ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ชัชพล ไชยพร
คงไม่เป็นการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า แม้นผู้ใดปรารถนาจักได้ซาบซึ้งถึงพระราชการุณยธรรมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น ว่ายิ่งใหญ่ล้นเหลือปานใดอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็ขอจงเพ่งพิศใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้พระราชธิดาพระองค์นี้เถิด พระกัลยาณวัตรอัธยาศัยอันงดงาม กอปรกับพระกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญไว้เป็นอเนกประการแก่บ้านเมือง ช่างมิได้ผิดแผกไปจากแนวทางตามเบื้องพระบรมบาทยุคลของสมเด็จพระบรมชนกนาถเลยแม้แต่น้อย
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชกุมารีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้า
สุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ อันเป็นเวลาก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียง ๑ วัน แม้สมเด็จพระเจ้าฟ้าพระองค์น้อยพระองค์นั้น จักได้ทรงสถิตในฐานะ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังทรงมีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ยังพระปีติสุดท้ายให้บังเกิดแด่ สมเด็จพระบรมชนกนาถ เพียงครั้งเดียว แต่ครั้นทรงเจริญพระวัยขึ้นโดยลำดับ พระจริยวัตรอัธยาศัย ก็กลับละม้ายคล้ายคลึงกับสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ได้อย่างน่าอัศจรรย์
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรักและนิยมความเป็นไทยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับเคยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษว่า เมื่อใดที่ได้ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับสยามประเทศแล้วจะทรง เป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียน ทั้งนี้ ตลอดระยะแห่งรัชสมัย ก็ได้ทรงพระราชอุตสาหะปลูกฝังความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ให้แน่นแฟ้นในสำนึกของราษฎร อันต้องอาศัยพระบรมราชกุศโลบายหลายแนวทาง ทั้งนี้ มีข้อสำคัญสถานหนึ่งนั่นคือ การที่ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในการนิยมไทย โดยส่วนพระอุปนิสัยประการนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงดำเนินตามเยี่ยงพระราชจริยาในสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างเคร่งครัด ดังที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้บันทึกไว้ สรุปความว่า
แม้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปประทับในต่างประเทศเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี แต่ครั้นได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในพุทธศักราช ๒๕๐๒ แล้ว ก็ทรงนิยมใช้แต่ของไทย โปรดฉลองพระองค์ผ้าไหมไทยที่ตัดเย็บในประเทศ ทรงรองพระบาทและกระเป๋าทรงถือที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนพระสุคนธ์นั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดน้ำอบไทยเป็นอย่างยิ่ง ทรงใช้น้ำอบไทยตั้งแต่พระชนมายุประมาณ ๑๐ พรรษากระทั่งปัจจุบัน
ด้านการใช้ภาษาไทย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจนเสมอ จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติเท่านั้น ทั้งยังไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ หากคำในภาษาต่างประเทศคำใดมีศัพท์บัญญัติในภาษาไทยแล้ว จักต้องกราบทูลด้วยคำไทยเท่านั้น เป็นต้นว่า ล็อคประตู ให้กราบทูลว่า ลงกลอนประตู , เน็ตคลุมผม ให้กราบทูลว่า ร่างแหคลุมผม, ทีวีให้กราบทูลว่า โทรทัศน์, แอร์ ให้กราบทูลว่า เครื่องปรับอากาศ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเป็นแบบอย่างในการประหยัดเพื่อชาติ ทรงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้า ไม่โปรดให้ผู้ใดเปิดไฟฟ้าถวายไว้ล่วงหน้าและเมื่อเสด็จออกจากห้องใดก็ทรงปิดไฟฟ้าด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ เมื่อครั้งพระสุขภาพยังอำนวย ก็ทรงควบคุมการใช้จ่ายเงินส่วนพระองค์ด้วยการลงบันทึกรายรับ-รายจ่ายในสมุดทรงบันทึกอย่างละเอียดรอบคอบ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเปี่ยมด้วยพระกตเวทิตาธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมั่นคง พระกิจวัตรสำคัญประจำวันคือการตั้งพระกระยาหารสังเวยพระบรมอัฐิทุกเวลาเช้าและกลางวัน ครั้นตอนค่ำก็ทรงสวดมนต์ถวายพระราชกุศลและถวายราชสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียน สืบเนื่องมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนทุกวันนี้
พยานแห่งน้ำพระทัยผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ กับสมเด็จพระบรม
ชนกนาถนั้น ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ครั้งหนึ่ง ในคราวที่คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ เฝ้าอยู่เป็นการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้มีรับสั่งกับพระอาจารย์ ความว่า
...ฟ้าหญิงรักทูลกระหม่อมก๊ะมาก ชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นลูกทูลกระหม่อมก๊ะ และขอให้ได้เกิดเป็นคนไทย
แม้ในส่วนพระกรณียกิจนั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงตั้งพระทัยมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันในด้านสังคมสงเคราะห์นานาประการ เมื่ออดีตสมัยที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบันยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ได้เสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ยากไร้อยู่มิได้ว่างเว้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ กอปรกับสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระชนมายุสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง
อย่างไรก็ดี หากได้พิเคราะห์จากบรรดาองค์กรในพระอุปถัมภ์ ตลอดจนสถาบันหรือหน่วยงานที่ทรงอุปการะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ย่อมประจักษ์ได้ว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงเอาพระทัยใส่ สืบสานพระราชกรณียกิจต่อเนื่องจากสมเด็จพระบรมชนกนาถไว้อย่างมิมีบกพร่อง การใดซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริริเริ่มไว้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ทรงพระอุปถัมภ์บำรุงการนั้นให้จำเริญวัฒนาขึ้นเป็นลำดับ โดยอาจยกตัวอย่างเป็นสังเขปได้ดังต่อไปนี้
ด้านการศึกษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงอุปการะสถาบันการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิดไว้เป็นจำนวนมาก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาไว้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ได้ทรงทำนุบำรุงโดยประการต่างๆ อาทิ พระราชทานทุนประเดิมก่อสร้างห้องสมุดกฎหมายในอาคารเทพทวาราวดี ซึ่งเป็นอาคารใหม่ของคณะนิติศาสตร์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญพระนามมาเป็นนามห้องสมุดดังกล่าวว่า ห้องสมุดกฎหมาย เพชรรัตน ตลอดทั้งทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเป็นประธานในงานต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เช่น เสด็จมาทรงเปิดอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ สถาบันวิทยบริการ ในโอกาส ๖๖ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และเสด็จมาทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระพระบรมราชสมภพ ๑๒๐ ปีและ ๘๔ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เป็นต้น
ในส่วนของวชิราวุธวิทยาลัย อดีตโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ทรงเอาพระทัยใส่อย่างสม่ำเสมอ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินส่วนพระองค์บำรุงกิจการของโรงเรียน กับทั้งพระราชทานหนังสือสำหรับห้องสมุดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคราวที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๓ รอบ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินก่อสร้าง ตึกเพชรรัตน เพื่อพระราชทานเป็นอาคารเรียนวิทยาศาสตร์แก่วชิราวุธวิทยาลัย ยิ่งไปกว่านั้น ในยามที่พระพลานามัยอำนวย ก็ได้เสด็จมาทรงปฏิบัติพระราชกรณีย-กิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี อีกทั้งในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โดยในพิธีนี้ จักได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระดำรัสเป็นข้อคิดแก่นักเรียนเป็นประจำทุกปี เช่นในพุทธศักราช ๒๕๒๗ได้พระราชทานพระโอวาทความสำคัญตอนหนึ่งว่า
.ในขณะเดียวกันก็ใคร่เตือนสตินักเรียนไว้ด้วยว่า ความสำเร็จในชีวิตของคนเรานั้นมิได้ขึ้นอยู่กับวิชาความรู้อย่างเดียว ยังต้องอาศัยคุณสมบัติอื่นๆ เป็นองค์ประกอบอีกมาก จึงขอให้นักเรียนทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน หมั่นฝึกฝนตนเองให้ถึงพร้อมด้วยความรู้ความสามารถ และคุณสมบัติอื่นๆ ทั้งในกายและในจิตใจ จักได้สามารถสร้างความสำเร็จ สร้างอนาคตที่ดีงามให้แก่ตนเองและสามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและชาติบ้านเมืองได้ยิ่งๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังทรงรับโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์สมทบการก่อสร้างหรือทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง ไว้ในพระอุปถัมภ์ ได้แก่ โรงเรียนปริ้นส์รอแยลส์วิทยาลัย กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในจังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนศรีอยุธยา ทั้งยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปทรงเยี่ยมกิจการของโรงเรียนดังกล่าวด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงพระยศพันโทหญิง ตำแหน่งผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ ๒ กรมผสมที่ ๕ ซึ่งต่อมาได้แปรสภาพเป็นกรมทหารราบที่ ๑๕ ค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นหน่วยงานทหารที่ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงตรวจพลสวนสนามพร้อมทั้งทรงพระกรุณาพระราชทานเงินจัดตั้ง ทุนเพชรรัตนการุณ เพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลานข้าราชการทหารในกรม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒
ล่าสุดในพุทธศักราช ๒๕๔๔ได้ทรงรับโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์เพชราวุธวิทยา ไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทุนก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทนอาคารเรียนเดิมซึ่งคับแคบและชำรุด อนึ่ง โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเป็นนายทหารพิเศษประจำกรม และต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๕ อนึ่ง เมื่อเดือนมกราคม๒๕๔๕ ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ในฐานะนายทหารพิเศษประจำกรม ก็ได้เสด็จไปทรงเป็นประธานในงานฉลอง ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนากรมนี้
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้ทรงพระยศนาวาเอกแห่งกองทัพเรือ ยังได้ทรงสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถโดยได้พระราชทานทุนประเดิมจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมทั้งพระราชทานพระวโรกาสให้คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างเฝ้ารับพระราชทานแผ่นทอง เงิน นาก ที่ทรงเจิมแล้ว เพื่ออัญเชิญไปหล่อพระบรมรูป เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๕ อนึ่ง มูลเหตุแห่งการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน แก่กองทัพเรือไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการที่ได้ทรงใช้พระบรมราชกุศโลบายอันแยบคาย ระงับปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ โดยทรงประกาศกันเขตที่ดินส่วนนี้ไว้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อกาลต่อมาจักได้ใช้ในราชการแห่งราชนาวี ดังที่ปรากฏเป็นฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบัน
ด้านการสาธารณสุขที่สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงอุปการะกิจการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและวชิรพยาบาลซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้พระราชทานกำเนิดไว้มาโดยตลอด อาทิ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินบำรุงตึกมงกุฎ-เพชรรัตน ที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนีทรงสร้างไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อย่างสม่ำเสมอ กับทั้ง ทรงรับมูลนิธิวชิรพยาบาล และโครงการก่อสร้างอาคารเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์โรคหัวใจไว้ในพระอุปถัมภ์ ทรงอุปการะกิจการของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร อันเป็นวิทยาลัยแพทย์ซึ่งดำเนินงานร่วมกับวชิรพยาบาลเป็นสำคัญ
พระราชกรณียกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงสนองพระบรมราชปณิธานสืบสานไว้ ได้แก่กิจการลูกเสือ-เนตรนารี โดยได้ทรงรับเป็นพระอุปถัมภิกาของคณะลูกเสือแห่งชาติ และเสด็จไปทรงเยี่ยมค่ายในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ เป็นประจำ ทั้งยังทรงพระกรุณาพระราชทานเงินก่อสร้าง เรือนพยาบาลเจ้าฟ้าเพชรรัตน์
ในค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ทรงรับเป็นประธานโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ค่ายหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี ทรงรับสมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญกรุงเทพฯ, ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์ และสโมสรเนตรนารีเพชราวุธ จังหวัดสมุทรสาคร ไว้ในพระอุปถัมภ์ ตลอดทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการรักษาดินแดนซึ่งมีกำเนิดมาจากกองเสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับสมาพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน และสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนไว้ในพระอุปถัมภ์
สำหรับสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงก่อตั้งขึ้น ขณะทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษนั้น ก็ได้ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ยังได้เสด็จเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมนี้เป็นประจำ กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าขณะที่ทั้ง ๒ พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษนั้น ทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยในประเทศอังกฤษอย่างแท้จริง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี มักทรงพระกรุณาพระราชทานพระวโรกาสให้นักเรียนรวมทั้งข้าราชการไทยในประเทศอังกฤษ เฝ้า กับทั้งรับพระราชทานเลี้ยงอาหารในงานสังสรรค์ที่ทรงจัดขึ้น ณ ตำหนักที่ประทับเป็นประจำ ตลอดจนเสด็จไปทรงร่วมงานประชุมประจำปีและทรงร่วมลีลาศในงานเลี้ยงของสมาคม
ยังความประทับใจ เป็นที่กล่าวขานกันในหมู่ชาวไทยในประเทศอังกฤษ ถึงพระจริยวัตรอันงามข้อนี้อยู่มิรู้ลืม
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังมีพระกรุณาธิคุณในการทำนุบำรงทางมรดกสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ ๖ อีกด้วย กล่าวคือ บรรดาพระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้นั้น หากความทราบฝ่าพระบาทว่าแห่งใดชำรุดทรุดโทรม ก็ทรงรับเป็นประธานโครงการบูรณะปรับปรุง ส่งผลให้การซ่อมแซมพระราชนิเวศน์ต่างๆ สำเร็จลุล่วง ยังความงดงามสดใสให้กลับคืนมาสู่พระราชนิเวศน์นั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง เช่น ได้ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พร้อมทั้งมีลายพระหัตถ์พระราชทานพระวินิจฉัยในการดำเนินงานความว่า
...ข้าพเจ้าเห็นสมควรดำเนินการโดยเริ่มจากพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นแห่งแรก พระตำหนักดังกล่าวมีสภาพภายในทรุดโทรม ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะแตกหักเสียหาย หากรองบประมาณของทางราชการคงจะไม่ทันการณ์ ข้าพเจ้าเห็นสมควรเปิดโอกาสให้ข้าราชบริพาร มหาดเล็ก ตลอดจนราชสกุล ตระกูลต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามสกุล และพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรได้มีโอกาสแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อพระองค์ ร่วมใจร่วมกำลังจัดหาหรือบริจาค เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยข้าพเจ้ารับเป็นประธาน
ในการซ่อมแซมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้ทรงสนับสนุนโดยทรงรับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ไว้ในพระอุปถัมภ์ ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องใช้ส่วนพระองค์บางส่วน ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ไปจัดแสดง ทั้งยังเสด็จไปทอดพระเนตรความเรียบร้อยของพระราชนิเวศน์อย่างสม่ำเสมอในทุกคราวที่เสด็จแปรที่ประทับไปทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ ตำหนักพัชราลัย หัวหิน ส่วนการซ่อมแซมพระราชวังพญาไท ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับชมรมคน
รักวัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์สนุบสนุนโครงการบูรณะพระราชวังพญาไทไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมทั้งทรงรับเป็นประธานจัดการแสดงมหาอุปรากรการกุศล มัทนา เพื่อหารายได้สมทบการบูรณะพระราชวังดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้การที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเอาพระทัยใส่ในการบูรณะซ่อมแซมพระราชนิเวศน์เหล่านี้ นอกจากเป็นการฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังนับว่าได้ทรงอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมของชาติให้ดำรงอยู่เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองสืบไปอีกโสดหนึ่ง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ปรากฏแพร่หลาย ดังที่ได้ทรงก่อตั้งและทรงรับเป็นประธานกรรมการดำเนินงานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความในลายพระหัตถ์พระราชทานพระดำริในการจัดตั้งมูลนิธิ ว่า
ด้วยหอวชิราวุธานุสรณ์ที่ฉันได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ นั้น บัดนี้คงสร้างเกือบจะเสร็จแล้ว ฉันจึงคิดว่า น่าจะจัดตั้งมูลนิธิวชิราวุธานุสรณ์ขึ้น เพื่อช่วยเหลือกิจการของหอวชิราวุธานุสรณ์และเผยแพร่พระเกียรติของสมเด็จพระบรมชนกนาถของฉัน
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินงานตามพระนโยบายด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระราชอัจฉริยภาพให้เป็นที่ประจักษ์สืบเนื่องมาโดยลำดับ เช่น การจัดแสดงพระบรมราชะประทรรศนีย์ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ภายในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี, โครงการจัดแสดงละครจากบทพระราชนิพนธ์, โครงการจัดพิมพ์สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, การจัดพิมพ์บทพระราชนิพนธ์ต่างๆ รวมทั้งวชิราวุธานุสรณ์สาร ตลอดทั้งมูลนิธิฯ ยังมอบทุนวิจัยแก่ผู้ทำวิจัยอันเนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
หากแม้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรกิจการทั้งหลายที่ได้ทรงพระราชดำริริเริ่มไว้จากพระทิพยญาณสถานใด ย่อมทรงพระปีติโสมนัสในพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้ ด้วยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้พระราชกุมารีพระองค์เดียวพระองค์นั้น ทรงรับเป็นพระธุระเอาพระทัยใส่ ประหนึ่งว่าได้ทรงแทนพระองค์อยู่ในกิจการทั้งปวง อันล้วนแล้วแต่ยังประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่ออาณาราษฎรอยู่มิขาดสาย สมดังโคลงสรรเสริญพระเกียรติคุณที่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ร้อยกรองถวายไว้ ความว่า
นานมาเป็นข้าพระ มหาธี- รราชนอ
มอบกายถวายชี- วิตไว้
แต่พระด่วนจรลี เร่งกลับ สวรรค์นา
พระราชสุดาได้ จากฟ้ามาแทนฯ
ขอบพระคุณ : ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ