สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

มานุษยวิทยา

มานุษยวิทยาภาคสังคม

เป็นรูปแบบการศึกษาของวิชามานุษยวิทยาในประเทศอังกฤษ ก่อตั้งโดยแรดคลิฟบราวน์ (A.R. Radcliffe-Brown) และมาลิเนาสกี้ (Bronislaw Malinwski) ผู้เป็นบิดาร่วมกันของทฤษฎีโครงสร้าง-การหน้าที่นิยม (Structural-functionalism) ในแขนงของมานุษยวิทยา (จะกล่าวโดยละเอียดในส่วนของทฤษฎีทางมานุษยวิทยา)

สาขานี้มีมโนภาพสำคัญคือโครงสร้างทางสังคมและการหน้าที่ (Social structure และ function) และมีทฤษฎีสำคัญคือทฤษฎีโครงสร้างการหน้าที่นิยมดังกล่าว โดยใช้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจ ระบบเครือญาติหรือการเกิดสงคราม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสังคม เนื้อหาสาระของมานุษยวิทยาสาขานี้มีความคล้ายคลึงกับวิชาสังคมวิทยา (Sociology) แรดคลิฟบราวน์ (A.R. Radcliffe-Brown) จึงเสนอชื่อว่า “สังคมวิทยาเปรียบเทียบ” อย่างไรก็ดีทั้งสองสาขา (มานุษยวิทยาภาคสังคมและสังคมวิทยา) ยังคงมีความแตกต่างกันนั่นคือมานุษยวิทยาภาคสังคมเน้นการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนหรือสังคมต่างๆ

แนวคิดทฤษฎีสำคัญของมานุษยวิทยาภาคสังคมไม่ได้ใช้ศึกษาวัฒนธรรมทั้งหมด เพียงแต่ศึกษาบางส่วนของพฤติกรรมมนุษย์เท่านั้น เช่นเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ศาสนา กฎหมายหรือค่านิยม เป็นต้น แต่เป็นแนวทางที่มองปรากฎการณ์ทางสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายหรือจัดประเภทพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์นั่นเอง



มานุษยวิทยาสังคมไม่สนใจศึกษาพฤติกรรมระดับบุคคลแต่มีเป้าหมายที่จะวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมชาติของสังคมมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ

แต่กระนั้นก็ตามมีนักมานุษยวิทยาบางท่าน เช่นคอทแทค (Kottak) กลับเสนอว่ายังคงมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาภาคสังคม จึงเรียกทั้งสองสาขาวิชานี้รวมกันว่า “วิชามานุษยวิทยาสังคม-วัฒนธรรม” (Sociocultural Anthropology)

» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา

» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา

» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

» ชาติพันธุ์วรรณา

» มานุษยวิทยาภาคสังคม

» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

» ประโยชน์ของวิชามานุษยวิทยา

» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา

» การเปลี่ยนแปลงของแนวทฤษฎีที่ศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวมฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย