ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มิลาเรปะ

การค้นหาธรรมชาติแห่งจิตของชายเลี้ยงแกะ

 ในเช้าตรู่วันหนึ่ง ท่านมิลาเรปะ ได้ออกจากถ้ำแสงสว่างเพื่อลงไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน แมงยูล อันผาสุก ท่านพูดกับผู้คนกลางหมู่บ้านว่า “คุณโยม บริจาคอาหารให้แก่อาตมาในเช้าวันนี้ด้วยเถิด” พวกเขาพากันถามท่านว่า “พระคุณเจ้าเป็นนักบวชที่ผู้คนโจษขานกันมากมายก่อนหน้านี้ ขณะที่พำนักอยู่ที่รักม่า ใช่หรือไม่หนอ” ท่านมิลาเรปะตอบรับว่าใช่ ชาวบ้านหลายคนที่เคยได้ฟังคำเล่าลือเกี่ยวกับตัวท่าน เมื่อมีโอกาสได้พบท่าน พวกเขาจึงพากันแสดงความยินดีมาก “โอ้ พระคุณเจ้า นักบวชมหัศจรรย์ ได้โปรดมาทางนี้เถิด”
สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งยังไม่มีบุตรได้นิมนต์ท่านไปฉันท์อาหารที่บ้านของตน และได้กราบเรียนถามว่า “บ้านของท่านและบรรดาวงศาคณาญาติของท่านอยู่ที่ไหน” ท่านมิลาเรปะกล่าวตอบว่า “อาตมาเป็นขอทานที่ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนและบรรดาวงศาคณาญาติ” เมื่อทราบว่าท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็รู้สึกแปลกใจและได้ถือโอกาสชักชวนว่า “เราต้องการให้ท่านอยู่ร่วมกับครอบครัวของเรา เราจะแบ่งที่ดินให้ท่านได้ทำกินในที่ดิน ท่านจะได้แต่งงานกับหญิงสาวที่ถูกใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป” ท่านมิลาเรปะกล่าวตอบว่า “อาตมาไม่ต้องการสิ่งที่กล่าวมานั้นทั้งหมด และจะบอกพวกท่านถึงเหตุผลว่าทำไม” ท่านได้แสดงธรรมโปรดสามีภรรยาคู่นี้เกี่ยวกับโทษภัยของการเป็นอยู่แบบโลกๆ ท้ายที่สุดทั้งสองคนได้ตัดสินใจออกบวชและประสบความสำเร็จพอสมควรในการปฏิบัติธรรมโดยสามารถก้าวพ้นโลกต่ำแห่งอบายภูมิได้อย่างสมบูรณ์…

การครอบครองบ้านและที่ดินนั้นย่อมนำความยินดีมาให้เมื่อแรกเริ่ม
แต่ในท้ายที่สุด มันกลับเปรียบดังตะไบ ที่สามารถกัดกร่อน กาย วจี และมโน ของบุคคล
ให้สึกหรอเสื่อมสภาพลงด้วยความยึดติดในมัน
งานไถคราดพื้นดินเพื่อเตรียมการเพาะปลูก
ย่อมกลายเป็นความเหนื่อยยากที่ไร้ค่า ถ้าเมล็ดพืชที่หว่านลงไปไม่งอก
ผืนดินที่รกร้างว่างเปล่า ย่อมกลับกลายเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณอันชั่วร้ายในที่สุด
การสะสมวัตถุปัจจัยจนก่อให้เกิดความตระหนี่และความโลภ เป็นดังยุ้งฉางที่มีไว้สะสมบาปกรรม
เมื่อคิดถึงเรื่องนี้มันสะเทือนใจอาตมายิ่งนัก
อาตมาไม่ต้องการครอบครองบ้านหรือที่ดินอันเป็นดังคุกตะราง
และมีสภาพไม่ยั่งยืนแต่อย่างใด
อาตมาไม่ต้องการอยู่ร่วมกับครอบครัวของท่านดอก

คู่สามีภรรยากล่าวว่า “อย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย เราจะหาหญิงงามที่มาจากตระกูลผู้ดี ซึ่งเหมาะจะเป็นเจ้าสาวของท่านให้” ท่านมิลาเรปะกล่าวตอบว่า
เมื่อเข้าสู่วัยสาว หญิงคนรักเปรียบดังเทพธิดาจากสรวงสวรรค์
ท่านยิ่งเฝ้ายลโฉมเธอเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มความหลงใหลในตัวเธอมากขึ้น
เมื่อล่วงเข้าสู่วัยกลางคน เธอกลับกลายเป็นหญิงเจ้าโทสะและมีแววตาประดุจซากศพ
ท่านพูดกับเธอคำหนึ่ง เธอตะโกนตอบกลับมาสอง
เธอทึ้งผมของท่านและทุบตีท่านได้ในบางครั้ง
เมื่อท่านโต้ตอบเธอด้วยไม้เรียว เธอกลับขว้างท่านด้วยทับพีตักข้าว
ในบั้นปลายของชีวิต เธอก็ไม่ได้ต่างอะไรกับแม่วัวแก่ๆที่ไม่มีฟัน
ดวงตาของเธอเผาไหม้อยู่ด้วยไฟแห่งโทสะอันชั่วร้าย
จงได้คิดให้ซึ้งลงไปในดวงใจเถิด สำหรับอาตมาเองนั้นย่อมหนีห่างจากมาตุคาม
เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาททั้งหลายทั้งปวง
สำหรับเจ้าสาวที่ท่านกล่าวถึงนั้น อาตมาไม่ได้มีความปรารถนาเลย

ฝ่ายสามีได้กล่าวขึ้นว่า “ท่านลามะ มันเป็นความจริงที่ว่าเมื่อบุคคลแก่ชราและใกล้ความตาย เขาย่อมไม่มีสมรรถนะใดๆที่จะสำเริงสำราญเหมือนเมื่อตอนหนุ่มๆ แต่ถ้าโยมไม่มีบุตร โยมย่อมไม่สามารถทนกับความห่อเหี่ยวสิ้นหวังได้ ตัวท่านลามะเองเล่า ไม่ต้องการบุตรดอกหรือ?”

บุตรชายวัยหนุ่มน้อยของท่าน เปรียบดังเทพยดาจากสรวงสวรรค์
ท่านรักเขาสุดหัวใจไม่มีอะไรเปรียบปาน
เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เขากลับกลายเป็นเจ้าหนี้หน้าเลือด
ผู้คอยเอาแต่จะเรียกร้องสิ่งต่างๆจากท่านโดยไม่รู้จักคำว่าพอ
ถูกเคี่ยวเข็ญให้หลบออกไปจากบ้าน คือบิดามารดาของเขาเอง
ส่วนผู้ที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาในบ้าน คือหญิงสาวพราวเสน่ห์อันเป็นสุดที่รักของเขา
บิดาพยายามพูดเจรจากับเขา แต่เขามิได้กล่าวตอบ มารดาถึงกับร้องไห้ เขาก็ไม่สนใจ
เพื่อนบ้านได้โอกาสซุบซิบนินทากันฉาวโฉ่
อาตมาได้เรียนรู้ว่าบ่อยครั้งทีเดียว บุตรชายได้กลับกลายมาเป็นศัตรู
ความสลดสังเวชหยั่งลึกลงไปในดวงใจของอาตมา เมื่อได้แลเห็นความทุกข์ทรมานในสังสารวัฏ
อาตมาย่อมไม่ปรารถนาทั้งบุตรและหลาน

สองสามีภรรยาเห็นจริงตามที่ท่านกล่าว และได้พูดขึ้นว่า “สิ่งที่ท่านว่ามานั้น ช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร บางครั้งบุตรของบุคคล ได้กลับกลายมาเป็นศัตรูของตน บางทีจะดีกว่ากระมังถ้ามีลูกสาว” ท่านมิลาเรปะกล่าวตอบว่า

เมื่อยังอยู่ในวัยแรกรุ่น บุตรีเปรียบดังเทพธิดาผู้แย้มยิ้มจากสรวงสวรรค์
เธอดึงดูดความสนใจและดูมีค่าดุจอัญมณี
เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เธอหยิบฉวยสิ่งของที่เก็บออมเอาไว้แม้อยู่ต่อหน้าบิดา
เมื่ออยู่ลับหลังมารดา เธอถึงกลับประพฤติตนเป็นขโมย
ถ้าทำให้เธอขัดใจ เธอจะก่อความเดือดร้อนด้วยอารมณ์อันฉุนเฉียวเป็นฟืนเป็นไฟของเธอ
ในบั้นปลายของชีวิต เธอกลับร้อนรนเพิ่มมากขึ้น
เธอก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้คนที่แวดล้อมเธอ
อย่างที่นับว่าโชคดีกว่านี้ ก็คือการที่เธอมอบตัวเธอให้กับคนอื่น
แต่ในกรณีที่ตรงกันข้าม เธอจะนำความอับโชคและความหายนะมาให้
เพราะผู้หญิงมักสร้างความลำบากยุ่งยากให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นเสมอ
จงจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้ในดวงใจ
และควรได้พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันเลวร้ายที่ไม่อาจแก้ไขได้
ผู้หญิงมักเป็นต้นเงื่อนแห่งความทุกข์ยาก อาตมาจึงไม่ต้องการ

สองสามีภรรยาจึงกล่าวว่า “บุคคลอาจไม่ต้องการบุตรธิดา แต่การไร้ญาติ ย่อมทำให้ชีวิตน่ากลัว และไม่มีที่พึ่งพา มันไม่ได้เป็นดังนั้นดอกหรือพระคุณเจ้า?”

สำหรับบรรดาวงศาคณาญาตินั้น เมื่อแรกเริ่มย่อมดูเป็นที่น่ายินดี
เพราะเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
อีกทั้งยังมีโอกาสได้สนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน ต่อมาก็เริ่มคิดเอาเปรียบและริษยากัน
ในที่สุดก็กลายเป็นความขมขื่นที่เสียดแทงดวงใจ
เขาทั้งหลายเป็นดังน้ำพุแห่งความสลดสังเวช
ด้วยตระหนักอยู่ดังนี้ อาตมาจึงละทิ้งความสนุกสนานรื่นเริง และละทิ้งการสมาคมกับหมู่ญาติ
สำหรับวงศาคณาญาติและเพื่อนบ้านนั้น อาตมาย่อมไม่ปรารถนา

สองสามีภรรยากล่าวต่อไปอีกว่า “ท่านอาจไม่ต้องการหมู่ญาติ แต่โดยที่เราทั้งสองคนมีทรัพย์สมบัติมาก ท่านไม่ยินดีที่จะมาครอบครองดูแลมันดอกหรือ?” ท่านมิลาเรปะกล่าวตอบว่า “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ไม่เคยที่จะเจาะจงส่องแสงสว่างจำกัดลงไปยังที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับอาตมาที่ได้อุทิศตนเพื่อสรรพชีวิตทั้งปวง จึงไม่สามารถเป็นสมาชิกในครอบครัวของท่านได้ เพียงแต่คุณโยมทั้งสองเชื่อฟังอาตมา คุณโยมก็จักได้รับประโยชน์ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า อาตมาจักตั้งความปรารถนาไว้ว่า เราอาจได้พบกันอีก ในดินแดนบริสุทธิ์แห่งสุขาวดี” ท่านมิลาเรปะได้แสดงบทโศลกต่อไปว่า

โลกียทรัพย์นำความสนุกสนานมาให้ และยังทำให้ผู้คนเกิดความริษยา
ถึงจะมีมากเพียงใด ก็ไม่เคยมีใครรู้สึกว่าพอ
และในที่สุดก็ถูกปีศาจแห่งความตระหนี่ชักพาให้ใช้จ่ายไปโดยไม่ยอมสั่งสมบุญกุศลให้แก่ตน

ความร่ำรวยปลุกเร้าก่อให้เกิดศัตรู
ทำงานหนักเพียงเพื่อสะสมให้เกิดความมั่งคั่งสำหรับไว้ให้คนอื่นได้จับจ่ายใช้สอย
และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นความตาย
อาตมาจึงสละคืนมายาลวงแห่งสังสารวัฏ
การต้องตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายของปีศาจเจ้าเล่ห์ ย่อมไม่น่าปรารถนาสำหรับอาตมา

บทโศลกของท่านมิลาเรปะ ทำให้สองสามีภรรยาเกิดความศรัทธาอย่างมั่นคง และตัดสินใจสละการครอบครองโลกียทรัพย์ทั้งปวง ออกแสงหาโมกขธรรม สองสามีภรรยาได้ปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของท่านมิลาเรปะจนพ้นโลกต่ำแห่งอบายภูมิทั้งสาม เมื่อสิ้นชีวิตลง ทั้งสองได้ลุถึงมรรคาสู่โพธิญาณ เพื่อดำเนินสู่พุทธภูมิตามลำดับขั้นตอนต่อไป ท่านมิลาเรปะ ได้กลับมาสู่ท้องถ้ำแห่ง รักม่า อีกครั้งหนึ่ง มีชายเลี้ยงแกะสองคนผ่านไปพบท่าน และได้แวะสนทนากับท่าน ชายคนที่อายุอ่อนกว่าได้ถามว่า “ท่านมีมิตรสหายหรือไม่ ท่านลามะ?” ท่านมิลาเรปะ ได้กล่าวตอบว่าสหายของท่านคือ โพธิจิต และพำนักอาศัยอยู่ในเรือนกายของท่านนี้เอง
ชายคนที่อายุแก่กว่าได้พูดขึ้นว่า “ลามะ เราสองคนควรจะไปเสียดีกว่า ท่านไม่สามารถชี้นำเราได้แน่” แต่คำตอบของท่านมิลาเรปะกลับทำให้ชายเลี้ยงแกะคนที่มีอายุอ่อนกว่าสนใจมาก และกล่าวถามว่า “ความรับรู้คือจิตโดยตัวของมันเอง สรีระนี้เป็นดังบ้านของจิต ใช่หรือไม่ขอรับ?” ท่านมิลาเรปะตอบว่า “ถูกต้อง” เด็กหนุ่มได้ซักถามปัญหาเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าบ้านอาจมีเจ้าของคนเดียว แต่คนอื่นๆสามารถเข้าไปได้ ในทำนองเดียวกัน จิตมีดวงเดียวหรือว่าหลายๆดวงในเรือนกายนี้? ถ้ามีหลายดวง มันอยู่ร่วมกันอย่างไร?” ท่านมิลาเรปะ ได้แนะนำให้ชายเลี้ยงแกะเริ่มต้นค้นหาคำตอบด้วยการศึกษาจากธรรมชาติแห่งจิตวิญญาณของตนเอง เขากลับมาหาท่านอีกและได้รายงานว่า หลังจากที่ได้พยายามเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของดวงจิตอย่างระมัดระวัง เขาได้เรียนรู้ว่าจิตมีเพียงดวงเดียว และมีธรรมชาติที่ไม่อาจฆ่าให้ตายได้ ขับไล่ให้พ้นไปก็ไม่ได้ จะจับฉวยยึดไว้ให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่อาจเข้าใจได้ จะชี้ขาดว่าเป็นสิ่งซึ่งดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่จริงก็ไม่ได้ทั้งสองอย่าง จึงเป็นการยากที่จะหาบทสรุปว่าจิตคืออะไร ชายเลี้ยงแกะได้ขอให้ท่านอธิบายเกี่ยวกับความลับในธรรมชาติของจิต ท่านมิลาเรปะได้อธิบายด้วยบทโศลกว่า

จงฟังอาตมา เจ้าเด็กเลี้ยงแกะผู้ปกป้องดูแลฝูงแกะ
โดยเพียงแต่ได้ยินการกล่าวถึงรสหวานของน้ำตาล
เธอย่อมไม่อาจตระหนักชัดถึงความหวานนั้นได้อย่างแท้จริง
ถึงแม้เธอจะเข้าใจด้วยความจำได้หมายรู้ว่าความหวานนั้นเป็นอย่างไรก็ตาม
มันก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความตระหนักชัดโดยแท้จริง
ด้วยการใช้ลิ้นสัมผัสด้วยตนเองเท่านั้น ความหวานที่แท้จริงจึงถูกกำหนดรู้ได้
ในเรื่องธรรมชาติของจิตก็เช่นเดียวกัน บุคคลย่อมไม่สามารถจะรู้จักมันได้อย่างถ่องแท้
ถึงแม้จะมีความเข้าใจอยู่บ้างโดยการได้รับคำอธิบายจากผู้อื่น
เมื่อบุคคลได้ตระหนักชัดว่าความเข้าใจชนิดที่เกิดจากความนึกคิดตามคำบอกเล่าของผู้อื่น
ยังไม่นับได้ว่าเป็นความเข้าใจจริงแท้ เขาย่อมศึกษาต่อไปอีกโดยไม่ท้อถอย
ในที่สุดก็ไม่พ้นวิสัยที่จะแจ่มแจ้งในธรรมชาติแห่งจิตนี้จนได้
จงเฝ้าพากเพียรสอบความคิดและตรวจตราดวงจิตของเธออยู่เสมอเถิด

เด็กหนุ่มได้กล่าวว่า “จงโปรดกรุณาให้คำแนะนำต่อกระผมด้วย กระผมจะนำไปปฏิบัติในเย็นวันนี้ และจะกลับมากราบเรียนผลของการปฏิบัติให้ท่านทราบในวันพรุ่งนี้” ท่านมิลาเรปะให้ข้อกรรมฐานว่า “ดีละ เมื่อกลับไปบ้าน จงพยายามค้นหาว่าจิตมีสีอะไร ขาว แดง หรือว่าสีอะไร? มันมีรูปร่างอย่างไร? และค้นหาด้วยว่ามันสถิตอยู่ที่ใดในกายนี้”
เช้าวันรุ่งขึ้น ชายเลี้ยงแกะต้อนฝูงแกะผ่านมาเบื้องหน้าท่านมิลาเรปะ ท่านได้ถามเด็กหนุ่มว่า “เมื่อคืนวานเธอได้พยายามค้นหาว่าจิตเหมือนอะไรหรือไม่?” เด็กหนุ่มตอบว่า “ได้ค้นหาครับ”
“มันเหมือนกับอะไร?”
“มันว่างใส เคลื่อนที่ ยากที่จะคาดคะเน และไม่สามารถจับฉวยไว้ได้ มันไม่มีสีและรูปร่าง เมื่อทำงานร่วมกับตาก็เกิดการเห็น เมื่อทำงานร่วมกับหูก็เกิดการได้ยิน เมื่อทำงานร่วมกับจมูกก็ได้กลิ่น เมื่อทำงานร่วมกับลิ้นก็รับรสได้ เมื่อทำงานร่วมกับเท้าก็เดินได้ เมื่อสรีระถูกรบกวน จิตก็ถูกรบกวนด้วย ปรกติจิตบังคับกาย เมื่อกายอยู่ในภาวะปรกติ เมื่อกายเน่าเปื่อยตายลง จิตจะทอดทิ้งมันไว้โดยปราศจากความคิดแม้น้อยหนึ่งในซากศพ จิตดูเป็นจริงจังและปรับตัวได้ ในปริยายอื่น สรีระไม่ได้อยู่อย่างสงบ แต่มักทำให้จิตเดือดร้อนเป็นประจำ มันสามารถเป็นเหตุแห่งความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนจิตสูญเสียการควบคุมได้ ในขณะหลับ จิตไปที่อื่น มันทำงานหนักมาก ความทุกข์ของกระผมทั้งหมดมีสาเหตุอยู่ที่จิต” ท่านมิลาเรปะได้กล่าวบทโศลกว่า

โปรดฟังอาตมา สรีรกายนี้อยู่ระหว่างความรู้สึกและความไม่รู้สึก
โดยมีธรรมชาติของดวงจิตเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้
เธอแน่ใจหรือว่าเธอต้องการบรรลุถึงความวิมุติหลุดพ้น
เธอแน่ใจหรือว่าจะพากเพียรไปให้ถึงสภาพยิ่งกว่าสุขที่เต็มไปด้วยความอิสรเสรี
ถ้าเธอต้องการอย่างแท้จริงแล้ว
อาตมาจะได้ให้คำแนะนำต่อเธอถึงสัมมาอริยะมรรคที่จักต้องดำเนินไป

ชายเลี้ยงแกะกล่าวว่า “กระผมต้องการที่จะเรียนรู้อย่างมากเลยครับ ท่านลามะ” ท่านมิลาเรปะได้ถามว่า “เธอชื่ออะไร”
“สันจีแย๊ป ครับ”
“เธออายุเท่าใด?”
“สิบหกครับ”

ท่านมิลาเรปะได้สอนให้รู้จักสรณะคือพระรัตนตรัย โดยได้อธิบายถึงประโยชน์และสาระสำคัญอย่างย่อๆ ท่านตั้งโจทย์ให้เป็นการบ้านว่า “เมื่อเธอกลับถึงบ้านในเย็นวันนี้ จงอย่าหยุดสวดสาธยายมนต์ถึงสรณะ และขณะเดียวกันให้ค้นหาไปด้วยว่า จิตหรือสรีระเป็นผู้แสวงหาสรณะกันแน่ ได้ผลอย่างไร กลับมารายงานอาตมาด้วยในวันพรุ่งนี้”
เช้าวันรุ่งขึ้น ชายเลี้ยงแกะกลับมารายงานท่านมิลาเรปะว่า “พระคุณเจ้า เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา กระผมได้พยายามค้นหาคำตอบว่า ระหว่างจิตกับกาย ใครเป็นผู้แสวงหาสรณะ กระผมพบว่ามันไม่ใช่ทั้งสองอย่าง กระผมถามตนเองว่า สรีระตั้งแต่หัวจดเท้าที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ แสวงหาสรณะหรือ? คำตอบคือมันไม่ใช่ เพราะเมื่อจิตทอดทิ้งสรีระ สรีระก็ไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป ผู้คนเรียกชื่อมันใหม่ว่าซากศพ ซึ่งแน่นอนมันไม่มีวันที่จะเป็นผู้แสวงหาสรณะได้เลย มากยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมันย่อยสลาย ความเป็นซากศพก็ยุติลง เพราะฉะนั้นมันไม่มีวันเป็นตัวตนที่จะแสวงหาสรณะในพระพุทธองค์ กระผมได้ถามตัวเองต่อไปว่า ถ้ากระนั้นเป็นจิตหรือ? ที่แสวงหาสรณะ แต่มันไม่มีวันที่ผู้แสวงหาสรณะจะเป็นจิต เพราะจิตก็คือจิต ไม่เป็นอะไรอื่น ถ้าบุคคลกล่าวว่าจิตในปัจจุบันขณะเป็นจิตจริง และจิตที่ตามมาภายหลังคือจิตที่แสวงหาสรณะ ก็แปลว่ามีสองจิต ซึ่งควรต้องมีสองชื่อด้วย คือ จิตปัจจุบัน กับ จิตอนาคต เมื่อกรรมกิริยาแห่งการแสวงหาสรณะบังเกิดขึ้น ทั้งจิตปัจจุบันและจิตอนาคต ก็ได้ล่วงเลยไปแล้วทั้งคู่ ครั้นถ้าจะกล่าวว่าจิตทั้งสอง แสวงหาสรณะแล้วละก็ จิตจะกลายเป็นของเที่ยงแท้ ซึ่งไม่มีเกิดดับ ถ้าเป็นดังนั้น สรรพชีวิตทั้งปวงแห่งอดีตและอนาคตในภพภูมิทั้งหกของสังสารวัฏ คงไม่ต้องการอะไรเลยนอกจากเป็นผู้แสวงหาสรณะตลอดเวลาไม่เปลี่ยนแปลง แต่กระผมไม่สามารถจำอดีตได้ อีกทั้งไม่อาจล่วงรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จิตเมื่อปีกลายหรือเมื่อวันวาน ล่วงเลยไปแล้ว จิตแห่งอนาคตในวันพรุ่งนี้ก็ยังมาไม่ถึง และที่กำลังไหลเรื่อยอยู่ในปัจจุบันเล่า ก็ไม่คงอยู่ โอ้ท่านอาจารย์ ได้โปรดอธิบายไขความในข้อข้องใจของกระผม ตามที่ได้กราบเรียนรายงานต่อท่านอาจารย์ด้วยเถิดครับ”
ท่านมิลาเรปะได้กล่าวบทโศลกสนองตอบข้อข้องใจของชายเลี้ยงแกะว่า

อาตมาขอสวดภาวนาระลึกถึงท่านอาจารย์ของอาตมาด้วยความเคารพบูชายิ่ง
ท่านอาจารย์เป็นผู้ตระหนักชัดถึงสัจจะแห่งอนัตตาธรรมโดยสมบูรณ์
อาตมาขอสวดภาวนาด้วย กาย วจี และมโน
อาตมาขอสวดภาวนาด้วยความศรัทธาและความจริงใจ
จงได้โปรดอวยพรชัยให้อาตมาและบรรดาสานุศิษย์
สามารถที่จะตระหนักชัดต่อสัจจะแห่งอนัตตาธรรม
ขอได้โปรดฉุดดึงพวกเราให้พ้นจากวิบากของความยึดมั่นในอัตตาตัวตนด้วยเถิด

จงได้สดับรับฟังด้วยความตั้งใจ เจ้าเด็กเลี้ยงแกะเอ๋ย
ความหลงเข้าใจผิดยึดมั่นในความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นของเรานั้น
เป็นลักษณะธรรมดาของปุถุชนจิต
ถ้าบุคคลจะได้เพ่งมองลงไปยังดวงจิตด้วยตัวของมันเองแล้วไซร้
เขาย่อมจะหาไม่พบตัวตนในที่ไหนๆเลย

ถ้าบุคคลสามารถปฏิบัติตามคำสอนอันเป็นแก่นสารสาระสำคัญ ที่ว่าด้วยเรื่องสุญตาธรรม
และตระหนักรู้ว่าสามารถเห็นความว่างเปล่าได้อย่างไร ย่อมมีบางสิ่งถูกค้นพบ

การปฏิบัติตามคำสอนอันเป็นแก่นสารสาระสำคัญ ที่ว่าด้วยเรื่องสุญตาธรรมนั้น
ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสัญชาติแห่งความเป็นคนตรง และเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงประดุจภูผาหินทีเดียว
บุคคลจำต้องเข้าใจถึงสัจจะของกรรมกับวิบากและสัจจะของเหตุกับผล
เพื่อบรรลุถึงสัมฤทธิ์ผลในการตรัสรู้ บุคคลควรได้อาศัยคุรุ
เพื่อก่อแรงบันดาลใจ ชี้แนะ และสั่งสอนเรื่องภายใน


สำหรับการเริ่มต้นที่จะปฏิบัติตามคำสอนอันเกี่ยวกับเรื่องภายในนี้
ต้องการเฉพาะศิษย์ที่สั่งสมบุญกุศลไว้เพียงพอที่จะรับฟังคำสอนเท่านั้น
เธอต้องเริ่มด้วยการมีอินทรีย์สังวร สำรวมปฏิบัติในศีลอันยิ่ง
เธอจะต้องอดกลั้นอดทนต่อทุกขเวทนาทั้งหลายทั้งปวง
เธอจะต้องกล้าหาญไม่ห่วงอาลัยในชีวิต
ถ้าเธอสามารถทำได้ตามที่กล่าวมานี้ ก็จึงจะนับได้ว่าเป็นผู้เหมาะสม
ที่จะเริ่มปฏิบัติศึกษาวิชานี้ แต่ถ้าเธอคิดว่าไม่สามารถจะทำได้
อาตมาก็คิดว่าน่าจะเป็นการดีกว่า ที่จะไม่พูดถึงวิชานี้อีกต่อไป
จงถามความคิดและตรวจตราดวงจิตของเธออย่างตั้งอกตั้งใจ

เมื่อเธอแสวงหาตัวตนของเธอเองไม่พบ นั่นคือการปฏิบัติธรรมในส่วนของปัจเจกบุคคล
ในกรณีที่เธอต้องการจะปฏิบัติเพื่อจะรู้แจ้งถึงอนัตตาธรรมของสรรพสิ่งด้วย
ก็จงปฏิบัติตามอาตมา ผู้ใช้เวลาบำเพ็ญเพียรอยู่ถึงสิบสองปีเต็ม
ไม่นานเลยเธอจักเข้าใจธรรมชาติของจิต

ชายเลี้ยงแกะกล่าวว่า “กระผมขออุทิศกายถวายหัว ได้โปรดกรุณาช่วยให้กระผมได้เข้าใจถึงดวงจิตของผมเองอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยเถิด” ท่านมิลาเรปะดำริขึ้นว่า “อาตมาจะดูซิว่า ชายหนุ่มผู้นี้มีสมรรถนะที่จะปฏิบัติบำเพ็ญหรือไม่” ท่านจึงได้กล่าวขึ้นว่า “เธอจงเริ่มต้นสวดภาวนาถึงพระรัตนตรัย และเพ่งให้เห็นนิมิตของพระพุทธองค์เหนือจมูกของเธอ” ท่านได้ให้คำแนะนำในการเข้าสมาธิ และปล่อยให้ชายเลี้ยงแกะปลีกวิเวก
ชายเลี้ยงแกะหายไปเจ็ดวันอย่างไร้ร่องรอย ในวันที่เจ็ด พ่อของเขาได้มาหาท่านมิลาเรปะ และกล่าวกับท่านว่า “ท่านลามะ บุตรของโยมไม่กลับบ้านมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว เป็นเรื่องที่ผิดปรกติมาก โยมวิตกว่าเขาจะหลงทาง พวกเด็กเลี้ยงแกะที่เป็นเพื่อนของเขา พากันบอกว่า บุตรของโยมมาศึกษาธรรมกับท่านลามะ และนึกว่ากลับบ้านไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเขาไปไหน?” ท่านมิลาเรปะตอบว่า “เขามาที่นี่จริง แต่ไม่ได้กลับมาอีกเลย เจ็ดวันแล้ว”
พ่อของชายเลี้ยงแกะจากท่านมิลาเรปะไปทั้งน้ำตา ได้มีการส่งชาวบ้านไปช่วยกันค้นหาชายหนุ่ม ในที่สุดได้พบเขานั่งอยู่ในอุโมงค์ดินเล็กๆ ในตาเบิกกว้างจ้องไปข้างหน้า พวกเขาถามเด็กหนุ่มว่า “แกมาทำอะไรที่นี่?” เด็กหนุ่มตอบว่า “ฉันมาปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิภาวนาตามที่คุรุของฉันสั่งสอน”
“อ้าว แล้วทำไมถึงไม่กลับบ้านกลับช่อง ตั้งเจ็ดวันเข้าไปแล้ว”
“อะไรกัน ฉันเพิ่งบำเพ็ญสมาธิได้พักเดียว พวกท่านพูดตลกแน่เลย” ชายหนุ่มพูดพร้อมกับเหลือบมองพระอาทิตย์ และพบว่าเป็นเวลาก่อนที่เขาจะเริ่มต้นบำเพ็ญสมาธิเสียอีก ชายหนุ่มตะโกนขึ้นด้วยความงงงวยว่า “มันอะไรกันนะเนี่ย”
ตั้งแต่นั้นมาเขาเริ่มมีพฤติกรรมในการเข้าใจผิดกับระยะเวลาอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้ากับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวไม่น้อยทีเดียว ในที่สุดชายเลี้ยงแกะได้ประกาศเจตจำนงค์ของตนในการที่จะขอไปอยู่กับท่านมิลาเรปะ สมาชิกในครอบครัวจึงจัดเสบียงส่งเขาไปอยู่กับท่านมิลาเรปะ
ท่านมิลาเรปะเริ่มให้เขารักษาศีลห้า พร้อมทั้งสอนธรรมะให้ จากนั้นได้เริ่มสอนถึงปรีชาญาณในภายใน ที่ต้องอาศัยการปฏิบัติ ชายหนุ่มเริ่มได้รับประสบการณ์ที่ดีในการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ท่านมิลาเรปะพอใจมาก แต่เพื่อไม่ให้ลูกศิษย์ตกหลุมพรางด้วยความเข้าใจผิดต่อธรรมชาติของความรู้แจ้งตระหนักชัดอันแท้จริง ท่านจึงแสดงบทโศลกว่า

อาตมาขอน้อมเศียรเกล้ากราบลง ณ เบื้องบาทท่านอาจารย์มาระปะ
ท่านอาจารย์เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดจากท่านนาโรปะและท่านเมดริปะ
บุคคลจำนวนมากที่ปฏิบัติธรรมเพียงด้วยปาก พูดมาก และดูประหนึ่งรอบรู้ในคำสอนยิ่งนัก
แต่เมื่อถึงเวลาอันสำคัญขณะแห่งการแตกทำลายลงของชีวิต
ปากซึ่งพร่ำกล่าวถึงความหลุดพ้นย่อมหาประโยชน์มิได้

เมื่อโอกาสอันแจ่มใสสาดส่องขึ้นมาในช่วงเวลาอันจำกัด
ก็กลับถูกปกคลุมเสียด้วยเมฆหมอกแห่งอวิชชา
โอกาสสุดท้ายที่จะบรรลุสู่ความหลุดพ้นขณะกายแตกตายลงได้สูญสิ้นไป
ด้วยอำนาจแห่งความกลัว ความยุ่งเหยิงสับสน

ถึงแม้เขาจะได้ใช้เวลามาแล้วทั้งชีวิตเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลยในช่วงขณะแห่งมรณกาลนี้

โอ้ ท่านบรรดาโยคาวจรผู้บำเพ็ญเผากิเลสมานานช้า
โปรดได้ระลึกว่าประสบการณ์ภายในอันผิดพลาดเกี่ยวกับความรู้แจ้งนั้น
ย่อมอยู่เหนือความเฉลียวฉลาดเพียงปรัชญาด้วยปาก
ซึ่งย่อมไม่สามารถช่วยให้วิปัสสนาญาณอันสูงส่งปรากฏได้
บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่อาจพ้นอันตรายแห่งการเวียนเกิดในอบายภูมิไปได้เลย

ลูกๆที่รัก และท่านสาธุชนทั้งหลาย โปรดสดับรับฟังธรรมบรรยายนี้ด้วยความตั้งใจ
เมื่อร่างกายของท่านตั้งตรงดำรงสติมั่นเข้าสู่ความสงบระงับเพราะปราศจากกิเลสนิวรณ์
ในบางครั้งท่านอาจรู้สึกว่าความคิดและดวงจิตได้สูญหายไปด้วยกัน
นี้เป็นปรากฏการเริ่มแรกขั้นประถมแห่งญาณทัสสนะเท่านั้น
ด้วยการจดจ่ออยู่กับการบำเพ็ญเพียรโดยต่อเนื่องไม่ขาดตอน
บุคคลจึงจะสามารถเข้าถึงความแจ่มแจ้งสว่างไสวเบาว่างสงบบริสุทธิ์
ชนิดที่เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยสติได้
มันเป็นเหมือนกับความโปร่งโล่งของห้วงนภากาศ
ความมีสติอันสมบูรณ์ซึ่งดำรงอยู่ในสุญตภาวะนั้น
ย่อมแจ่มใสและเต็มไปด้วยปรีชาญาณ
ความที่ไม่ต้องนึกคิดแต่ผ่องแผ้วปราดเปรื่องในความหยั่งรู้
เป็นประสบการณ์ของญาณทัสสนะ
เมื่อรากฐานของการปฏิบัติเป็นไปด้วยดีฉะนี้แล้ว
บุคคลควรพิจารณาต่อไปในสามัญลักษณะทั้งสามประการอันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อันมีอรรถอันละเอียดลออลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในที่สุดเขาย่อมบรรลุถึงปรีชาญาณอันตระหนักชัดถึงความไร้อัตตาตัวตน
ด้วยสัมมาญาณทัสสนะวิเศษอันสูงส่ง ด้วยกำลังแห่งความหน่ายคลาย
และด้วยแรงอธิษฐานเพื่อความสละปล่อยวาง
เขาย่อมเข้าถึงความจริงสูงสุดในธรรมชาติแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ปราศจากตัวตนของมันเองแต่ทุกอย่างก็ยังคงสัมผัสได้
เขาย่อมตระหนักชัดถึงความผิดพลาดแห่งความรักและความชังอย่างไม่เคลือบแคลงสงสัยใดๆ
โดยไม่มีการถึงแต่เขาพบพุทธภาวะ
โดยปราศจากการเห็นแต่เขาบรรลุถึงทัศนียภาพแห่งธรรมกาย
โดยปราศจากความพยายามแต่เขายังคงมีการกระทำและปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปได้
ลูกเอ๋ยจงจดจำคำสั่งสอนนี้ลงในดวงใจของเจ้าให้จงดีเถิด…

การศึกษาปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของท่านมิลาเรปะ ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณอย่างมากมาย ซึ่งเป็นที่พอใจของท่านมิลาเรปะมาก ต่อมาชายเลี้ยงแกะได้กลับกลายเป็นสานุศิษย์ชั้นเลิศของท่าน มิลาเรปะ และได้ฉายานามว่า เรปะ สันจี แย๊ป
นี้เป็นตำนานเรื่องราวในการเยือนรักม่าครั้งที่สองของท่านมิลาเรปะ และเป็นการพบกับท่าน เรปะสันจี แย๊ป

» เกี่ยวกับท่านมิลาเรปะ

» ตำนานแห่งหุบเขาอัญมณีแดง

» การจาริกธุดงค์สู่ ลาชิ

» ธรรมลีลาแห่งเทศกาลหิมะโปรย

» วิวาทะกับเจ้าแม่ผู้ชาญฉลาด

» มณฑล รักม่า

» วิหารเทียมฟ้า จันแพน

» ธรรมปิติของสมณะ

» ท่านมิลาเรปะ กับนกพิราบ

» หุบเขา วัชชระ สีเทา

» ภิกษุ เรชุงปะ

» ข้อตักเตือนถึงโอกาสที่หาได้ยากในการปฏิบัติธรรม

» การค้นหาธรรมชาติแห่งจิตของชายเลี้ยงแกะ

» ธรรมคีตาแห่งความตระหนักชัด

» การมุ่งสู่โพธิญาณของสตรีเพศ

» ธรรมคีตา ณ ที่พักผู้เดินทาง

» พาลชนที่กลายเป็นสาวก

» การพบกันที่สายธารสีเงินยวง

» นิมิตหมายแห่งพระธรรมจากไม้เท้า

» ข้อชี้นำยี่สิบเอ็ดประการ

» ภิกษุ กาชอนเรปะ

» คำตักเตือนสำหรับท่าน ธัมมะวอนชู

» การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ณ ภูเขาหิมะดีซี

» การบรรลุธรรมจักษุของท่าน เรชุงปะ

» การกลับใจของชาวลัทธิ บอน ผู้กำลังจะตาย

» แสดงธรรมกับหญิงสาวผู้ชาญฉลาด

» นายพรานกับกวาง

» พระราชาแห่ง เนปาล

» เผชิญเจ้าแม่ ทเซรินมา

» การกลับใจของเจ้าแม่ ทะเซรินมา

» ข้อแนะนำเกี่ยวกับภาวะ สัมภเวสี

» ทะเซรินมา กับการปฏิบัติสุญญตาธรรม

» ข้อตักเตือนสำหรับท่าน ดอจี วอนชู

» การพบกับท่าน ธรรมโพธิ

» เผชิญนักปริยัติ

» เยือนอินเดียครั้งที่สามของท่าน เรชุงปะ

» ความตระหนักชัดของท่าน เมกอมเรปะ

» สาลีอุยกับพระธรรม

» เขาของตัวจามรี

» การสำนึกผิดของ เรชุงปะ

» ความที่ยิ่งกว่าสุข

» ศิษย์เอก กัมโบปะ

» นักปริยัติผู้กลับใจ

» ธรรมปราโมทย์

» แสดงอภิญญาจูงใจคน

» รวมโศลกธรรมสั้นๆ

» ธรรมเทศนาที่ภูผา บอนโบ้

» แรงบันดาลใจ

» ชินดอโมและเลซีบุม

» แกะที่กำลังจะตาย

» ธรรมคีตาแห่งการดื่ม

» แด่ เรชุงปะ ด้วยเมตตา

» เรชุงปะ สู่เมือง วู

» พบท่าน ธัมปาสันจี

» มิติแห่งสวรรค์

» คำพยากรณ์แห่งเทพธิดา

» คำตักเตือนคุณหมอ ยางงี

» การจากไปของ เรชุงปะ

» เรื่องราวของ ดราชิเซ

» กัลยาณมิตร

» ประจักษ์พยานแห่งการบรรลุธรรม

» ปัจฉิมโอวาท

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย