ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
ประวัติศาสตร์รถยนต์ในประเทศไทย
รถยนต์เป็นเทคโนโลยี่ของศตวรรษที่ 20 เข้ามาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อไรนั้น
ยังไม่ทราบแน่ชัด
เข้าใจว่าคนที่สั่งรถยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทยคนแรกเป็นชาวต่างชาติ
ไม่ทราบว่าเป็นยี่ห้อใด มีรายละเอียดบางประการอธิบายไว้ในสาสน์สมเด็จ
อันเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบของพระบรมศานุวงศ์สองพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ องค์สถาปนิกผู้สังสรรค์สร้างวัดเบญจมบพิตร
กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กนมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
โดยลายพระหัตถ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า
รถยนต์คันแรกในประเทศไทยรูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน มีหลังคาเป็นปะรำ
มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่
เช่นเดียวกับรถยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เครื่องยนต์มีกำลังเพียงพอสำหรับวิ่งบนที่ราบ
แต่ไม่เพียงพอที่จะขึ้นสะพานได้ ข้อด้อยดังกล่าวจึงจึงทำให้การใช้งานมีขีดจำกัด
เนื่องจากบางกอกสมัยนั้นใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก
สะพานข้ามคลองจึงต้องยกสูงเพื่อให้เรือลอดได้ แต่กลับเป็นปัญหาสำคัญในการใช้รถยนต์
หรือยวดยานที่มีล้อ
หลังจากนำรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน ชาวต่างชาติผู้นั้นก็ขายต่อให้แก่
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)
ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ก่อกำเนิดยุครถยนต์ในประเทศไทย
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นคนหัวสมัยใหม่ นิยมชมชอบในเรื่องเครื่องยนต์กลไก
ทั้งใฝ่รู้ในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และพอใจที่จะเป็นเจ้าของเครื่องยนต์กลไกแปลกใหม่
ในทันทีที่มีการจำหน่าย
ในลายพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าว่า
ในตอนแรกที่ซื้อรถคันดังกล่าวมา เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไม่สามารถขับได้
เพราะเกียร์แข็ง เข้ายาก ต้องให้น้องชายคือ พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต)
แก้ไขให้ พระยาอนุทูตวาที มีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2413-2482
และมีหัวในเรื่องเครื่องยนต์กลไก และเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถพันทุ่นมอเตอร์ได้
เป็นคนไทยคนแรกที่ไปรับจ้างทำงานในประเทศอังกฤษ
จึงเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถขับรถยนต์ในประเทศไทยด้วย
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)
พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต)
พระยาอนุทูตวาที สามารถเรียนรู้การขับรถยนต์คันดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นอีกด้วย รถยนต์ของเจ้าพระยาสรุศักดิ์มนตรี วิ่งใช้งานตามถนนในเมืองบางกอกอยู่นานหลายปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และทรงขอให้นำรถยนต์คันดังกล่าวมาตั้งแสดงด้วย จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็ยอมอนุญาติด้วยความเต็มใจ โดยกราบทูลว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนำรถไปซ่อมที่กองลหุโทษ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทราบต่อมาภายหลังว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะซ่อมเสร็จ และรถก็ถูกทอดทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล จนเมื่อได้เสด็จไปที่กองลหุโทษ และถามหารถคันดังกล่าว พนักงานก็ทำท่าพิศวง และยิ้มอย่างสลดใจ แล้วนำเสด็จไปยังมุมห้อง ณ ที่นั้น คือกองโลหะที่หลงเหลือจากน้ำมือพ่อค้าเศษเหล็ก และนั่นคือจุดจบของรถยนต์คันแรกในประเทศไทย จากฝุ่นธูลีสู่เศษสนิม
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ในปี พ.ศ. 2447 มีรถยนต์ 3 คัน เข้ามาวิ่งตามถนนในเมืองบางกอก
ไม่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร ใครเป็นเจ้าของ
ช่วงนั้นรัฐบาลเริ่มเล็งเห็นในบทบาทและความสำคัญของรถยนต์แล้ว
โดยได้แจ้งความโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ในปีเดียวกัน
ระบุว่าโรงกษาปณ์หลวงมีความต้องการซื้อรถยนต์บรรทุกแวนเพื่อใช้ขนส่งทองแท่ง
เงินแท่ง และเหรียญกษาปณ์ หนักหนึ่งตัน ต้องวิ่งได้เร็วไม่น้อยกว่า 10
ไมล์ต่อชั่วโมง พร้อมด้วยหลังคาปะรำสำหรับคนขับ และพนักงานประจำรถ
ในปีเดียวกันอีก พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงพระประชวร ต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ปารีส
ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ประทับอยู่ที่นั่น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์คันหนึ่ง
เป็นรถเดมเลอร์-เบนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นรถชั้นเยี่ยมในยุคนั้น
ทรงซื้อรถคันดังกล่าวจาก มองซิเออร์ เอมีเลอ เจลลีเนค
ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยี่ห้อนั้น ในประเทศฝรั่งเศส มองซิเออร์ เอมีเลอ
เจลลีเนค มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ เมร์เซเดส ต่อมาภายหลังชื่อนี้ถูกนำไปใช้แทนชื่อ
เดมเลอร์ กลายเป็น เมร์เซเดส- เบนซ์ ที่เลื่องลือไปทั่งโลก
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปลายปีนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ได้น้อมเกล้าถวายรถคันดังกล่าวแด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นับได้ว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยพระเจ้าลูกยาเธอ
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรับหน้าที่เป็นสารถีด้วยพระองค์เอง