ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ศาสนาพราหมณ์
โดย : ปาระตี
หากกล่าวถึงศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว หลายคนคงจะต้องยกให้ ศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู เป็นแน่ เพราะเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความเชื่อทางศาสนาอันเก่าแก่ที่แม้จะไม่มีศาสดาของศาสนาแต่ก็ยังคงมีผู้นับถือสืบต่อกันมานับแต่สมัยอินเดียโบราณ ก่อนยุคพระพุทธศาสนาตราบจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีความน่าสนใจอย่างยิ่งที่นอกจากจะเป็นศาสนาอันเก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ (พระเวท) ยังได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
ความพิเศษของศาสนาพราหมณ์คือไม่มีศาสดาของศาสนาแต่มีการนับถือพระเป็นเจ้า หรือ
เทวะ ผู้เป็นใหญ่ในศาสนามากถึง 3 พระองค์ด้วยกัน โดย เทวะ ทั้ง 3
พระองค์ก็จะมีคุณสำคัญแตกต่างกันออกไป คือ
1. รช มีความหมายถึง การก่อเกิด เริ่มต้น พลังด้านบวกของการก่อกำเนิด
เป็นคุณแห่งพระพรหม คือ พระผู้สร้าง ทรงเป็นผู้สร้างสากลโลกให้ถือกำเนิดขึ้นมา
2. สัตวะ มีความหมายถึง คุณความดี ความสว่างไสว
เป็นคุณแห่งการผลักดัน ก้าวเดิน ดำเนินไปเบื้องหน้า ธำรงไว้ ถนอม
และรักษาอันสากลโลกที่ได้ถูกสร้างขึ้นมา เป็นคุณแห่งพระนารายณ์ คือ
พระผู้ปกปักษ์
3. ตมะ มีความหมายถึง ความมืด การทำลายล้าง
อันเป็นคุณแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร ซึ่งจะทรงทำลายสากลโลกที่ถูกสร้างขึ้นมา
เมื่อคราวอันต้องทำลายมาถึง
ในอดีตศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู
จะมีการจัดคัมภีร์ออกเป็น 3 พวก ตามแต่การยกย่องนับถือเทวะทั้ง 3
โดยจะแบ่งแยกออกเป็น 3 นิกายใหญ่ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
นิกายใดนับถือเทวะองค์ไหนก็ยกย่องว่าเทวะองค์นั้นสูงสุด
ต่อมาพวกนักปราชญ์ชาวฮินดูจึงได้กำหนดให้เทวะทั้งสามองค์เป็นใหญ่สูงสุดเสมอกัน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดความแตกแยกในการยกย่องเทวะของศาสนาซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน
เทวะทั้ง 3 องค์นี้เมื่อถูกนำมารวมกันแล้วจึงมีนามเรียกโดยรวมทั้งสามพระองค์ว่า
ตรีมูรติ และใช้คำสวดว่า โอม โดยย่อมาจาก อะ อุ มะ
ซึ่งในความหมายของคำทั้งสามนี้ แต่ละพยางค์ก็จะแทนเทวะแต่ละองค์ คือ
อะ ( อ. ) แทนพระวิษณุหรือพระนารายณ์
อุ. แทนพระศิวะหรือพระอิศวร
มะ ( ม. ) แทนพระพรหม
อะ-อุ-มะ
ทั้งสามนี้รวมกันเป็นพยางค์หนึ่งอันศักดิ์สิทธิ์ คือ โอม
ในหนึ่งพยางค์มีความหมายถึงการระลึกถึงเทวะทั้งสามพระองค์ รวมเรียกว่า ตรีมูรติ
อันหมายถึง มีรูป 3 ซึ่งก็คือเทวะทั้ง 3
พระองค์อันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยคำว่า 'โอม'
นี้จะถูกแทนด้วยอักษรเทวนารี (อักษรโอม) ซึ่งหมายถึง เทวะทั้ง 3 พระองค์
ในส่วนของการถือกำเนิดนั้น
แม้ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าใครเป็นเป็นผู้ก่อกำเนิด
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าศาสนานี้มีรากฐานการถือกำเนิดมาจากชาวฮินดูในประเทศอินเดีย
เนื่องจากเป็นศาสนาของชาวฮินดูหรืออินเดียโบราณ มีชื่อเรียกในเบื้องต้นว่า
สนาตนธรรม อันมีความหมายถึง ศาสนาที่มีหลักธรรมอันเป็นของเก่าหรือนิรันดร์
โดยเหตุที่ศาสนาพราหมณ์ได้ชื่อเรียกเช่นนี้ก็เพราะความเชื่อที่ว่า
ศาสนาพราหมณ์นั้นมีหลักธรรมอันเป็นนิรันดร์ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า
ไวทิกธรรม หมายถึง ศาสนาหรือหลักธรรมที่เนื่องด้วยคำสอนในพระเวทย์
โดยที่ชาวอินดูถือว่า
ศาสนาของพวกเขานั้นมีมาก่อนประวัติศาสตร์และถือว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ในยุคเริ่มแรกเลยนั้นศาสนาพราหมณ์นี้จะยังไม่ถูกเรียกว่า 'ฮินดู'
เพียงจะเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ที่แปลว่า ศาสนาของพระพรหมณ์
อันเป็นศาสนาที่เกิดจากพระพรหมณ์เท่านั้น
ศาสนาพราหมณ์นั้นได้วางหลักไว้ด้วยคาถาสันสกฤตที่ว่า เอกเมว อทฺทวิติยมฺ
(เอ-กะ-เม-วะ, อัท-ทะ-วิ-ติ-ยัม) แปลว่า หนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีสอง
คาถานี้เน้นในความเป็นเอกภาพ
นอกจากพระพรหมทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นมายาของปลอมทั้งสิ้น
การปฏิบัติตนให้ไปสู่ความหลุดพ้นและไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระพรหม
หรือการกลับคืนสู่พรหม เรียกว่า พรหมมัน หรือ พรหมาตมัน
ข้อกำหนดที่ว่านี้นับเป็นหลักอันสำคัญอย่างยิ่งของศาสนาพราหมณ์
และเป็นบทบัญญัติอันแท้จริงของพระเวทย์
ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่ได้เกิดมีมาช้านานแล้วในประเทศอินเดีย
เป็นศาสนาของชนเผ่าอารยัน หรืออินโดยูโรเปียน ( Indo-Europen )
บรรพบุรุษของพวกอินโด-อารยัน ตั้งรกรากอยู่เหนือเอเซียตะวันออก (
ตอนกลางของทวีปเอเชีย - Cenural Asia ) โดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
กลุ่มอารยันต้องเร่ร่อนทำมาหากินเหมือนกันชนเผ่าอื่นๆ
ในจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการแยกย้ายถิ่นฐาน เกิดมีประเพณี
และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ชนชาติอารยันแยกออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มโดย
กลุ่มที่ 1 แยกไปทางตะวันตกเข้าสู่ทวีปยุโรป ( ไปเป็นชนชาติต่างๆ ในยุโรป )
กลุ่มที่ 2 ลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้
อนุมานได้ว่าน่าจะเป็นชนชาติอิหร่านในเปอร์เซีย
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด กลุ่มนี้แยกลงมาทางใต้
อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ ( Indus ) มีชื่อเรียกว่า 'ฮินดู'
ชาวอารยันกลุ่มนี้เมื่อรุกเข้าในแถบลุมแม่น้ำสินธุแล้วก็ได้ไปพบกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า
ดราวิเดียน ( Dravidain ) หรือมิลักขะ ( คนป่า ) บางครั้งก็เรียกว่า ทัสยุ (
ทาส ) ซึ่งหมายถึง ทาส ของอารยันนั่นเอง
ก่อนที่จะถูกชนชาติอารยันเข้ามารุกรานนั้น พวกทัสยุ หรือ ทาส นี้
ที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุมีความเชื่อ มีวัฒนธรรม
และมีศาสนาของตนอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งการเริ่มต้นศาสนาของพวกอารยันก็ได้นำเอาศาสนาของพวกทัสยุมาผสมผสานอยู่ด้วยเป็นอันมาก
ศาสนาของชาวอารยันนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยมีมูลเหตุอย่างหนึ่งคือ '
ความไม่รู้จักภูมิศาสตร์ ' หมายถึงว่า
ชาวอารยันดั้งเดิมนั้นมิได้มีความรู้ในมูลเหตุแห่งธรรมชาติ
จึงได้ยกย่องธรรมชาติประเภทต่างๆ ขึ้นเป็นเทวะ ( เทพเจ้า )
และแบ่งออกเป็นหมวดสูงต่ำเพื่อสะดวกแก่การนับถือและการทำบัตพลีจัดพิธีกรรมถวาย
หมวดสูงต่ำแห่งเทวะนี้มีทั้งสิ้น 3 หมวดคือ
เทวะบนสรรค์ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
เทวะบนพื้นอากาศ เช่น วายุ วรุณ ( ฝน )
เทวะบนพื้นโลก เช่น อัคคี ( ไฟ ) ธรณี ( แผ่นดิน )
ต่อมาศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู
ได้มีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากศาสนาพราหมณ์เมื่อ 700-1,000 BC.
เกิดมีคัมภีร์และวรรณคดีทางศาสนาขึ้นมามากมาย ปรัชญาต่างๆ ก็แตกแขนงออกไปมาก
ซึ่งยุคของศาสนาพราหมณ์นับแต่การวิวัฒนาการดั้งเดิมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นยุคต่างๆ
ดังนี้
1. ยุคพระเวท ( Vedie Period - Veda Period )
2.ยุตมหากาพย์และทรรศนะทั้ง 6
3. ยุคหลังจนถึงปัจจุบัน
ยุคพระเวท ( Vedie Period - Veda Period )
ในยุคนี้ได้มีคัมภีร์พระเวทซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการว่า
เป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้ประมาณเวลาของพระเวทที่เก่าแก่ที่สุดเอาไว้โดยอาศัยวิธีในการคำนวณทางดาราศาสตร์
ว่าน่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่ 4,000-2,500 BC.
แต่บางท่านก็ประมาณเวลาไว้ว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลา 1,400-1,000 BC 2
คัมภีร์พระเวท
คัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่ต่างก็รู้จักเป็นอย่างดีนั่นคือ คัมภีร์พระเวท
คำว่า พระเวท (Vedas) หมายถึง ความรู้ศักดิ์สิทธิ์
คัมภีร์พระเวทนั้นถือเป็นแหล่งอันสูงสุดในการพิจารณาตัดสินปัญหาในทางปรัชญาและศาสนา
ชาวอารยันได้รวบรวมบทสวดอ้อนวอนเทวะที่ใช้กันมาในวงศ์ตระกูลขึ้นเป็นหมวดหมู่
คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า เวท หรือ วิทยา ได้แก่ความรู้ซึ่งถือเป็น ศรุติ3
หมายถึง วิทยาที่ได้รับฟังมาจากเทวะ คือ ความรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงให้ปรากฏ
โดยบรรดา ฤษี รับการถ่ายทอดมาโดยตรง
แล้วนำมาเผยแพร่ด้วยการท่องจำแบบปากเปล่าในเฉพาะหมู่ของพวกพราหมณ์
ความรู้เช่นนี้จะเรียนกันเฉพาะหมู่ของบุคคลที่เลือกสรรแล้ว
คัมภีร์พระเวทนี้ก็ยังมีแยกย่อยลงไปอีกเป็น ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อถรรพเวท
1. ฤคเวท
นับเป็นคัมภีร์เล่มแรกในวรรณคดีพระเวท เป็นตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ประกอบไปด้วยบทสวดที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณ
อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก
รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง
ซึ่งจะใช้ในพิธีการบรวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ ของชาวอารยัน ตามประเพณีของฮินดูแล้ว
การแบ่งหมวดหมู่ของคัมภีร์พระเวทนี้ วยาส ( ผู้แต่งมหากาพย์ มหาภารตะ )
เป็นผู้ทำขึ้นโดยรับคำสั่งจากพระพรหมณ์ การจัดรวบรวมบทสวดในคัมภีร์ฤคเวทนี้
เรียกว่า ฤคเวทสังหิตา
2. ยชุรเวท
แสดงถึงพิธีกรรมต่างๆ ทั้งการบูชาและการบวงสรวง
เป็นคัมภีร์ที่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ4 ใช้ในการทำพิธีบูชา รจนาขึ้นราว 1-2
ศตวรรษหลังจากฤคเวท โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาจากฤคเวท
นำมาดัดแปลงและเรียบเรียงขึ้นใหม่
อีกส่วนเป็นบทร้องกรองที่ใช้ในพิธีบูชาโดยเฉพาะ ยชุรเวทนี้แบ่งออกเป็น 2
ชนิดคือ
2.1. ไตติริยะสังหิตา หรือ " กฤษณะ " หรือ " ยชุรเวทดำ "
เป็นยชุรเวทเดิมที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยก
2.2. วาชเนยิสังหิตา หรือ " ศุคล " หรือ " ยชุรเวทขาว "
คือยชุรเวทที่แบ่งเฉพาะโศลกไว้พวกหนึ่ง และร้อยแก้วไว้อีกพวกหนึ่ง
ในการทำพิธีบูชายัญนั้น พิธีที่สำคัญคือ ทศปุรณมาส
เป็นการกระทำพิธีในคืนพระจันทร์เต็มดวง และ อัศวเมธ
คือการทำพิธีบูชายัญด้วยการถวายม้า
3. สามเวท
เนื้อหาส่วนใหญ่ของสามเวทนี้จะได้มาจากฤคเวท นำมาร้อยกรองเป็นบทสวด
เป็นเนื้อหาในส่วนที่ใช้ในการแสดงกลศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์
รวมถึงสังคีตอันเป็นบทสวดสรรเสริญคุณและฤทธิ์ของเทวะ
ใช้เฉพาะในหมู่ของพวกพราหมณ์ อุทคาตรี4 สำหรับการทำพิธีบูชาน้ำโสม
สังหิตาของสามเวทนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ' อรชิต ' มีบทร้อยกรอง 585 บท และ '
อุตตรารชิต ' มีบทร้อยกรอง 1,225 บท
คัมภีร์พระเวทสามเล่มแรกนี้ หมายถึง ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท
นับเป็นสามเล่มหลักรวมเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท
4. อาถรรพเวท
เป็นพระเวทที่สี่ซึ่งเขียนขึ้นมาในภายหลัง
ประกอบด้วยบทสวดคาถาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เป็นพระเวทย์ชนิดพิเศษเรียกว่า ' ฉันท์
'
อันมิได้ถูกจัดอยู่ในไตรเวทเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีบูชายันแต่อย่างใด
อาถรรพเวทนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่ปรากฏแก่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ
พระเวทตอนนี้มีความเกี่ยวของกับไสยศาสตร์บทสวดต่างๆ
อันมีจุดประสงค์เพื่อขจัดโรคและภัยพิบัติ
ทั้งกล่าวรวมถึงหน้าที่ของกษัตริย์และสัจธรรมขั้นสูง
คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ตอนใหญ่ๆ คือ มันตระ และ พราหมณะ
มันตระ หรือ มนต์ จะรวบรวมบทสวดที่กล่าวถึงเทพเจ้าแห่งปัญญา สุขภาพ
ความมั่งคั่ง และความมีอายุยืน รวมถึงบทสวดอ้อนวอนเพื่อขอทาสบริวาร สัตว์เลี้ยง
บุตร ชัยชนะในสงคราม
หรือแม้กระทั่งการของให้ยกเลิกซึ่งบาปทั้งปวงอันได้กระทำลงไป บางทีก็เรียกว่า
สังหิตา หมายถึง บทสวดหรือมนต์ที่ใช้ในการทำพิธีบูชานั่นเอง
คัมภีร์ ฤคเวท 'มันตระ' จะเรียกว่า ฤค
อันเป็นร้อยกรองที่มีใจความในการสรรญเสริญพระเจ้า
เป็นท่วงทำนองเพื่อการอ่านออกเสียงในการทำพิธีบรวงสรวง
คัมภีร์ ยชุรเวท 'มันตระ' เรียกว่า ยชุส เป็นร้อยแก้ว ที่ใช้สวดออกเสียงค่อยๆ
ในการประกอบศาสนพิธี
คัมภีร์ สามเวท 'มันตระ' จะเรียกว่า สามัน อันเป็นบทสวดมีทำนอง
แต่ใช้เฉพาะในพิธีบูชาน้ำโสม
ส่วนใน อถรรพเวทนั้น มันตระ ไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ
พราหมณะ
เป็นส่วนที่อธิบายถึงวิธีและรายละเอียดในการจัดศาสนพิธิที่ต้องสวดมันตระ
และอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับมันตระ คัมภีร์พระเวทเฉพาะตอนของ
พราหมณะ นี้ ยังสามารถแยกออกเป็นแขนงสำคัญได้อีก 2 แขนงคือ อารัณยกะ และ
อุปนิษัท
อารัณยกะ แปลว่า บทเรียนผู้อยู่ในป่า
เป็นบทคำสอนการดำเนินชีวิตของพราหมณ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งออกจากป่าบำเพ็ญเพื่อบรรลุโมษะ
การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นๆ เรียกว่า การเข้าสู่อาศรม
คัมภีร์อารัณยกะนี้มีลักษณะการพัฒนาทางจิตอันก้าวไปได้ไกลมากในพัฒนาการของแนวความคิดทางศาสนาของชาวอินดู
อาศรมแห่งการบำเพ็ญเพียร ประพฤติตนให้เป็นพราหมณ์
ดำเนินความตามคัมภีร์อารัณยกะแห่งพราหมณะมีอยู่ 4 อาศรม หรือ 4
ลำดับแห่งการบำเพ็ญตน คือ
1. พรหมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
2. คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน
3. วนปรัสถ์ แปลว่า ผู้อยู่ป่า
4. สันยาสี แปลว่า ผู้แสวงหาธรรม
ยุคมหากาพย์และทรรศนะทั้ง 6
ยุคนี้มีการประมาณช่วงเวลาน่าจะอยู่ในระหว่าง 600-200 BC. รวมระยะเวลาประมาณ
800 ปี นับว่ามีความสำคัญมาก
เพราะเป็นยุคที่มีพระพุทธศาสนาและศาสนาเชนเกิดขึ้นมา
ทั้งในส่วนของศาสนาพราหมณ์เองก็ยังมีคัมภีร์ทางศาสนาแตกแขนงออกมาอีก คือ
1. มหากาพย์รามายณะ มหากาพย์รามายณะนี้มีลักษณะเป็นบทกวี มีทั้งสิ้น 24,000
โศลก กล่าวถึงเรื่องราวการอวตารลงมาปราบอสูร ราวณะ หรือ ทศกัณฐ์
ขององค์มหาเทพวิษณุ (พระนารายณ์) ซึ่งอวตารลงมาเป็นพระราม อันเป็นภาคอวตารที่ 7
ของพระองค์
มหกาพย์รามายณะนี้นับเป็ฯอีกหนึ่งในวรรคดีของศาสนาพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเลยทีเดียว
2. มหากาพย์มหาภารตะ รจนาไว้เป็นบทกวีเช่นเดียวกัน มีทั้งสิ้น 220,000 บรรทัด
ภาคนี้มีการกล่าวถึงอวตารที่ 8 ขององค์พระวิษณุ ซึ่งอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ
ผู้เป็นสารถีขับรถศึกให้แก่พระอรชุน
พร้อมกันนั้นก็ได้สอนพระศาสนาต่อพระอรชุนด้วย
มหากาพย์ภารตะนี้ถูกยกย่องให้เป็นยอดของปรัชญาในยุคที่สองเลยทีเดียว
3. ทรรศนะทั้ง 6
เป็นส่วนปรัชญาของศาสนาพรามหณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับพระพุทธศานาและศาสนาเชน
นี้มีทั้งหลักการและปรัชญาในการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู โดยทรรศนะทั้ง 6
นี้ได้แก่
1. นยานะ ของ โคตมะ
2. ไวเศษิกะ ของ กณาทะ
3. สางขยะ ของ กปิละ
4. โยคะ ของ ปตัญชลิ
5. มีมางสา หรืออีกนามหนึ่งว่า ปรวมีมางสา ของ ไชมินิ
6. เวทานตะ หรือ อุตตรมีมางสา ของ พาท รายณะ
4. ธรรมศาสตร์ คัมภีร์ธรรมศาสตร์นี้ผู้แต่งคือท่าน มนุ
มีเนื้อหาว่าด้วยกฎหมายและระเบียบการปฏิบัติของชาวฮินดู
ซึ่งจะวางแนวในการครองชีวิตของชาวฮินดูไว้โดยละเอียดเป็นต้นว่า
การแบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งในปลายยุคสมัยของมหากาพย์และทรรศนะทั้ง 6
นี้ยังได้มีลัทธิอื่นเกิดขึ้นและมีความเจริญรุ่งเรืองต่อจนย่างยุคที่3
และสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ยุคหลังจนถึงปัจจุบัน
ยุคนี้เริ่มขึ้นในปีคริสตศักราช 200 ยาวมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากยุคที่ 1 และยุคที่ 2
เป็นอันมาก เพราะหากนับระยะจากคริสตศักราช 200 แล้วก็ยาวนานถึงเกือบ 2000 ปี
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายโดยมากจะอยู่ในส่วนของลัทธิต่างๆ
ที่จะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมหาเทพตรีมูรติ
โดยแต่เดิมจะมีเพียงลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะหรืออิศวร) ไวษณพนิกาย
(นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์) และศักตินิยาย (นับถือชายาขององค์เทวะ)
แต่ในช่วงปลายของยุคนี้ได้เกิดมีลัทธิที่นับถือพระพรหมขึ้นอีกหนึ่งนิกาย
อีกทั้งลัทธิต่างๆ ทั้งไศวนิกาย หรือไวษณพนิกาย
ก็ได้มีนิกายที่แยกย่อยลงไปอีกด้วย