ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480
และวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2484)
อาทิตย์ ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2485
เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติ วางรากฐานให้มั่นคง บำรุงเทิดทูนและกระทำให้ แพร่หลายยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติวัฒนธรรม แห่งชาติ พุทธศักราช 2485"

มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

[รก.2485/63/1744/29 กันยายน 2485]

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2483 และพระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2485

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "วัฒนธรรม" หมายความว่า ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรม อันดีของประชาชน

มาตรา 5 บุคคลทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมแห่งชาติ และต้อง ผดุงส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ โดยรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมตาม ประเพณีอันดีงาม และช่วยกันปรับปรุงทำนุบำรุงให้ดียิ่งขึ้นตามกาลสมัย

มาตรา 6 วัฒนธรรมซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติตาม นอกจากจะได้กำหนด ไว้โดยพระราชบัญญัติแล้ว ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ในกรณีดังต่อไปนี้

1. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย จรรยาและมารยาท ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน
2. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติตนและการปฏิบัติต่อ บ้านเรือน
3. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประพฤติตนอันเป็นทางนำมา ซึ่งเกียรติของชาติไทย และพระพุทธศาสนา
4. ความมีสมรรถภาพและมารยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ
5. ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจและศีลธรรมของประชาชน
6. ความเจริญก้าวหน้าในทางวรรณกรรมและศิลปกรรม
7. ความนิยมไทย

มาตรา 7 ในการกำหนดวัฒนธรรมโดยพระราชกฤษฎีกาตามความ ในมาตราก่อน ให้คำนึงถึงสภาพแห่งท้องที่ ความเป็นอยู่ และประเภทของบุคคล ในท้องที่ เป็นแห่ง ๆ ไป

มาตรา 8 ให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นทบวงการเมืองอยู่ในบังคับ บัญชาของนายกรัฐมนตรี

[มาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

มาตรา 9 ให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติมีหน้าที่

(1) ค้นคว้า ดัดแปลง รักษา และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติที่มีอยู่
(2) ค้นคว้า ดัดแปลง และกำหนดวัฒนธรรมที่ควรรับไว้หรือปรับปรุง ต่อไป
(3) เผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชาติให้เหมาะสมกับกาลสมัย
(4) ควบคุมและหาวิธีปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งชาติในจิตใจของประชาชน จนเป็นนิสัย
(5) ให้ความเห็น รับปรึกษา และปฏิบัติการตามความมุ่งหมายของ รัฐบาลในกิจการอันเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชาติ

มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนิน กิจการโดยทั่วไปของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ กรรมการและเลขาธิการของสภานี้ คณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 11 ให้แบ่งงานของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็น 5 สำนัก คือ

(1) สำนักวัฒนธรรมทางจิตใจ
(2) สำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี
(3) สำนักวัฒนธรรมทางศิลปกรรม
(4) สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม
(5) สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง

[มาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

มาตรา 12 กิจการซึ่งจะพึงปฏิบัติในสำนักต่าง ๆ ให้สภาวัฒนธรรม แห่งชาติกำหนดเป็นระเบียบการขึ้นไว้

มาตรา 13 สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือจะรับเงินบำรุงจากบุคคลหรือองค์การใดก็ได้

มาตรา 14 สมาคมหรือองค์การใด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับงาน ของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ไม่ว่าจะได้ตั้งอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม ต้องได้รับ อนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติก่อนจึงจะดำเนินการจัดตั้งตามกฎหมายหรือ ดำรงอยู่ต่อไปได้ และเมื่อได้ตั้งขึ้นหรือดำรงอยู่แล้ว ให้อยู่ในความควบคุม ของสภานี้ สมาคมหรือองค์การที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำรงอยู่ต่อไป ให้เลิกและ หยุดดำเนินการทันที อนึ่ง ถ้าสภาวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควรจะ สั่งเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้แก่สมาคมหรือองค์การใดก็ได้ สมาคมหรือองค์การ เช่นว่านั้นจักต้องเลิกและหยุดดำเนินการทันทีดุจกัน

[มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

มาตรา 15 ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

[มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

มาตรา 15 ทวิ ผู้ใดโฆษณาชี้ชวน เข้าเป็นธุระในการจัดการเป็น สมาชิกหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนความเป็นอยู่ ของสมาคมหรือองค์การซึ่งยังมิได้รับอนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติให้ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายได้ หรือซึ่งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้เพิกถอนการอนุญาต หรือสภาวัฒนธรรมแห่งชาติไม่อนุญาตให้สมาคมหรือองค์การนั้นจัดตั้งหรือ ดำรงอยู่ต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

[มาตรา 15 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2486]

มาตรา 16 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และ ให้มีอำนาจออกกฎเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486

[รก.2486/1/29/1 มกราคม 2486]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย