สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
วรรณะ รัตนพงษ์
ดร.อนัตต์ ลัคนหทัย
แนวโน้มในอนาคตของกระแสโลกาภิวัตน์
กระแสโลกาภิวัตน์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายอย่างหลากหลายและทั่วถึงส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมมากขึ้นวัฒนธรรมบริโภคนิยมเพิ่มขึ้น เพราะกระแสโลกาภิวัตน์และวิกฤติเศรษฐกิจ การเปิดเสรีทางการค้าก่อให้เกิดภาวะ การปรับตัวไม่ทันทางสังคม การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผัน การแข่งขันสูง ก้าวสู่ระบบทุนนิยม วัตถุนิยม ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ นำไปสู่การพัฒนาในทุกด้าน แต่ขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ความพยายามที่จะก้าวให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์อาจทำลายศักยภาพของคน ชุมชน ท้องถิ่น ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กล่าวคือเกิดภาวะทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น แรงงานที่ไร้คุณภาพ การว่างงานเพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โลกาภิวัตน์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ในสังคมปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมเข้าไปและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันและแนวโน้มในทั้งกระแสโลกาภิวัตน์จะส่งผลต่อด้านต่างๆ คือ
- การคมนาคม การสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก การเปลี่ยนแปลง ณ จุดหนึ่งจุดใดในโลก จะกระทบและรู้กันไปทั่ว
- มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่มากมาย ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล สังคมและชุมชนจำต้องปรับเปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตเดิม มีการสร้างกฎเกณฑ์ และการกีดกันระหว่างผู้ที่แข็งแกร่ง และผู้ที่ด้อยกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง
- โลกมีทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือ ในขณะที่มีการแข่งขันกันอย่างมากไม่ว่าด้านธุรกิจ การศึกษา ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือจับกันเป็นกลุ่ม เป็นพันธมิตรกัน เพื่อร่วมแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างได้แก่ World Trade Organization หรือ WTO (องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
- มีการเผชิญหน้ากันด้วยภูมิปัญญา (knowledge competition) โลกปัจจุบัน ไม่ได้แข่งกันเพียงด้านกำลังเงิน กำลังคนเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ภูมิปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานเน้นที่ความสามารถของบุคคล
- มีความเจริญรุ่งเรืองของผู้ที่แข็งแกร่ง ขณะที่เกิดการล้มละลาย ล่มสลายของผู้ที่อ่อนแอ
ดังนั้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และทุกประเทศต่างมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยที่เสริมสร้างบทบาทของการพัฒนาคือ “นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลไกระดับชาติ” ว่ามีกลไกรองรับกระแสโลกาภิวัตน์มากน้อยเพียงใด ซึ่งการเสริมสร้างศักยภาพ คือแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละประเทศสามารถสร้างกลไกและนโยบายในประเทศให้มีความเข้มแข็งเพียงพอ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับท้องถิ่นคือ “การมี ส่วนร่วมของประชาชน” กำหนดแนวทางการทำงานที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์และวิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่พึงปรารถนา โดยยึดหลักการการพึ่งตนเอง และการสร้างความเข้มแข็งซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะก่อให้เกิดพลังที่จะร่วมกันพัฒนาการกระจายอำนาจผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและมั่นคง
สรุป ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์
นับว่าเป็นการยากมากที่จะประเมินผลความซับซ้อน และปรากฏการณ์ของกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นการยากที่จะแยกแยะผลของโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม โดยในการศึกษาเกี่ยวกับ โลกาภิวัตน์นี้ประเทศส่วนใหญ่หมายรวมถึงการเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการสังคมของประชาชน การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และการมาลงทุนของชาวต่างชาติ กล่าวคือเป็นการนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ เข้าอยู่ในกระแสเศรษฐกิจและระบบการค้าเสรีโดยการพยายามที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ตนเองมีสิทธิพิเศษทางด้านการค้าขายต่างๆ กับประเทศภาคีสมาชิก เพราะฉะนั้นกระแสโลกาภิวัตน์นั้นเองที่เป็นตัวการผลักดันให้เกิดโลกาภิวัตน์ ผลที่ตามกลับมาคือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของกระแสโลกาภิวัตน์นั่นเอง กุญแจสำคัญที่น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ คือ ความเป็นอิสระเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีการสื่อสาร(การย่อโลกให้เล็กลง เช่นอินเตอร์เน็ต)
แนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ คือ การเปิดรับและการเปลี่ยนอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป ในการเข้าร่วมตลาดเศรษฐกิจระดับโลกทั้งทางด้านสินค้า ทุนและบริการ และต้องยอมรับด้วยว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้นำมาซึ่งโอกาส หากแต่มีความเสี่ยงตามมาด้วย กล่าวคือในขณะที่โลกาภิวัตน์นำมาซึ่งโอกาสที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจที่โตขึ้น และมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญปัญหาที่ท้าทายว่าจะสามารถลดความยากจน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้หรือไม่ การร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญและก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยประเทศที่ร่ำรวยควรมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประสบปัญหาด้านการเศรษฐกิจ รัฐบาลควรให้การช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจในประเทศและเสริมสร้างนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุน
» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก
» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์