ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู

อธิคม สวัสดิญาณ และ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม แปล

ปฏิบัติการทางทหาร

 บทที่ ๑๐ ภูมิประเทศ

อันภูมิประเทศนั้น มีพื้นที่สะดวก มีพื้นที่ซับซ้อน มีพื้นที่ประจัน มีพื้นที่เล็กแคบ มีพื้นที่คับขัน มีพื้นที่ห่างไกล เราไปก็ได้ เขามาก็ได้ เรียกว่าสะดวก พื้นที่สะดวกเยี่ยงนี้ พึงยึดที่สูงโล่งแจ้งก่อน รักษาเส้นทางเสบียง ก็รบจักชนะ ไปได้ แต่ถอยกลับยาก เรียกว่าซับซ้อน พื้นที่ซับซ้อน เยี่ยงนี้ หากข้าศึกไม่ระวัง ออกตีจักชนะ

หากข้าศึกเตรียมพร้อม ออกตีไม่ชนะ ถอยกลับก็ลำบาก ไม่เป็นผลดี เราออกตีไม่ดี เขาออกตีก็ไม่ดี เรียกว่าประจัน พื้นที่ประจันเยี่ยงนี้ แม้สภาพข้าศึกเป็นประโยชน์แก่เรา เราก็ไม่ออกตี พึงนำทัพแสร้งถอย ให้ข้าศึกรุกไล่มากึ่งหนึ่ง จึงหวนเข้าตี เป็นผลดี พื้นที่เล็กแคบ เราพึงยึดก่อน วางกำลังหนาแน่นรอคอย ข้าศึก หากข้าศึกยึดก่อนวางกำลังหนาแน่นอย่าเข้าตี หากกำลังข้าศึกเบาบางก็จงเข้าตี พื้นที่คับขัน เราพึงยึดก่อน เลือกที่สูงโล่งแจ้งรอคอยข้าศึก หากข้าศึกยึดก่อน ให้ถอยเสีย อย่ารบด้วย พื้นที่ห่างไกล กำลังก้ำกึ่ง ยากจักท้ารบ ฝืนรบไม่เป็นผลดี หกประการนี้ คือหลักแห่งการใช้ภูมิประเทศ เป็นหน้าที่สำคัญของแม่ทัพ จักไม่พินิจพิเคราะห์มิได้ ฉะนั้น ความปราชัยของกองทัพ จึงมีที่เตลิดหนี มีที่หย่อนยาน มีที่ล่มจม มีที่พังทลาย มีที่ปั่นป่วน มีที่ยับเยิน หกประการนี้ มิใช่ภัยจากฟ้า เป็นความผิดของแม่ทัพ กำลังก้ำกึ่ง กลับเอาหนึ่งไปรบสิบ ทัพจึงเตลิดหนี

ไพร่พลแข็งแกร่งแต่นายกองอ่อน ทัพจึงหย่อนยาน นางกองแข็งแต่ไพร่พลอ่อน ทัพจึงล่มจม ขุนพลฉุนเฉียงไม่ฟังบัญชา เผชิญศึกก็โทสะออกรบพลการ แม่ทัพไม่รู้ความสามารถของขุนพล ทัพจึงพังทลาย แม่ทัพอ่อนแอไม่เขั้มงวด การฝึกอบรมไม่จะแจ้ง นายกองและไพร่พลมิรู้ที่จะปฏิบัติ การจัดกำลังก็สับสน ทัพจึงปั่นป่วน

แม่ทัพคาดคะเนข้าศึกมิได้ เอาน้อยรบมาก เอาอ่อนตีแข็ง ไพร่พลมิเฟ้นที่กล้า ทัพจึงยับเยิน หกประการนี้ คือหนทางแห่งความปราชัย เป็นหน้าที่สำคัญของแม่ทัพ จักไม่พินิจพิเคราะห์มิได้

อันลักษณะภูมิประเทศนั้น คือสิ่งช่วยการศึก การคาดคะเนข้าศึกเพื่อชิงชัย การพิจารณาพื้นที่คับขันอันตรายหรือไกลใกล้ จึงเป็นคุณสมบัติของแม่ทัพเอก ผู้รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักชนะ ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักแพ้

ฉะนั้น เมื่อวิถีการรบจักชนะ แม้เจ้านายห้ามรบ ก็พึงรบเมื่อวิถีการรบจักไม่ชนะ แม้เจ้านายให้รบ ก็มิพึงรบ ฉะนั้น รุกไม่แสวงหาชื่อเสียง ถอยไม่หลงเลี่ยงอาญา มุ่งปกป้องซึ่งทวยราษฎร์เอื้อประโยชน์แด่เจ้านาย นับเป็นดวงมณีของชาติ

ใส่ใจไพร่ลพดุจทารก ก็จักร่วมลุยห้วยเหว ใส่ใจไพร่พลดุจบุตรรัก ก็จักร่วมเป็นร่วมตาย ถนอมแต่ใช้ไม่ได้ รักแต่สั่งไม่ได้ ผิดแต่คุมไม่ได้ ก็จักประดุจเด็กดื้อถือแต่ใจ ใช้การมิได้

รู้ไพร่พลเรารบได้ แต่ไม่รู้ข้าสึกตีไม่ได้ ชนะกึ่งเดียวรู้ข้าศึกตีได้ แต่ไม่รู้ไพร่พลเรารบไม่ได้ ชนะกึ่งเดียว รู้ข้าศึกตีได้ แต่ไม่รู้ภูมิประเทศรบไม่ได้ ชนะกึ่งเกียว ฉะนั้น ผู้รอบรู้การศึก จักเคลื่อนไหวได้ไม่หลง จักทำการได้ไม่อับจน ฉะนั้นจึงกล่าวว่า รู้เขารู้เขา จักชนะมิพ่าย รู้ฟ้ารู้ดิน จักชนะมิสิ้น

ภาคปฏิบัติ

"อันลักษณะภูมิประเทศนั้น คือสิ่งช่วยการศึก"
"การพิจารณาพื้นที่คับขันอันตรายหรือไกลใกล้ จึงเป็นคุณสมบัติของแม่ทัพเอก ผู้รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักชนะ ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักแพ้"
"เมื่อวิถีการรบจักชนะ แม้เจ้านายห้ามรบ ก็พึงรบ เมื่อวิถีการรบจักไม่ชนะ แม้เจ้านยให้รบ ก็มิพึงรบ"
"รุกไม่แสวงหาชื่อเสียง ถอยไม่หลบเลี่ยงอาญา มุ่งปกป้องซึ่งทวยราษฎร์"
 "ใส่ใจไพร่พลดุจบุตรรัก ก็จักร่วมเป็นร่วมตาย"
 "รู้ฟ้ารู้ดิน จักชนะมิสิ้น"

 

การวางแผน
การทำสงคราม
ยุทโธบายเชิงรุก
ลักษณะการยุทธนุภาพ
ยุทธานุภาพ
จริงลวง
การสัประยุทธ์
ความผันแปร 9 ประการ
การเดินทัพ
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่เก้าลักษณะ
โจมตีด้วยไฟ
การใช้จารชน

ปฏิบัติการทางทหาร

ประเมินศึก
การทำศึก
กลวิธีรุก
รูปลักษณ์การรบ
พลานุภาพ
ตื้นลึกหนาบาง
การสัประยุทธ์
เก้าลักษณะ
การเดินทัพ
ภูมิประเทศ
เก้ายุทธภูมิ
โจมตีด้วยเพลิง
การใช้จารชน
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย