็นปกติ,การสร้างประสบการณ์ของการพัฒนาประสาทสัมผัสของประสาทรับรู้ของเด็ก,
ซึ่งจะทำให้ระบบโครงสร้างของสมองส่วนนี้มีการพัฒนาอย่างเพียงพอ
เพื่อจะเป็นพลังช่วยผลักดันให้การพัฒนาของสติปัญญาในสมองระดับที่สูงกว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในปัจจุบันพบว่าสังคมเกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมต่าง ๆ
ทั่วโลกเป็นเพราะว่าสมองส่วนนี้ของผู้คนสังคมถูกกระตุ้นด้วยสื่อต่าง ๆ
ผลิตออกมามอมเมาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง ขึ้นมาได้ เช่น
สื่อลามกต่าง ๆ ,ภาพยนต์หรือเกมคอมพิวเตอร์ที่สื่อความรุนแรงซาดิสม์,เวปไซต์โป๊
เพลงที่เร่าร้อนกระตุ้นกามและความรุนแรง เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ
เหล่านี้มันจะไปกระตุ้นสมองสัตว์เลื้อยคลานของผู้เสพสื่อต่าง ๆ เหล่านั้น
ทำให้สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานของเขาให้มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้มันมีพลังรุนแรง
มีผลทำให้ส่งสัญญาณให้สมองส่วนอารมณ์ แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา
นอกกรอบแห่งสังคมและวัฒนธรรมโดยที่สมองส่วนปัญญาภายใต้สมองส่วนอารยะไม่มีพลังเพียงพอที่จะไปควบคุมมันได้
ดังนั้นการที่จะเสพสื่อต่าง ๆ จงพิจารณาให้เหมาะสม
สมองระดับกลางหรือสมองส่วนอารมณ์
มีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงเท่านั้น เรียกว่าระบบลิมบิค(Limbic
system) เป็นส่วนที่แสดงอารมณ์ เช่น ความรักผูกพัน ความชิงชัง ความโกรธ ความเกลียด
ความกลัว ฯลฯ มนุษย์มีอารมณ์ก็เพราะมีสมองระดับนี้
นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ก่อให้เกิดความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว (STM และ LTM )
ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้อีกด้วย
สมองส่วนนี้พัฒนาเมื่อประมาณ 100 ล้านปีที่แล้ว เมื่อสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์
สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมจึงค่อยแพร่หลายและมีวิวัฒนาการสืบต่อมา
ซึ่งสมองส่วนนี้สามารถได้รับการพัฒนาได้จากการเล่น,การที่มีรูปแบบตัวอย่างหรือโมเดลที่เหมาะสมเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดการลอกเลียนเอาแบบอย่าง
การรับฟังจากการเล่าเรื่องและมีการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านอารมณ์ที่สมบูรณ์
เพื่อที่จะผ่านไปสู่ระดับของสติปัญญาที่สูงกว่าของตัวเขา
สมองส่วนอารมณ์นี้จะเป็นสมองส่วนที่แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ
ของมนุษย์ออกมาทั้งทางกาย,วาจาและใจ รวมทั้งภาษากายต่าง ๆ
การแสดงออกของพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า สมองส่วนปัญญา หรือ
สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานมีอิทธิพลมากกว่ากัน ถ้าสมองส่วนปัญญามีอิทธิพลมากกว่า
ก็จะสามารถควบคุมทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมและอารมณ์
เป็นไปตามกรอบของสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนด
แต่ถ้าสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานมีอิทธิพลมากกว่าเนื่องจากถูกกระตุ้นโดยการเสพสื่อที่มอมเมา
ฯ
ก็จะทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมและอารมณ์ของเขาไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมและวัฒนธรรมกำหนด
อยู่ในสภาวะผู้มีอีคิวต่ำ
สมองส่วนนีโอ-คอร์เท็กซ์หรือสมองระดับอารยะหรือสมองส่วนปัญญา
เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย
ส่วนนี้มีไว้รับสัมผัสทั้งห้า (หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง)
ควบคุมการเคลื่อนไหวและความรู้สึกนึกคิดและการเรียนรู้ทั้งสิ้น
เปลือกสมองของมนุษย์ทั้งหนาทั้งมีรอยพับจีบย่นลึก ๆ เพิ่มพูนปริมาณและพื้นที่
เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของเดนไดร์ท(Dendrittic spine)
ทำให้เกิดความเชื่อมต่อของทางเดินกระแสประสาทในสมองที่เรียกว่า เบรนคอนเนคชั่น(
Brain connection) มีผลทำให้เกิด ไซแนปส์(synapse)ได้เพิ่มขึ้น
จึงมีขีดความสามารถสูงยิ่งกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใด ๆ
ด้วยสมองระดับนี้จึงช่วยให้มนุษย์มี อารยธรรม
สมองระดับนี้มีวิวัฒนาการเมื่อไม่ถึงห้าแสนปีนี่เอง
มนุษย์นั้นอยู่รอดด้วยการเรียนรู้ซึ่งต่างจากสัตว์ซึ่งอยู่รอดได้ด้วยปฏิกิริยา
Reflex และ สัญชาติญาณ(Instinct)
ซึ่งสมองส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดระดับสติปัญญาของมนุษย์โดยที่สมองส่วนนี้จะคอยเลือกเฟ้นข่าวสารหรือข้อมูลที่ได้รับผ่านเข้ามาจากประสาทส่วนอื่น
ๆ และผลลัพท์ที่ได้จะเป็นผลลัพท์ที่เต็มไปด้วยเหตุผล การตัดสินใจ
ความคิดที่ใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง ภาษาที่ใช้ ปฏิกิริยาการควบคุม
และความเข้าใจที่แสดงออกทางท่าทาง
สมองส่วนนี้ถ้าได้ส่งเสริมให้มีศักยภาพสูง
โดยการได้เสพสื่อในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตน เช่น
ได้อ่านหนังสือที่ดี,ฟังดนตรีที่พัฒนาศักยภาพสมอง,
ได้เข้าถึงข้อมูลที่ดีทางศาสนา,ได้รับความรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยามารยาทที่เหมาะสม
ฯ
สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นสมองส่วนปัญญาและยับยั้งการครอบงำของสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน
มีผลทำให้สมองส่วนอารมณ์ได้มีการแสดงออกทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่ดีที่เหมาะสมตามสมองส่วนปัญญาไปด้วย
เราจึงเรียกสมองส่วนนี้เป็นสติปัญญาในระดับสูงที่เรียกว่าว่า
วิถีแห่งการรับรู้
ซึ่งพัฒนาขึ้นภายในตัวมนุษย์ซึ่งวิถีแห่งการรับรู้พิจารณาได้จาก
ความเฉลียวฉลาดในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ตามทฤษฎีพหุปัญญา ของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์
ซึ่งประกอบด้วย
-
ความเฉลียวฉลาดทางด้านภาษา ( linguistic intelligence) คือ ความสามารถในด้านภาษา การพูดจาโน้มน้าวผู้อื่น เช่น นักการเมือง ความสามารถในด้านบทกวี ตัวอย่างบุคคลเช่น เช็คสเปียร์
-
ความเฉลียวฉลาดด้านการคำนวณ (Logic/MathematicsIntelligence) คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล การคำนวณ ตัวอย่างบุคคล เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านมิติ (Visual/Spatial Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบริเวณว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จิตกรวาดภาพ,นักเดินหมากรุก ,ความสามารถในการใช้แผนที่เช่น นักเดินเรือ ,ความสามารถในการสร้างจินตนาการ สร้างภาพต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ดั่งเช่น สถาปนิกที่สร้างตึกหรือเมืองขึ้นได้จากจินตนาการ ตัวอย่างบุคคลเช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านดนตรี ( Musical Intelligence) คือ ความสามารถในด้านดนตรี ตัวอย่างบุคคล เช่น โมสาร์ต
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านกายภาพหรือร่างกาย(Bodily Kinesthetic Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้สรีระร่างกาย เช่น นักเต้นรำ นักบัลเล่ต์ ตัวอย่างบุคคลเช่น ไมเคิล แจ๊กสัน ที่มีท่าเต้นไม่เหมือนใครและหาคนเลียนแบบได้ยาก
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านสังคม( Interpersonal /Social Intelligence) คือ ความสามารถในการเข้าสังคม การเป็นมิตรกับคนอื่นได้ง่าย ตัวอย่างบุคคลเช่น วินสตัน เชอร์ชิลล์ หรือผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ความเฉลียวฉลาดในด้านธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) คือ คนที่มีความสามารถในการมองเห็นความงาม
-
ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เช่น ชาร์ลส์ ดาวิน
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านจิตวิญญาณ ( Spiritual Intelligence) คือ คนที่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณด้านลึก ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยภาษาง่าย ๆ ตัวอย่างบุคคลเช่น มหาตมะ คานธี เป็นต้น
-
ความเฉลียวฉลาดในด้านบุคคล ( Intrapersonal Intelligence) คือ คนที่มีความสามารถในการเข้าใจตนเองดี มีความมั่นใจในตนเอง เข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง สามารถตั้งเป้าหมายชีวิตได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างบุคคลเช่น กฤษณะมูรติ เป็นต้น
หน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ของสมอง
อริยะ สุพรรณเภษัช(2543)
ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ของสมอง
ไว้ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สมองส่วนหน้า (Forebrain)
สมองใหญ่ (Cerebrum)
เป็นสมองส่วนที่กินเนื้อที่ในกระโหลกศีรษะมากที่สุด ประมาณ 70 % ของสมองทั้งหมด
เป็นสมองส่วนที่มีอายุน้อยที่สุด คือ
เป็นสมองที่เพิ่งจะผ่านขั้นตอนการวิวัฒนาการมาเมื่อไม่นานมานี้เอง
สมองส่วนนี้ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความจำ
เป็นศูนย์ควบคุมเกี่ยวกับการพูดและการรับรู้ภาษา เป็นศูนย์ควบคุมสัมผัสทั้ง 5
เป็นศูนย์ควบคุมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของจิตใจ
สมองใหญ่ ประกอบด้วยสมองรูปครึ่งวงกลมแยกเป็นสองส่วน เรียกว่า
เฮมิสเฟีย(Hemispheres)
ซึ่งจะเชื่อมต่อกันที่รอยผ่าลึกด้านล่างด้วยเนื่อเยื่อแถบยาวที่เรียกว่า
คอร์พัสคัลโลซัม (Corpus callosum) ภายในเฮมิสเฟียซึ่งประกอบกันเป็นสมองใหญ่นี้
จะมีชั้นของเนื้อเยื่ออยู่ 2 ชั้น ชั้นบาง ๆ ที่อยู่ภายนอกเรียกว่า พื้นผิวสมอง
(Cortex) หรือเนื้อเยื่อสีเทา (grey matter)
ซึ่งเป็นชั้นที่ห่อหุ้มสมองใหญ่ไว้ทั้งหมด ส่วนนี้จะอุดมไปด้วยปลายประสาท
และส่วนที่อยู่ลึกลงไปจะมีเนื้อสมองสีขาว(white matter) บริเวณส่วนผิวของซีรีบรัม
เรียกว่า ซีรีบรัมคอร์เท๊กซ์ (cerebrum cortex) มีความหนาประมาณ 4 มิลลิเมตร
อยู่ในส่วนของเนื้อสมองสีเทา รอยหยักของผิวสมองก็เกิดที่ซีรีบรัมคอร์เท๊กซ์นี่เอง
ซีรีบรัมคอร์เท๊กซ์ของมนุษย์มีความซับซ้อนมาก และหน้าที่ต่าง ๆ
ของซีรีบรัมที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เกิดขึ้นที่ซีรีบรัมคอร์เท๊กซ์นี่เอง
ซึ่งพื้นผิวสมองมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมเคลื่อนไหวของร่างกายโดยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของจิตใจและยังควบคุมเกี่ยวกับประสาทสัมผัสอีกด้วย
สมองส่วนนี้แบ่งออกได้เป็นส่วนย่อยที่เรียกว่าพูสมอง (lobe) 4 ส่วนหรือ
4 พู ได้แก่
-
พูสมองส่วนหน้า ฟรอนทัลโลบ(Frontal lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสิ่งเร้า สมาธิ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด การเรียนรู้ ความจำ ความฉลาด ความคิดอย่างมีเหตุผล คำพูดและการวางแผน ตลอดจนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ แขนขาและใบหน้าด้วย
-
พูสมองส่วนพาไรทัลโลบ(Parietal lobe) ทำหน้าที่รับความรู้สึกสัมผัสจากร่างกาย (Sensual) การคิดในระดับสูง ได้แก่ การประมวลผลข้อมูลทางสายตา ทางความรู้สึกสัมผัส ทักษะด้านคณิตศาสตร์ ภาษา และ ดนตรี ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ความรู้ ความเข้าใจ และจินตนาการเกี่ยวกับตำแหน่งและเนื้อที่ของวัตถุในระบบสามมิติเกิดจากสมองส่วนนี้
-
พูสมองส่วนเท็มพอรัลโลบ (Temporal lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินเสียง ( Auditory),การดมกลิ่น (Olfaction),ความจำและภาษา
-
พูสมองส่วนออกซิพิตัลโลบ (Occipital lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น
-
พูสมองส่วนลิมบิคโลบ (Limbic lobe) เป็นส่วนของซีรีบรัมเก่าแก่ดั้งเดิมที่ถูกดันเข้าไป (บางครั้งนำพูสมองส่วนนี้ไปรวมกับสมองส่วนกลางและบางส่วนของก้านสมอง โดยเรียกรวมว่าเป็นระบบลิมบิก (limbic system)) ทำหน้าที่สำคัญร่วมกับสมองส่วนอื่น ๆ โดยทำหน้าที่เกี่ยวข้องความทรงจำ(Memory) การเรียนรู้ อารมณ์และการแสดงอารมณ์ได้ถูกต้องตามประสบการณ์ ตามวัฒนธรรมตลอดจนสัญชาตญาณการอยู่รอดหรือการเห็นแก่ตัวเอง (ego)
ไดเอนเซฟาลอน (Diencephalon) มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
-
ทาลามัส (Thalamus) อยู่ใต้ซีรีบรัมและอยู่เหนือไฮโพทาลามัส ทำหน้าที่ เหมือนศูนย์ถ่ายทอดสัญญาณของร่างกายระหว่างไขสันหลังและซีรีบรัม โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมกระแสประสาทที่ผ่านเข้าแล้วถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับกระแสประสาทนั้น ๆ โดยแปลสัญญาณที่รับเข้ามาก่อนส่งไปยังซีรีบรัม เช่น รับกระแสประสาทจากหูแล้วส่งเข้าซีรีบรัมบริเวณศูนย์การรับเสียง
-
ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) อยู่ถัดจากทาลามัสลงไปทางด้านล่างของสมอง ทำหน้าที่ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ และต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในการตอบสนองด้านอารมณ์และสัณชาติญาณโดยทำหน้าที่โดยสร้างฮอร์โมนหลายชนิดส่งไปควบคุมต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ปลายสุดของสมองส่วนนี้อีกต่อหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด การนอนหลับ ความหิว ความอิ่ม ความกระหาย รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ดีใจ เสียใจ โศกเศร้า และความรู้สึกทางเพศ
-
อีพิทาลามัส(Epithalamus) หรือ ไพเนียลบอดี้ (Pineal body) เป็นกลุ่มเซลมีลักษณะคล้ายเซลรับแสง หน้าที่ยังไม่แจ้งชัด
สมองส่วนกลาง (Midbrain)
เป็นสมองส่วนที่อยุ่ระหว่าง พอนส์ กับ ไดเอนเซพารอน
มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการโฟกัสภาพของตาให้ชัดเจนเวลาดูของใกล้หรือไกล,ทำให้ลูกตากรอกไปมาได้,การที่ทำให้ม่านตาปิดเปิดในเวลามีแสงสว่างเข้ามามากหรือน้อย
สมองส่วนท้าย (Hindbrain) แบ่งเป็น
-
ซีรีเบลลัม(Cerebellum) สมองส่วนท้ายทอยทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ต่อเนื่อง เที่ยงตรงราบรื่น จนกระทั่งสามารถทำงานชนิดละเอียดอ่อนได้ และทำให้ร่างกายสามารถทรงตัวได้ โดยรับความรู้สึกจากหูที่เกี่ยวกับการทรงตัวแล้วซีรีเบลลัมแปลเป็นคำสั่งส่งไปยังกล้ามเนื้อ
-
พอนส์(Pons) อยู่คนละด้านของซีรีบรัมติดต่อกับสมองส่วนกลางเป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างซีรีบรัมกับซีรีเบลลัม และระหว่างซีรีเบลลัมกับไขสันหลัง พอนส์ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเคี้ยว การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และควบคุมการหายใจ
-
เมดุลลา ออบลองกาตา (Medulla Oblongata) เป็นส่วนสุดท้ายของสมอง ตอนปลายสุดของสมองส่วนนี้อยู่ติดกับไขสันหลัง จึงเป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างสมองกับไขสันหลัง เมดุลลาออบลองกาตานี้เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติต่าง ๆ เช่น การหมุนเวียนเลือด ความดันเลือด การเต้นของหัวใจ ศูนย์ควบคุมการหายใจ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ควบคุมการกลืน การไอ การจาม และอาเจียน
ก้านสมอง (Brain stem)
เป็นส่วนท้ายสุดของสมอง เป็นสมองส่วนที่ต่อเชื่อมกับ
กระดูกสันหลัง
ประกอบด้วยสมองส่วนกลาง พอนส์ และเมดุลลา ออบลองกาตา
ภายในก้านสมองพบกลุ่มเซลประสาทและใยประสาทเชื่อมระหว่างเมดุลลาออบลองกาตากับทาลามัส
เป็นสมองส่วนที่เก่าแก่ที่สุด เพราะพบว่าเป็นสมองส่วนสำคัญของสัตว์โบราณหลายชนิด
ก้านสมองทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานงานของร่างกาย
และเป็นระบบที่ช่วยค้ำจุนชีวิตของเราด้วย แม้ว่าสมองส่วนอื่น ๆ
จะถูกทำลายหมดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าก้านสมองไม่ได้ถูกทำลายด้วยแล้ว
ร่ายกายก็อาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกชั่วขณะหนึ่ง
การทำงานของก้านสมองเป็นการทำงานในระดับจิตไร้สำนึก(unconscious)เป็นฟังค์ชั่นการทำงานที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด
เป็นความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเพื่อการอยู่รอดในโลกธรรมชาติเช่นเดียวกับสัตว์อื่น
หรืออาจเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตก็ได้
ความสามารถของเด็กทารกที่เพิ่งเกิดใหม่ ๆ
ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานของก้านสมองทั้งสิ้น(ชิชิโร อิเกะซะวะ,2542)
ก้านสมองทำงานร่วมกับไขสันหลัง เพื่อควบคุมการทำงานของร่างกาย
และควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติต่าง ๆ เป็นศูนย์การควบคุมการนอนหลับ
การรู้สึกตื่นตัวหรือความมีสติ ศูนย์ควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต
ควบคุมอุณหภูมิและการหลั่งน้ำย่อย การเคลื่อนไหวบริเวณใบหน้า การกลืน การไอ การจาม
การสะอึก และอาเจียน
หน้าที่สำคัญที่สุดของก้านสมอง คือ การควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเรา
โดยก้านสมองจะตัดหน้าที่การทำงานของสมองในขณะที่เราหลับ
และจะจ่ายหน้าที่การทำงานให้กับสมองใหม่เมื่อเราตื่น แม้แต่ในขณะที่เรากำลังหลับ
ก้านสมองก็ยังคอยควบคุมและตรวจสอบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย
เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย
การทำงานของก้านสมองคล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ คือ
จะมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบข้อมูลทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาสู่สมองทางระบบประสาท
จากนั้นก็จะดำเนินการกับข้อมูล รวมถึงการส่งสัญญาณข้อมูลนั้นกลับไปที่ระบบประสาท
เพื่อการควบคุมร่างกายทั้งหมด ก้านสมองจะทำงานโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
แม้ว่าเราอาจจะสังเกตผลจากการทำงานนั้นอยู่บ้างก็ตาม
ทำนองเดียวกับการที่เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเรากำลังหายใจนั่นเอง
เรติคูลาร์ ฟอร์เมชั่น (Reticular formation)
เป็นกลุ่มเซลภายในก้านสมองที่ทอด ตัวอยู่ในแกนกลางของก้านสมองส่วนสีเทา
ตั้งแต่ไขสันหลัง เมดัลลาออบลองกาตา และพอนส์ สมองส่วนกลาง จนถึงทาลามัส
สามารถรับข้อมูลและผสมผสานข้อมูลจากทุกส่วนของระบบประสาทกลางได้พร้อมกันเกือบทุกเซลล์
สำหรับการควบคุมอวัยวะภายใน ระบบประสาทที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
เราเรียกว่าระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system)
ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของโลหิต การย่อยอาหาร การหายใจ อวัยวะสืบพันธ์
และการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังควบคุมต่อมสำคัญ ๆ
ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายด้วย ระบบประสาทอัตโนมัติจะเป็นการทำงานโดยอิสระของสมอง
โดยลำตัวเซลล์ประสาทจะจับกลุ่มกันในปมประสาทใกล้กระดูกสันหลัง
และจะทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับเท่านั้น
ถึงแม้ว่าก้านสมองจะเป็นส่วนสำคัญของระบบประสาทอัตโนมัตินี้
แต่เราจะไม่รู้สึกถึงการทำงานของมันเลย
ระบบดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ
ระบบประสาทซิมพาเทติก(Sympathetic nervous
system)และระบบประสาทพาราซิมพาเทติก(Parasympathetic nervous system)
ซึ่งทั้งสองส่วนจะทำงานตรงข้ามกันเสมอ โดยระบบประสาทซิมพาเทติก(Sympathetic nervous
system)จะทำหน้าที่กระตุ้นอวัยวะทำงานมากขึ้น
แต่อีกระบบหนึ่งระบบประสาทพาราซิมพาเทติก(Parasympathetic nervous
system)คือจะกระตุ้นให้อวัยวะหยุดทำงาน เช่น
เวลาโกรธหรือเครียดระบบประสาทซิมพาเทติกก็จะกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินออกมา
ทำให้หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง พอหายโกรธหรือเครียด ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก
ก็จะกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหยุดหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน
ซึ่งจะทำให้สภาพการเต้นของหัวใจและความดันเลือดกลับสู่สภาพปกติ เป็นต้น
ระบบทั้งสองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเช่นนี้ จึงจะทำให้อวัยวะทำงานได้อย่างสมดุล