ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม>>
ประเพณีสงกรานต์
วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม
อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น
และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน
สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด
โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
ปัจจุบันแม้ไทยเราจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม
แต่ลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน
ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ
การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ
ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ
ที่เทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูลผูกพันซึ่งกันและกัน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13, 14 และ 15
เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการต่อเนื่องกัน
เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน เพื่อไปร่วมทำบุญ
เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง
นอกจากไทยแล้ว หลาย ๆ ประเทศอย่างมอญ พม่า เขมร ลาว
รวมถึงชนชาติไทย เชื้อสายต่าง ๆ ในจีน อินเดีย
ต่างก็ถือตรุษสงกรานต์เป็นประเพณีฉลองปีใหม่เช่นเดียวกับเรา
เพียงแต่ในประเทศไทยได้มีการสืบสานและวิวัฒนาการประเพณีสงกรานต์จนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีความพิเศษ
จนแม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังให้ความสนใจ และรู้จักประเพณีนี้เป็นอย่างดี
สงกรานต์
เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษจีน
หรือที่เรียกกันรวม ๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์
ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย
ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ในวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1
มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ในสมัยโบราณ ไทยเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย
เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งคนสมัยก่อนจะถือว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) เป็นการเริ่มต้นปี
ซึ่งจะตกอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม
ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติ
และฤดูการผลิต วันขึ้นปีใหม่จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
หรือประมาณเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการนับปีใหม่ตามเกณฑ์จุลศักราช
โดยถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่
ครั้นในปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ 5) ได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่
ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติแทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล
ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
อันเป็นการนับปีใหม่แบบสากลนิยม ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา
ประเทศไทยเราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม และใช้กันมาจนปัจจุบัน
คำว่า ตรุษ เป็นภาษาทมิฬ ใช้ในชนเผ่าหนึ่งทางอินเดียตอนใต้ แปลว่า ตัด หรือขาด
คือ ตัดปี หรือขาดปี หมายถึงการสิ้นปีนั่นเอง ตามปกติการกำหนดวันตรุษ
หรือวันสิ้นปีจะถือหลักทางจันทรคติ
(วิธีนับวันและเดือนถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก) คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4
ส่วนคำว่า สงกรานต์ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน
หรือเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง
เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า
สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ
เมื่อใดก็ตามจะเป็นสงกรานต์ปี และเรียกชื่อพิเศษว่า มหาสงกรานต์
ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ
วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก)
ดังนั้น การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13,
14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วัน จะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ 12 เดือน
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษ ประจำที่เรียบร้อยแล้ว
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การกำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย 1 องศา
ทั้งสามวันนี้ ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์
อันเป็นการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริงแล้ว ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น
วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ 14 เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ 13 เมษายน
แต่เพื่อให้จดจำได้ง่ายและไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
ดังได้กล่าวแล้วว่า สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย
ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน
บรรพบุรุษของเราได้กำหนดธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ
เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยอย่างแท้จริง เช่น ความกตัญญู
ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทรทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ความสนุกสนานรื่นเริง
เป็นต้น
วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว
รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย
เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี
ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมนั้น ๆ มาแล้ว
ส่วนวันที่ 14 เมษายนของทุกปี รัฐบาลก็ได้กำหนดให้เป็น
วันครอบครัว เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าว
เป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวอยู่แล้ว
จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรักความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ
ที่เราได้ถือปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมานั้น มีความมุ่งหมายให้เกิดความสงบสุขแก่จิตใจ
ครอบครัว และสังคมเป็นสำคัญ กิจกรรมที่ทำก็มีอย่างหลากหลาย
และมีเหตุผลในการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้น ซึ่งสามารถประมวลกิจกรรมต่าง ๆ
ได้ดังต่อไปนี้
- ก่อนวันสงกรานต์ เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล
และ ต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
กิจกรรมที่ทำได้แก่
- การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็น
- การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย
- การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาว ของหวานที่พิเศษ ได้แก่ การเตรียมขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษและวันสงกรานต์ นั่นคือ ข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และ ขนมกวนหรือกาละแมสำหรับวันสงกรานต์ - ช่วงวันสงกรานต์ เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็จะเป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส
ทำใจให้เบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด การทำบุญอัฐิ อาจจะทำตอนไหนก็ได้ เช่น หลังจากพระภิกษุ-สามเณร ฉันเพลแล้ว หรือจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ ฉันเพลที่บ้าน แล้วบังสุกุลก็ได้ การทำบุญอัฐิ อาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หากไม่มีให้เขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษแผ่นนั้นเสีย เช่นเดียวกับการเผาศพ
- การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป
1) การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระจะมีการถวายผ้าสบง หรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย
2) การสรงน้ำพระพุทธรูป
อาจจะจัดเป็นขบวนแห่หรือเชิญมาประดิษฐานในที่เหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ - การก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 13 15 เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน
- การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะ การปล่อยนกปล่อยปลาที่ติดกับดัก บ่วงให้สู่อิสระ หรือปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจจะตายได้ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบเดิม
- การรดน้ำผู้ใหญ่หรือการรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การรดน้ำผู้ใหญ่อาจจะรดน้ำหรือรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ ดังนั้น จึงควรมีผ้านุ่งห่มไปมอบให้ด้วย เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว
- การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่าง ๆ แล้ว เป็นการเล่นรดน้ำเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบา ๆ ด้วยความสุภาพ
- การเล่นรื่นเริงหรือมหรสพต่าง ๆ เป็นการเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งยังเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป เช่น ลิเก ลำตัด โปงลาง หมอลำ หนังตะลุง
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว บางแห่งยังมีการทรงเจ้าเข้าผีเพื่อความสนุกสนาน เช่น
การเข้าทรงแม่ศรี การละเล่นสะบ้า เล่นลูกข่าง เล่นเพลงพิษฐาน (อธิษฐาน)
สุดแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ
ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น
การยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
และความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ
ปัจจุบันแม้ประเพณีสงกรานต์ในหลายท้องที่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น
โดยเฉพาะตามจังหวัดใหญ่ ๆ
อย่างไรก็ดีในแต่ละภูมิภาคก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ คือ ภาคเหนือ
หรือที่เรียกว่า ล้านนา เขาจะเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่า วันสงกรานต์ล่อง
(อ่นาสังขานล่อง) หมายถึง วันที่ปีเก่าผ่านไป หรือวันที่สังขารร่างกายแก่ไปอีกปี
วันนี้ตอนเช้าจะมีการยิงปืน หรือจุดประทัดเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร
จากนั้นก็จะมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ชำระล้างร่างกาย
รวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่พื่อต้อนรับปีใหม่
วันที่ 14 เมษายน เรียก วันเนา หรือ วันดา จะเป็นวันเตรียมงานต่าง ๆ
เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญและแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน
วันนี้บางทีเรียกว่า วันเน่า เพราะถือว่าเป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย
เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่า ไม่เจริญ
วันที่ 15 เมษายน เรียก วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก
ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่เป็นวันที่ชาวบ้านจะทำบุญประกอบกุศล เลี้ยงพระ ฟังธรรม
อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์
นำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่
คำว่า ดำหัว ปกติแปลว่า สระผม แต่ในทางประเพณีสงกรานต์ หมายถึง
การไปแสดงความเคารพ ขออโหสิกรรมที่อาจจะล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมา และขอพรจากท่าน
โดยมีดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำหอมที่เรียกว่า น้ำขมิ้นส้มป่อย
(ประกอบด้วยน้ำสะอาดผสมดอกไม้แห้ง เช่น สารภี หรือดอกคำฝอย และผักส้มป่อยเผาไฟ)
พร้อมทั้งนำของไปมอบผู้ใหญ่ เช่น ผลไม้ เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ
เมื่อผู้ใหญ่กล่าวอโหสิกรรม และอวยพร ท่านจะใช้มือจุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศรีษะตนเอง
ถัดจากวันพญาวัน เรียกว่า วันปากปี จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา
และการทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ (คือการไหว้เทวดาประจำทิศ)
รวมถึงการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน
นอกจากนี้หลายท้องที่ยังจัดการละเล่นรื่นเริง สนุกสนาน มีมหรสพการแสดง
หรือมีการจัดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมไปด้วย เช่น การประกวดกลองมองเซิง
กีฬาพื้นเมือง เป็นต้น
ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีสงกรานต์จะจัดกิจกรรม 3 วันบ้าง 5
วันบ้าง หรืออาจจะ 7 วัน ก็แล้วแต่ท้องถิ่นกำหนด โดยวันแรกจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน
กิจกรรมที่จะจัดคล้ายกับทางเหนือ กิจกรรมหลัก ๆ คือ สรงน้ำพระพุทธรูป
ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอยู่วันเดียว โดยมากจังหวัดจะจัดขบวนแห่
ประกอบด้วยพระพุทธรูปและบริวารอื่น ๆ เมื่อแห่เสร็จก็จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป
และพระสงฆ์ตามลำดับ
จากนั้นก็มักมีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า สักอนิจจา
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ คนอีสานที่ไปทำมาหากินหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างถิ่น
มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันสงกรานต์เพื่อรวมญาติ
และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนี้ก็มีการปล่อยสัตว์ ปล่อยนกปล่อยปลา ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ
ก็มีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การแสดง และการละเล่นต่าง ๆ ตามประเพณีท้องถิ่น
ด้านคนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันด้วยความสนุกสนาน
เชื่อมสัมพันธ์กันและกัน โดยก่อนวันสงกรานต์จะมีการทำความสะอาดบ้าน
การเตรียมอาหารและทุกสิ่งไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้งดการทำภารกิจต่าง ๆ ในช่วงสงกรานต์
ซึ่งถือเป็นวันเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ทุกคนรอคอย
ภาคใต้ จะเรียก
วันสงกรานต์ ว่า ประเพณีวันว่าง ถือว่าเป็น วันละวางกายและใจ จากภารกิจปกติ
ซึ่งตามประเพณีจะจัดกิจกรรม 3 วัน คือ วันที่ 13, 14 และ 15 เมษายนของทุกปี
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันเจ้าเมืองเก่า หรือ
วันส่งเจ้าเมืองเก่า เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
ในวันนี้มักจะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ
รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ที่เรียกว่า ลอยเคราะห์ หรือลอยแพ
เพื่อให้เคราะห์กรรมต่าง ๆ ลอยตามไปกับเจ้าเมืองเก่าไป
และมักจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญในวันนี้
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันว่าง คือ
วันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่าง ๆ
แล้วไปทำบุญที่วัด และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ คือ
วันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม
วันนี้ชาวเมืองมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับใหม่
แล้วนำอาหารไปทำบุญที่วัด
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ชาวใต้ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลา
การก่อเจดีย์ทราย และการเล่นสาดน้ำเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ
และในสมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีคระเพลงบอกออกไปตระเวนร้องตามชุมชนหรือหมู่บ้าน
โดยมีการร้องเป็นตำนานสงกรานต์ หรือเพลงอื่น ๆ ตามที่เจ้าของบ้านร้องขอด้วย
ภาคกลาง ประเพณีสงกรานต์ในภาคกลางจะมีกิจกรรมหลัก ๆ คล้ายภาคอื่น ๆ เช่นกันคือ
การทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ ก่อนวันสงกรานต์ ครั้นถึงวันสุกดิบ
(ก่อนสงกรานต์หนึ่งวัน) ก็จะเป็นการเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตร
หรือนำไปถวายพระที่วัด ซึ่งอาหาร/ขนมที่นิยมทำในเทศกาลนี้ ได้แก่ ข้าวแช่
ข้าวเหนียวแดง กะละแม ลอดช่อง เป็นต้น
จากภาพรวมของกิจกรรมต่าง ๆ ในวันสงกรานต์จะเห็นได้ว่า
สงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู
ความเคารพซึ่งกันและกัน
เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม
โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ประเพณีที่ถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น
ประเพณีสงกรานต์นี้ จึงย่อมมีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้ปฏิบัติ ชุมชน
และสังคมเป็นอย่างยิ่ง
วันสงกรานต์เป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่
โดยหันกลับมามองตนเอง หรือสำรวจตนเองว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
เราได้กระทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวต่อคนรอบข้าง
และต่อสังคมแล้วหรือยัง เราใสใจกับสุขภาพร่างกายของตนเองมากน้อยแค่ไหน
บางคนมัวแต่ทำงานจนลืมดูแลตัวเอง ลืมเอาใจใส่ครอบครัว บุพการี
เรามีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่หรือไม่
และนับจากนี้ไปเราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข
หลาย ๆ
คนจึงถือเอาวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่นี้เป็นวันเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตใหม่
- วันสงกรานต์เป็นวันแห่งความรักผูกพันในครอบครัวอย่างแท้จริง
พ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอพร เมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ รดน้ำขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป - วันสงกรานต์เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนิบัติต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- นสงกรานต์เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ได้ พบปะสังสรรค์ ได้ทำบุญร่วมกัน และได้เล่นสนุกสนานรื่นเริงกันในยามบ่ายหลังจากการทำบุญ โดยการเล่นรดน้ำในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จัก และการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น
- สงกรานต์เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะ ก่อนวันสงกรานต์ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนสิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดหมดจด เพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน นอกจากนี้ควรช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
- วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และสรงน้ำพระ การศรัทธาในการทำบุญทำทาน ถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ และการถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหมาย สาระ และคุณค่าของวันสงกรานต์ดังกล่าว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเราจึงควรเลือกประพฤติปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นแก่นแท้ หรือที่เป็นเนื้อหาสาระของประเพณีสงกรานต์อย่างแท้จริง กิจกรรมใดที่หลงเหลือแต่เพียงรูปแบบแต่ขาดซึ่งความหมายที่แท้จริง เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งปัจจุบันมิได้ทำเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้พระภิกษุสงฆ์ได้นำทรายไปใช้ในการก่อสร้างวัด หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจเพื่อซื้อ ขาย ก็อาจจะมีความจำเป็นต้องยกเลิกไปหรือปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัยหากจำเป็น
กิจกรรมที่สมควรประพฤติปฏิบัติในวันสงกรานต์ เพื่อสืบทอดความดีงามของคุณค่าของประเพณีนี้ไว้ มีดังนี้
- การทำบุญตักบาตรหรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการให้ เสียสละ โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน
- การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว
- การสรงน้ำพระทั้งพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา
- การรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะผู้อาวุโสน้อยพึงปฏิบัตต่อผู้อาวุโสมาก เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เป็นการแสดงความสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนโยน และขอรับพร ซึ่งผู้อาวุโสกว่าเหล่านั้นจะได้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข และได้ข้อคิดเตือนใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างไม่ประมาท
- การเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่ หรือที่มือพร้อมกับอวยพรให้มีความสุข
- การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ เพื่อเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป
อนึ่ง
ในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไป
ก็สมควรให้ปฏิบัติไปตามนั้น
เพื่อเป็นการเคารพภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้กลั่นกรองเลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง
ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยตรง
ที่จะเลือกรับหรือไม่รับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งสิ่งใหม่ ๆ
ที่แทรกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง
การจัดพิธีรดน้ำขอพร การจัดรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในบ้าน
- จัดสถานที่และที่นั่งให้เหมาะสม เช่น ในบ้านหรือบริเวณลานบ้าน
โดยจะให้ ท่านนั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งกับพื้นก็ดูความสะดวกของท่าน
- จัดน้ำผสมน้ำอบหรือน้ำหอม (อาจลอยดอกไม้เพิ่ม เช่น กลีบกุหลาบ มะลิ) ใส่ขัน
หรือภาชนะที่เหมาะสมไว้สำหรับรดน้ำพร้อมภาชนะรองรับ
- การรดน้ำขอพร ให้รดน้ำที่ฝ่ามือทั้งสองของท่าน โดยผู้ใหญ่แบมือ ไม่ต้องประนม
เมื่อลูกหลานมารดน้ำ ผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรหรืออาจจะเอาน้ำที่รดให้ลูบศีรษะผู้มารด
เมื่อรดน้ำเสร็จแล้วบางครั้งก็อาจจะอาบน้ำจริง คือ รดแบบทั้งตัว
แล้วนำผ้าใหม่มาให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนก็ได้
การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในที่ทำงานหรือชุมชนต่าง ๆ
จัดแบบไม่เป็นทางการ
ส่วนใหญ่จะใช้ห้องของผู้ใหญ่/ผู้บังคับบัญชาเอง หรือห้องที่เห็นว่าเหมาะสม
แล้วจัดน้ำสำหรับรดและภาชนะรองรับเตรียมไว้ให้พร้อม
จากนั้นเชิญท่านมานั่งในบริเวณที่จัดไว้พร้อมเชิญทุกคนมาร่วมรดน้ำขอพร
เมื่อแล้วเสร็จท่านอาจจะกล่าวให้พรอีกครั้ง ตัวแทนก็มอบของที่ระลึก
อาจจะเป็นผ้าหรือของกินของใช้ ตามแต่จะเห็นสมควร
จัดแบบพิธีการ มักจะมีการจัดโต๊ะสรงน้ำพระพุทธรูป
พร้อมจัดตกแต่งสถานที่อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เมื่อเริ่มพิธี
จะมีพิธีกรกล่าวแนะนำและเชิญผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไปนั่งยังสถานที่ที่จัดไว้
เมื่อรดน้ำเสร็จผู้ใหญ่ก็จะกล่าวอวยพร และเป็นตัวแทนมอบของขวัญแก่ท่าน
พระพุทธสิหิงค์กับวันสงกรานต์
การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณมายังบริเวณท้องสนามหลวง
เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการบูชาและสรงน้ำในวันสงกรานต์นั้น เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2477
ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยทางการเป็นผู้จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล
และเป็นขวัญกำลังใจในโอกาสเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย ดังนั้น
ทุกวันสงกรานต์เราจึงได้สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ปีละครั้ง
และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ตำนานพระพุทธสิหงค์
ตามประวัติเล่าว่า
พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกา 3 พระองค์
ได้ร่วมพระทัยพร้อมกับพระอรหันต์ในเกาะลังกา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 700
โดยมีพระยานาคที่เคยได้เห็นพระพุทธองค์ได้แปลงกายมาเป็นแบบ
และได้ประดิษฐานเป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวลังกามาเป็นเวลาช้านาน
ต่อมาสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้ทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์
ก็โปรดเกล้าฯ ให้แต่งทูตเชิญพระราชสาส์นไปขอประทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกา
พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย
จากนั้นด้วยสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสมัยต่อ ๆ มา
พระพุทธสิหิงค์จึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่พิษณุโลก อยุธยา
กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ จนมาสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท จึงได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังกรุงเทพฯ
เมื่อปี พ.ศ. 2338 และได้ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระพุทธรูปที่ทรงพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์ อยู่ 3
องค์ คือ
1. ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือ
องค์ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยวัสดุโลหะสัมฤทธิ์
2. ในหอพระสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างในลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
มีพระพักตร์กลมอมยิ้ม หล่อด้วยวัสดุโลหะสัมฤทธิ์
3. ในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
หล่อด้วยวัสดุโลหะสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง เป็นศิลปะสมัยเชียงแสนรุ่นแรก
ตำนานนางสงกรานต์
นอกจากความหมาย สาระ คุณค่า
และแนวทางในการปฏิบัติเนื่องในเทศกาลสงกรานต์แล้ว หลายคนคงสงสัยว่าแล้ว
นางสงกรานต์ มาเกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ตรงไหน
เรื่องนางสงกรานต์นี้เป็นคติความเชื่ออยู่ใน ตำนานสงกรานต์ ซึ่งรัชกาลที่ 3
ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว
พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษและถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ
โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยเรื่องเล่าว่า
มีเศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร
จึงถูกนักเลงสุราข้างบ้านซึ่งมีบุตรสองคนกล่าวคำหยาบคายดูหมิ่นในทำนองว่าถึงจะร่ำรวยเงินทอง
แต่ก็ไม่มีบุตรสืบสกุล ตายไป สมบัติก็สูญเปล่า สู้ตนผู้มีบุตรก็ไม่ได้
เศรษฐีได้ฟังแล้วเกิดความละอาย จึงไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์
แต่ผ่านไปสามปีก็ยังไม่มีบุตร อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์
จึงได้ไปอธิฐานขอบุตรจากพระไทร พระไทรสงสารจึงไปขอพระอินทร์
ท่านจึงได้ส่งธรรมบาลเทวบุตรจุติมาเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร
ซึ่งเมื่อเจริญวัยขึ้นก็รู้ภาษานก และเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุเพียงเจ็ดปี
ต่อมาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์
แต่ขณะนั้นท้าวกบิลพรหมเป็นผู้ทำหน้าที่แสดงมงคลทั้งปวงแก่มนุษย์อยู่ก่อนแล้ว
จึงเกิดความไม่พอใจ ไปท้าธรรมบาลกุมารให้ตอบปริศนาสามข้อ
โดยมีข้อแม้ว่าหากธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จะต้องตัดศีรษะบูชาตน
หากตอบได้ตนก็จะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมารแทน ปริศนาดังกล่าวมีอยู่ว่า
ข้อที่ 1 ราศี อยู่ที่ใด (ราศี หมายถึง ความอิ่มเอิบ ความภาคภูมิ)
ข้อที่ 2 เที่ยง ราศี อยู่ที่ไหน
ข้อที่ 3 ค่ำ ราศีอยู่ที่ใด
ธรรมบาลกุมารขอผัดไปเจ็ดวัน ปรากฏว่าเวลาล่วงถึงวันที่หก
ก็ยังคิดหาคำตอบไม่ได้ จึงไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล
บังเอิญขณะนั้นได้ยินเสียงนกอินทรีย์สองผัวเมียคุยกันว่า
วันรุ่งขึ้นจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร เพราะตอบปริศนาไม่ได้
พร้อมกันนั้นนกตัวผู้ก็ได้เฉลยคำตอบแก่นกตัวเมียว่า เช้า
ราศีอยู่ที่หน้ามนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้า เที่ยง
ราศีอยู่ที่อกมนุษย์จึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ค่ำ
ราศีอยู่ที่เท้ามนุษย์จึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารได้ยินก็สามารถตอบปริศนาได้
ดังนั้น ท้าวกบิลพรหม จึงต้องตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ก่อนจะตัดศีรษะ
ท้าวกบิลพรหมก็ได้เรียกธิดาทั้งเจ็ดของตนที่เป็นบาทบริจาริกา
(แปลว่านางบำเรอแทบเท้าหรือสนม) ของพระอินทร์มาสั่งเสียว่าในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง
ดังนั้น จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับศีรษะที่ถูกตัด แล้วนำไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ
จากนั้นก็อัญเชิญประดิษฐานที่มณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน
ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์
เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะต่าง ๆ ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่
โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฎในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า
นางสงกรานต์ ส่วนท้าวกบิลพรหม ซึ่งมีอีกชื่อว่า ท้าวมหาสงกรานต์นั้น โดยนัยก็คือ
พระอาทิตย์ นั่นเอง เพราะ กบิล แปลว่า สีแดง
นางสงกรานต์ทั้งเจ็ด
นางสงกรานต์ซึ่งประจำแต่ละวันในสัปดาห์จะมีนาม อาหาร อาวุธ
และสัตว์ที่เป็นพาหนะต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
วันอาทิตย์ นาม ทุงสะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค หรือปัทมราช
(พลอยสีแดง) ภักษาหารมะเดื่อ หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ
วันจันทร์ นาม นางโคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา (ไข่มุก)
ภักษาหารน้ำมันหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีเสือเป็นพาหนะ
วันอังคาร นาม นางรากษส (ราก-สด) ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา
ภักษาหารโลหิต หัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีสุกร (หมู) เป็นพาหนะ
วันพุธ นาม นางมณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย
หัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ
วันพฤหัสบดี นาม นางกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา
หัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือปืน มีช้างเป็นพาหนะ
วันศุกร์ นาม นางกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม
ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีกระบือ (ควาย) เป็นพาหนะ
วันเสาร์ นาม นางมโหธร ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับนิลรัตน์
ภักษาหาร เนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูรย์มีนกยูงเป็นพาหนะ
นอกจากนามของนางสงกรานต์แต่ละนามข้างต้น จะเป็นการบอกให้ทราบว่า วัน
มหาสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของปีนั้นตรงกับวันใดแล้ว
ท่าหรืออิริยาบถที่นางสงกรานต์นั่ง/นอน/ยืน บนพาหนะ
ยังเป็นการบอกว่าช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ
ซึ่งแต่ละปีจะไม่เหมือนกันด้วย เพราะสมัยก่อนเขามิได้นับว่าหลังเที่ยงคืน
(ที่ปัจจุบันนิยมเคาน์ดาวน์) จะเป็นเวลาขึ้นปีใหม่ทันที
แต่เขาจะนับจากช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีน มาอยู่ในราศีเมษ
ซึ่งอาจจะเป็นเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น หรือค่ำก็ได้ ดังนั้น
อิริยาบถของนางสงกรานต์ที่ขี่พาหนะมาจึงเป็นการบอกให้ทราบถึงช่วงเวลาดังกล่าว
ซึ่งมีด้วยกัน 4 ท่า คือ
1. ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง
นางสงกรานต์จะยืนบนพาหนะ
2. ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเที่ยงจนถึงค่ำ
นางสงกรานต์จะนั่งบนพาหนะ
3. ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน
นางสงกรานต์จะนอนลืมตาบนพาหนะ
4. ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า
นางสงกรานต์จะนอนหลับตามบนพาหนะ
ความเชื่อเกี่ยวกับนางสงกรานต์และวันสงกรานต์
คนสมัยก่อนรู้หนังสือกันน้อย
อีกทั้งยังไม่มีสื่อที่จะบอกเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงวันสำคัญต่าง ๆ
ล่วงหน้าเช่นปัจจุบัน ดังนั้น
ประกาศสงกรานต์ของทางราชการจึงมีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม
ซื่งนอกจากจะมีเนื้อหาข้างต้นแล้วประชาชนส่วนใหญ่ก็จะรอดูรูปนางสงกรานต์ของแต่ละปีด้วย
เนื่องจากรูปนางสงกรานต์จะเป็นเครื่องบอกเหตุการณ์ หรือเป็นการทำนายอนาคตล่วงหน้า
อันเป็นความเชื่อของคนสมัยนั้น
ซึ่งจะมีทั้งการพยากรณ์เกี่ยวกับอิริยบถของนางสงกรานต์ว่า นางใดมาอิริยบทไหน
จะเกิดเหตุเช่นไร รวมไปถึงการทำนายวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกด้วยว่า
หากวันเหล่านี้ตกวันใด จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
สำหรับความเชื่อในเรื่องอิริยบทของนางสงกรานต์ เชื่อกันว่า
1.
ถ้านางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
2. ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย และเกิดเหตุเภทภัยต่าง
ๆ
3. ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
4. ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญร่งุเรืองดี
ส่วนคำทำนายเกี่ยวกับวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ก็มีว่า
- ถ้าวันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองยาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตรย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ
- ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย ทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่าง ๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
- ถ้าวันอังคาร เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล
- ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ
- ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม
- ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรงผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
- ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู
ารพยากรณ์ข้างต้น ก็เช่นเดียวกับทำนายดวงเมืองในปัจจุบัน อันเป็นการคำนวณทางโหรศาสตร์ที่เป็นสถิติชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดเหตุการณ์นั้น ๆ ขึ้นก็ได้ แต่คำทำนายเหล่านี้ก็เป็นเสมือนคำเตือนล่วงหน้าให้ทุกคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท และรู้จักเตรียมวิธีป้องกันหรือแก้ไขไว้ล่วงหน้า