ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2478)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2480
เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่าย พระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดระเบียบ ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479
มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2480/-/778/19 กรกฎาคม 2480]
มาตรา 3 ให้ยกเลิกบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่ง พระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4* ในพระราชบัญญัตินี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของ พระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้า ฯ ถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดนอกจากที่ทรง ได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ รวมทั้งดอกผลที่เกิดจาก บรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายความว่า ทรัพย์สิน ในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายความว่า ทรัพย์สินใน พระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินดังกล่าวแล้ว *[มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 4 ทวิ* ให้ตั้งสำนักงานขึ้นสำนักงานหนึ่งเรียกว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ปฏิบัติการตามความใน มาตรา 5 วรรคสอง ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นนิติบุคคล *[มาตรา 4 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 4 ตรี* ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีก ไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้ จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ให้คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแล โดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีอำนาจหน้าที่ ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมาย และมีอำนาจลงชื่อ เป็นสำคัญผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
*[มาตรา 4 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 5* ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้อยู่ให้ความดูแลรักษา ของสำนักพระราชวัง ทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากที่กล่าวในวรรคก่อน ให้อยู่ใน ความดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น การดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย *[มาตรา 5 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 5 ทวิ* เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตามพระราชอัธยาศัย แต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศการแต่งตั้งนั้นในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อได้มีการประกาศตามความในวรรคก่อนแล้ว ในกรณีทั้งปวง เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด ๆ อันแสดงหรืออนุมานได้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียง ชื่อบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วต่อท้ายด้วยคำว่า ผู้จัดการทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ เท่านั้น *[มาตรา 5 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 6* รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กล่าวใน มาตรา 5 วรรคสองนั้น จะจ่ายได้ก็แต่เฉพาะในประเภทรายจ่ายที่ต้อง จ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน และรายจ่ายในการพระราชกุศล เหล่านี้เฉพาะที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้น รายได้ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่าย ใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ หรือโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการ พระราชกุศลอันเป็นการสาธารณะหรือในทางศาสนาหรือราชประเพณี บรรดาที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น
*[มาตรา 6 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 7* ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 6 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มี บทกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น
*[มาตรา 7 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491)
มาตรา 8 ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมได้รับความ ยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษี อากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน ทรัพย์สินส่วนพระองค์ย่อมไม่อยู่ในข่ายแห่งความยกเว้นดังกล่าวแล้ว
มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ร่วมกันเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับเป็นกฎหมายได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ.พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
| หน้าถัดไป »