สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>
ประวัติการเมืองการปกครองไทย
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 1
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงยุคปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า
นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2545 เป็นระยะเวลา 70 ปี
ของพัฒนาการของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยเราสามารถแบ่งการเมืองการปกครองในช่วงระยะเวลาดังกล่าวออกได้เป็น
5 ยุคสำคัญ คือ ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 พ.ศ.2490)
เป็นยุคของความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มผู้ปกครองเดิม อันประกอบไปด้วยกลุ่มเจ้าและพวกขุนนาง และความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในคณะราษฎรด้วยกันเอง และสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2
ในระยะห้าปีแรกของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ อันมีผลนำไปสู่ความคลอนแคลนของรัฐบาล เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ กรณีการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ.2476 กล่าวคือ ในขณะที่มีการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ได้มีประกาศของคณะราษฎรซึ่งระบุถึงนโยบาย 6 ประการ
นายปรีดี ได้ยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นจากนโยบายข้อสาม เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาก ว่ามีลักษณะแนวทางแบบสังคมนิยม ทำให้เกิดการแตกแยกกันในรัฐบาล จนถึงกับต้องมีการปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ส่วนนายปรีดี ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คณะทหารภายใต้การนำของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 แล้วตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2476
ได้เกิดการกบฏของกลุ่มนายทหารและข้าราชการในต่างจังหวัด
ภายใต้การนำของพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยประกาศว่า ต้องการให้ประเทศชาติมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การกบฏครั้งนี้ก็ถูกปราบปรามลง
เจ้านายหลายพระองค์ต้องเสด็จนิราศไปประทับยังต่างประเทศ
มีหลายคนในคณะกบฏต้องรับโทษจำคุก หลังจากนั้นไม่ถึงสองปี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ
และทรงสละราชสมบัติ
คณะราษฎรจึงได้ถวายราชบัลลังก์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อานันทมหิดล ในเวลาต่อมา
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2481 พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งต่อมา หลังจากนั้นทหารเริ่มมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2481 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487 จอมพล ป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาห้าปีครึ่ง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการสร้างประวัติศาสตร์ของเมืองไทย นโยบายที่สำคัญที่สุดคือ รัฐนิยม ซึ่งเป็นนโยบายรักชาติ แสดงออกโดยการรณรงค์ต่อต้านคนจีน และนโยบายสงครามที่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นพร้อมกับประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา นโยบาย ดังกล่าวมีตั้งแต่โครงการรวมชาติ การสร้างเอกลักษณ์ของชาติ การสร้างความเป็นชาตินิยมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และความสนใจต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ
นโยบายที่อันตรายที่สุดของจอมพล ป. ก็คือการตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง การตัดสินใจประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษเกิดจากเหตุผลหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ ความกดดันจากสถานการณ์และอาจจะมาจากการคาดการณ์ผิดคิดว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ดังนั้นการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นก็เหมือนกับการเข้าร่วมกับผู้ชนะซึ่งประเทศไทยอาจได้ผลประโยชน์ร่วมกับผู้ชนะ แต่ว่าการตัดสินใจของจอมพล ป. กลายเป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงและทำให้ต้องเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นก็แพ้สงครามด้วย แต่มีปัจจัยสองข้อที่ทำให้ผู้นำไทยสามารถจัดการกับสถานการณ์เพื่อหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ปัจจัยสองประการนี้คือ
(1) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันปฏิเสธที่จะส่งสาส์นประกาศสงครามให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
(2) ได้มีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยซึ่งประกอบด้วยคนไทยที่อยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการกู้เอกราชของชาติ
ขบวนการนี้ตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งได้ร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รวบรวมกำลังคนภายในประเทศ และร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรทั้งหลาย
ดังนั้นเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลง นายปรีดีจึงออกประกาศซึ่งเห็นชอบโดยเอกฉันท์ โดยสภาผู้แทนแห่งชาติ โดยมีเนื้อความทำนองว่า
คนไทยไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามและกระทำการอันเป็นศัตรูต่อ
สหประชาชาติ (และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ซึ่งกระทำการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
ได้ประกาศในนามของประชาชนชาวไทยว่า
การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้นเป็นโมฆะ
และไม่ได้ผูกมัดประชาชนชาวไทย
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวที่รอบคอบ เพื่อการช่วยชาติให้หลุดพ้นจากผลเสียซึ่งเกิดจากการกระทำของจอมพล ป. หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2488 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นายเบิรนส์ (Byrnes) ได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้และสรุปว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่จะต้องได้รับการปลดปล่อยจากศัตรู และสหรัฐอเมริกาหวังว่าประเทศไทยจะกลับสู่สภาพเดิมในหมู่ประชาชาติทั้งปวงโดยเป็นประเทศเสรี มีอธิปไตยและมีเอกราช
ดังนั้นโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาทำให้ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมเหมือนดังเช่นของญี่ปุ่นและเยอรมนีอย่างหมิ่นเหม่ อันที่จริงได้มีการพูดถึงการสลายกองทัพไทยในแบบเดียวกับญี่ปุ่นและเยอรมนีเพื่อปูทางให้เกิดรัฐบาลแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย
ในส่วนของการเมืองภายใน ประเทศไทยได้โผล่ขึ้นมาจากสงครามในลักษณะของประเทศที่มีรัฐบาลใหม่คือ รัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยพวกเสรีนิยม เช่น นายปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ส่วนความรุ่งเรืองของทหารชาตินิยมและการรวมชาติของจอมพล ป. ได้ตกต่ำลง
ท่ามกลางสภาพทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวนั้นทำให้โอกาสของพวกเสรีนิยมในการที่จะสร้างรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยดูเหมือนจะแจ่มใส เพราะว่าอำนาจทหารถูกจำกัดลง อย่างไรก็ตาม พวกเสรีนิยมก็ไม่สามารถจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้ดีเท่าที่ควร และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490