ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จริยธรรม

ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องและการขัดกันของผลประโยชน์

จากการศึกษาวิวัฒนาการของจริยธรรมข้างต้น จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของการศึกษาเกี่ยวกับจริยธรรม โดยได้รวบรวมแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมที่สำคัญ ดังนี้

พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kohlberg)

ในเรื่องระดับพัฒนาการทางจริยธรรมในทางจิตวิทยา มีนักจิตวิทยาที่เสนอทฤษฏีเพื่อทำความเข้าใจบุคลิกภาพของบุคคลที่สำคัญ คือ Lawrance Kolhberg (๑๙๒๗-๑๙๘๗) ทั้งนี้ โคลเบิร์ก เชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นผลจากการพัฒนาการของโครงสร้างทางความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรม นอกจากนั้น โคลเบิร์ก ยังพบว่า ส่วนมากการพัฒนาทางจริยธรรมของเด็กจะไม่ถึงขั้นสูงสุดในอายุ ๑๐ ปี แต่จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหลายขั้นจากอายุ ๑๑-๒๕ ปี การใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจที่จะเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญของจิตใจของบุคคล การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะทางปัญญา

โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาการทางจริยธรรมตามแนวทฤษฎีของพีอาเจต์ แต่ได้ปรับปรุงวิธีวิจัย การวิเคราะห์ผลรวมและได้ทำการวิจัยอย่างกว้างขวางในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมต่างไปจากสหรัฐอเมริกา โคลเบิร์กได้คิดวิธีวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีระบบการให้คะแนนอย่างมีระเบียบ แบบแผน ผู้ที่จะใช้วิธีการให้คะแนนระดับพัฒนาการทางจริยธรรม จะต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษ โดยสร้างสถานการณ์สมมติปัญหาทางจริยธรรมที่ผู้ตอบยากที่จะตัดสินใจได้ว่า “ถูก” “ผิด” “ควรทำ” หรือ “ไม่ควรทำ” อย่างเด็ดขาด เพราะขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง การตอบจะขึ้นกับวัยของผู้ตอบ เกี่ยวกับความเห็นใจในบทบาทของผู้พฤติกรรมในเรื่องค่านิยม ความสำนึกในหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม ความยุติธรรมหรือหลักการที่ตนยึด จากการวิเคราะห์คำตอบของผู้ตอบวัยต่าง ๆ โคลเบิร์กได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น ๓ ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น ๒ ขั้น (Stages) ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด ๖ ขั้น ดังนี้

ระดับที่ ๑ ระดับก่อนมีจริยธรรมหรือระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม (Pre-Conventional Level) ระดับนี้เด็กจะรับกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของพฤติกรรมที่ “ดี” “ไม่ดี” จากผู้มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดามารดา ครูหรือเด็กโต และมักจะคิดถึงผลตามที่จะนำรางวัลหรือการลงโทษ พฤติกรรม “ดี” คือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รางวัล พฤติกรรม “ไม่ดี” คือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รับโทษ โดยบุคคลจะตอบสนองต่อกฎเกณฑ์ซึ่งผู้มีอำนาจทางกายเหนือตนเองกำหนดขึ้น จะตัดสินใจเลือกแสดงพฤติกรรมที่เป็นหลักต่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น จะพบในเด็ก ๒-๑๐ ปี โดยได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น ๒ ขั้น คือ

  • ขั้นที่ ๑ การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง (Punishment and Obedience Orientation) เด็กจะยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจเหนือตนโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ตนถูกลงโทษ ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ เพราะกลัวความเจ็บปวด ยอมทำตามผู้ใหญ่เพราะมีอำนาจทางกายเหนือตน ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า พฤติกรรมของตน “ถูก” หรือ “ผิด” เป็นต้นว่า ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ผิด” และจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งนั้นอีก พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ถูก” และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล
  • ขั้นที่ ๒ กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน (Instrumental Relativist Orientation) ใช้หลักการแสวงหารางวัลและการแลกเปลี่ยน บุคคลจะเลือกทำตามความพอใจตนของตนเอง โดยให้ความสำคัญของการได้รับรางวัลตอบแทน ทั้งรางวัลที่เป็นวัตถุหรือการตอบแทนทางกาย วาจา และใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการผลประโยชน์สิ่งตอบแทน รางวัล และสิ่งแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งตอบแทน ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง หรือทำดีเพราอยากได้ของตอบแทน หรือรางวัล ไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง แต่มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เช่น ประโยค “ถ้าเธอทำให้ฉัน ฉันจะให้.......”

ระดับที่ ๒ ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม (Conventional Level) พัฒนาการจริยธรรมระดับนี้ ผู้ทำถือว่าการประพฤติตนตามความคาดหวังของผู้ปกครอง บิดามารดา กลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกหรือของชาติ เป็นสิ่งที่ควรจะทำหรือทำความผิด เพราะกลัวว่าตนจะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ผู้แสดงพฤติกรรมจะไม่คำนึงถึงผลตามที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง ถือว่าความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนมีหน้าที่จะรักษามาตรฐานทางจริยธรรม

โดยบุคคลจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่ตนเองอยู่ ตามความคาดหวังของครอบครัวและสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นขณะนั้นหรือภายหลังก็ตาม จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมโดยคำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น จะพบในวัยรุ่นอายุ ๑๐ -๑๖ ปี โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น ๒ ขั้น คือ

  • ขั้นที่ ๓ ความคาดหวังและการยอมรับในสังคม สำหรับ “เด็กดี” (Interpersonal on ordance of “Good boy , nice girl” Orientation) บุคคลจะใช้หลักทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน ไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี พบในวัยรุ่นอายุ ๑๐ -๑๕ ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อทำให้เขาพอใจ และยกย่องชมเชย ทำให้บุคคลไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน

พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นนี้เป็นพฤติกรรมของ “คนดี” ตามมาตรฐานหรือความคาดหวังของบิดา มารดาหรือเพื่อนวัยเดียวกัน พฤติกรรม “ดี” หมายถึง พฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นชอบและยอมรับ หรือไม่ประพฤติผิดเพราะเกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ

  • ขั้นที่ ๔ กฎและระเบียบ (“Law-and-order” Orientation) จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม พบในอายุ ๑๓ -๑๖ ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหน้าที่ของสังคม โดยบุคคลรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น จึงมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สังคมกำหนดให้ หรือคาดหมายไว้

เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นนี้ ถือว่าสังคมจะอยู่ด้วยความมีระเบียบเรียบร้อยต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ คนดีหรือคนที่มีพฤติกรรมถูกต้อง คือ คนที่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับหรือกฎหมาย ทุกคนควรเคารพกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของสังคม

ระดับที่ ๓ ระดับจริยธรรมตามหลักการด้วยวิจารณญาณ หรือระดับเหนือกฎเกณฑ์สังคม (Post - Conventional Level) พัฒนาการทางจริยธรรมระดับนี้ เป็นหลักจริยธรรมของผู้มีอายุ ๒๐ ปี ขึ้นไป ผู้ทำหรือผู้แสดงพฤติกรรมได้พยายามที่จะตีความหมายของหลักการและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณ ก่อนที่จะยึดถือเป็นหลักของความประพฤติที่จะปฏิบัติตาม การตัดสินใจ “ถูก” “ผิด” “ไม่ควร” มาจากวิจารณญาณของตนเอง ปราศจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจหรือกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก กฎเกณฑ์ - กฎหมาย ควรจะตั้งบนหลักความยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก ทำให้บุคคลตัดสินข้อขัดแย้งของตนเองโดยใช้ความคิดไตร่ตรองอาศัยค่านิยมที่ตนเชื่อและยึดถือเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ จะปฏิบัติตามสิ่งที่สำคัญมากกว่าโดยมีกฎเกณฑ์ของตนเอง ซึ่งพัฒนามาจากกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น ๒ ขั้น คือ

  • ขั้นที่ ๕ สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา (Social Contract Orientation) บุคคลจะมีเหตุผลในการเลือกกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนหมู่มาก ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น สามารถควบคุมตนเองได้ เคารพการตัดสินใจที่จะกระทำด้วยตนเอง ไม่ถูกควบคุมจากบุคคลอื่น มีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามค่านิยมของตนและมาตรฐานของสังคม ถือว่ากฎเกณฑ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงได้ โดยพิจารณาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก พบได้ในวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามมาตรฐานของสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยบุคคลเห็นความสำคัญของคนหมู่มากจึงไม่ทำตนให้ขัดต่อสิทธิอันพึงมีได้ของผู้อื่น สามารถควบคุมบังคับใจตนเองได้ พฤติกรรมที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามค่านิยมส่วนตัว ผสมผสานกับมาตรฐานซึ่งได้รับการตรวจสอบและยอมรับจากสังคม ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม โดยพิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของบุคคลก่อนที่จะใช้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรม ได้ใช้ความคิดและเหตุผลเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนผิดและสิ่งไหนถูก ในขั้นนี้การ “ถูก” และ “ผิด” ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความคิดเห็นของบุคคลแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเห็นความสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคล แต่เปิดให้มีการแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์และสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น ขั้นที่ ๖ หลักการคุณธรรมสากล (Universal Ethical Principle Orientation) เป็นขั้นที่เลือกตัดสินใจที่จะกระทำโดยยอมรับความคิดที่เป็นสากลของผู้เจริญแล้ว ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหลักการคุณธรรมสากล โดยคำนึงความถูกต้องยุติธรรมยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มีอุดมคติและคุณธรรมประจำใจ มีความยืดหยุ่นและยึดหลักจริยธรรมของตนอย่างมีสติ ด้วยความยุติธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เคารพในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล ละอายและเกรงกลัวต่อบาป พบในวัยผู้ใหญ่ที่มีความเจริญทางสติปัญญา

ขั้นนี้เป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชนและเพื่อความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคน ในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก” และ “ผิด” ป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ

โคลเบิร์ก เชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นผลจากการพัฒนาการของโครงสร้างทางความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรม นอกจากนั้น โคลเบิร์ก ยังพบว่า ส่วนมากการพัฒนาทางจริยธรรมของเด็กจะไม่ถึงขั้นสูงสุดในอายุ ๑๐ ปี แต่จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหลายขั้นจากอายุ ๑๑-๒๕ ปี การใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจที่จะเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญของจิตใจของบุคคล การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะทางปัญญา

บ่อเกิดของเหตุผลเชิงจริยธรรมได้มาจากการพัฒนาการทางความคิด ในขณะที่เด็กได้มีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้เข้ากลุ่มทางสังคมประเภทต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ที่มีความสามารถได้เรียนรู้บทบาทของตนเองและของผู้อื่น อันจะช่วยให้เขาพัฒนาทางจริยธรรมในขั้นสูงขึ้นไปได้รวดเร็ว โคลเบิร์ก เชื่อว่า การพัฒนาทางจริยธรรมนั้นมิใช่การรับความรู้จากการพร่ำสอนของผู้อื่นโดยตรง แต่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้เกี่ยวกับบทบาทของผู้อื่นด้วย รวมทั้งข้อเรียกร้องและกฎเกณฑ์ของกลุ่มต่างๆที่อาจจะขัดแย้งกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้บุคคลพัฒนาไปตามขั้นตอน ในทิศทางเดียวกันเสมอ ไม่ว่าบุคคลจะอยู่ในกลุ่มใดหรือสังคมใดก็ตาม

ส่วนการพัฒนาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมนั้น โคลเบิร์ก เชื่อว่าเป็นไปตามนั้น จากขั้นที่หนึ่งผ่านแต่ละขั้นไปจนถึงขั้นที่หก บุคคลจะพัฒนาข้ามขั้นไม่ได้ เพราะการใช้เหตุผลในขั้นสูงขึ้นไป จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีความสามารถในการใช้เหตุผลในขั้นที่ต่ำกว่าอยู่ก่อนแล้ว และต่อมาบุคคลได้รับประสบการณ์ทางสังคมใหม่ๆ หรือสามารถเข้าใจความหมายของประสบการณ์เก่าๆ ได้ดีขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและเหตุผล ทำให้การใช้เหตุผลในขั้นที่สูงต่อไปมีมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนเหตุผลในขั้นที่ต่ำกว่าก็จะถูกใช้น้อยลงทุกทีจนถูกทิ้งไปในที่สุด นอกจากนั้นมนุษย์ทุกคนก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาทางจริยธรรม ไปถึงขั้นสุดท้ายแต่อาจจะหยุดชะงักที่ขั้นใดขั้นหนึ่งที่ต่ำกว่าได้ โคลเบิร์กพบว่า ผู้ใหญ่ส่วนมากจะพัฒนาการถึงขั้นที่ ๔ เท่านั้น

ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม

ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุพฤติกรรมของคนดีและคนเก่ง โดยได้ทำการประมวลผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ ๖-๖๐ ปี ว่าพฤติกรรมเหล่านั้น มีสาเหตุทางจิตใจอะไรบ้าง และ ได้นำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทยขึ้น โดยแบ่งต้นไม้จริยธรรม ออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ดอกและผลไม้บนต้น ที่แสดงถึงพฤติกรรมการทำดีละเว้นชั่วและพฤติกรรมการทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อส่วนรวม ซึ่งล้วนแต่เป็นพฤติกรรมของพลเมืองดี พฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาประเทศ
  • ส่วนที่สอง ได้แก่ ส่วนลำต้นของต้นไม้ แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่าง ขยันขันแข็ง ซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ ๕ ด้าน คือ
    ๑) เหตุผลเชิงจริยธรรม
    ๒) มุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง
    ๓) ความเชื่ออำนาจในตน
    ๔) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
    ๕) ทัศนคติ คุณธรรมและค่านิยม
  • ส่วนที่สาม ได้แก่ รากของต้นไม้ ที่แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็งซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ ๓ ด้าน คือ
    ๑) สติปัญญา
    ๒) ประสบการณ์ทางสังคม
    ๓) สุขภาพจิต

ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม แสดงจิตลักษณะพื้นฐาน และองค์ประกอบทางจิตใจ
ของพฤติกรรมทางจริยธรรม

จิตลักษณะทั้งสามนี้อาจใช้เป็นสาเหตุของการพัฒนาจิตลักษณะ ๕ ประการ ที่ลำต้นของต้นไม้ก็ได้ กล่าวคือ บุคคลจะต้องมีลักษณะพื้นฐานทางจิตใจ ๓ ด้าน ในปริมาณที่สูงพอเหมาะกับอายุ จึงจะเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาจิตลักษณะทั้ง ๕ ประการ ที่ลำต้นของต้นไม้ โดยที่จิตทั้ง ๕ ลักษณะนี้จะพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติ ถ้าบุคคลที่มีความพร้อมทางจิตใจ ๓ ด้านดังกล่าวและอยู่ในสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมที่เหมาะสม นอกจากนั้นบุคคลยังมีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาจิตลักษณะบางประการใน ๕ ด้านนี้ โดยวิธีการอื่น ๆ ด้วย

ฉะนั้นจิตลักษณะพื้นฐาน ๓ ประการ จึงเป็นสาเหตุของพฤติกรรมของคนดีและของคนเก่งนั่นเอง นอกจากนี้จิตลักษณะพื้นฐาน ๓ ประการที่รากนี้ อาจเป็นสาเหตุร่วมกับจิตลักษณะ ๕ ประการที่ลำต้น หากบุคคลมีพื้นฐานทางด้านจิตใจเป็นปกติและได้รับประสบการณ์ทางสังคมที่เหมาะสม บุคคลนั้นก็จะสามารถพัฒนาโดยธรรมชาติ แต่ในสังคมไทยมีการวิจัยพบว่าพัฒนาการหยุดชะงักอย่างไม่เหมาะสมกับวัย กล่าวคือ ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งซึ่งสมควรพัฒนาการใช้เหตุผลไปถึงขั้นสูงแล้วแต่ยังหยุดชะงักที่ขั้นต่ำ เช่น ยังยึดหลักแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนพวกพ้อง เป็นต้น บุคคลที่มีแรงจูงใจดังกล่าวจึงยังไม่สามารถคิดประโยชน์เพื่อสังคมได้

ดังนั้น บุคคลจึงควรมีการตรวจสอบจริยธรรมของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การบันทึกกิจกรรมที่ได้กระทำแต่ละวันทำให้ได้ข้อมูล เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ ดีงามยิ่งขึ้น ซึ่งการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติหรือกิจกรรมที่ได้กระทำ เสมือนการปฏิบัติธรรมโดยวิธี นั่งสมาธิ เพราะในขณะที่จิตกำลังทบทวนสิ่งที่ได้กระทำ เสมือนเป็นการพิจารณาตัวเอง พิจารณาการกระทำดีและไม่ดี ในขณะที่จิตพิจารณาก็จะเกิดสมาธิ และเมื่อได้พิจารณาตนเองแล้ว ก็สามารถเข้าใจตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ซึ่งเป็นเสมือนเกิดปัญญาในการนำพาชีวิตผ่านพ้นทุกข์ได้ ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest)

ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest)

คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันของผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก

การขัดกันของผลประโยชน์มิได้ปรากฏแต่ในทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บุคคลมีบทบาทหลากหลายและบทบาทเหล่านั้นก็เกิดขัดกันเอง เช่น ผู้จัดการฝ่ายขายอาจมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และก็อาจมีหน้าที่ในทางกตัญญูกตเวทีต่อญาติ พี่น้องที่มาเสนอขายสินค้าใด ๆ เป็นต้น

ผาสุก พงศ์ไพจิตร ได้อธิบายความหมายของผลประโยชน์ทับซ้อน หมายถึง การทับซ้อนของผลประโยชน์ของบุคคลที่มี 2 สถานะ หรือมากกว่าในเวลาเดียวกัน คือ ตำแหน่งสาธารณะ (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดี ฯลฯ) และตำแหน่งในบริษัทเอกชน ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจมีความโน้มเอียงใช้อำนาจและตำแหน่งสาธารณะหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือแสวงหาประโยชน์ให้แก่กลุ่มพวกพ้องของตนเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างง่ายดาย เช่น กรณีของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมีหุ้น หรือครอบครัวใกล้ชิดเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งได้รับสัมปทานหรืออยู่ในฐานะจะได้รับสัมปทานธุรกิจจากรัฐ ขณะเดียวกันก็อยู่ในตำแหน่งสาธารณะที่เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้สัมปทานธุรกิจดังกล่าวด้วย ตัวอย่างที่พบ คือ การได้ชนะประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากภาครัฐ เพราะผู้ชนะประมูลมีพรรคพวกเป็นนักการเมือง หรือบริษัทที่ชนะประมูลมีนักการเมืองร่วมหุ้นอยู่เป็นหุ้นลม การชนะประมูลดังกล่าวด้วยอิทธิพลทางการเมืองจะส่งผลให้บริษัทผู้ชนะประมูลสามารถหากำไรเกินควรได้ การคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ ได้กลายเป็นแหล่งหารายได้จากการคอร์รัปชั่นที่สำคัญของนักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่นิยม รัฐอมฤต ให้ความหมายของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผลประโยชน์ขัดกันว่าหมายถึง สถานการณ์ที่บุคคล เช่น ทนายความ นักการเมือง หรือผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการของบริษัท มีผลประโยชน์ทางวิชาชีพหรือส่วนตัวแข่งกับตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจ การมีผลประโยชน์แข่งกันในลักษณะเช่นนี้ ทำให้การทำหน้าที่โดยไม่ลำเอียงทำได้ยาก แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานการกระทำที่ไม่เหมาะสม การมีผลประโยชน์ทับซ้อนอาจทำให้เกิดภาพของความไม่เหมาะสมที่อาจบ่อนทำลายความไว้วางใจในความสามารถของบุคคลที่จะกระทำอย่างเหมาะสม ในวิชาชีพกฎหมาย ความซื่อสัตย์ต่อลูกความ ทนายหรือสำนักกฎหมายที่มีผลประโยชน์ได้เสียอยู่กับลูกความจะถูกกันไม่ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกความ เช่น สำนักกฎหมายเดียวกันจะต้องไม่ทำหน้าที่ว่าความในคดีหย่า ให้กับทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

นอกจากนี้ ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจหมายถึง สถานการณ์ที่ปัจเจกบุคคลหรือบริษัทอยู่ในฐานะที่จะแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งวิชาชีพ หรือตำแหน่งราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบริษัท กรณีผลประโยชน์ขัดกัน โดยสภาพไม่ได้หมายความมีการกระทำผิดเกิดขึ้น แต่ในทางวิชาชีพหลายแขนงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดกรณีการขัดกันทางผลประโยชน์เป็นครั้งเป็นคราว สภาพการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอาจเป็นปัญหาทางกฎหมาย ถ้าบุคคลพยายามที่จะใช้อิทธิพลโน้มน้าวการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนเช่น เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในกรณีที่ตัวเองมีผลประโยชน์ได้เสียอยู่กับเรื่องดังกล่าว การทำงานภายนอกโดยงานนั้นมีผลประโยชน์ขัดกับงานปกติที่ทำอยู่ หรือการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทที่เป็นญาติโยมหรือตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ

ประเภทหรือรูปแบบการขัดกันของผลประโยชน์ที่ปรากฏมากที่สุด ได้แก่

  • การขัดกันของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่วนตัว เป็นกรณีที่ผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตัวเกิดอยู่กันคนละฟาก อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ในธุรกิจที่เป็นเจ้าของเป็นการส่วนตัว
  • การขัดกันของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภายนอก เป็นกรณีที่บุคคลมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจการงานหลายอย่างโดยมีธุรกิจการงานหลัก ๆ ของตนเองอยู่แล้ว และผลประโยชน์ในการงานหลักเกิดอยู่คนละฟากกับผลประโยชน์ในการงานรอง
  • การขัดกันของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติ เป็นกรณีที่เครือญาติจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจการงานของตน หรือกรณีที่ธุรกิจการงานของตนจะต้องใช้บริการใด ๆ จากธุรกิจการงานของญาติ อาจทำให้ตนเกิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนครอบครัวหรือเครือญาติ และกระทำการทุจริตต่อธุรกิจการงานของตนได้ ในหลาย ๆ หน่วยงานจึงมีการกำหนดมิให้เจ้าหน้าที่ของตนประกอบธุรกิจกับเครือญาติของตัวเอง
  • การขัดกันของผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับมิตรสหาย เป็นกรณีที่บุคคลจะเข้าทำธุรกิจการงานกับมิตรสหายของตน คล้าย ๆ กับกรณีของเครือญาติดังกล่าว

พฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างอื่นบางทีก็จัดเข้าพวกเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ อาทิ การรับสินบนซึ่งอาจจัดเข้าเป็นการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่อีกประเภทหนึ่งด้วยก็ได้ ตลอดจนการใช้อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน ทรัพยากร หรือบุคลากรของหน่วยงานของตนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่งก็อาจจัดเข้าเป็นการฉ้อโกงได้อีกประเภทหนึ่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายคล้ายคลึงและมักมีการใช้แทนกันอีกคำ คือ คำว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ซึ่งหมายถึง การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น หรือการขัดกันระหว่าง “หมวก” หลายใบที่คนคนเดียวกันสวมใส่

เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ถือเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งแม้แต่องค์กรธุรกิจแสวงหากำไรก็ปฏิบัติกัน อันจะนำมาซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีขององค์กรตลอดจนผู้ใช้บริการและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย การละเมิดจริยธรรมพื้นฐานอย่างผลประโยชน์ทับซ้อนนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นองค์กรสาธารณะชน ราชการ รัฐวิสาหกิจ และโดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชนทั่วไปนั้น จึงยิ่งควรรักษาจริยธรรมขั้นต้นนี้ให้ดี เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนทั่วไป

อ่านต่อ >>>

ความหมายของจริยธรรม
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก
ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องและการขัดกันของผลประโยชน์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย