ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 2 การรู้และการเห็น

2

2.1   ความรู้สัมพัทธ์

ความคิดเชิงเหตุผลได้มาจากประสบการณ์ซึ่งเราได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ บุคคล หรือเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมประจำวัน เป็นฝักฝ่ายของปัญญาซึ่งทำงานในการจำแนก แบ่ง เปรียบเทียบ วัด และจัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้จึง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกของความคิด เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุที่ชาวพุทธเรียกความรู้ชนิดนี้ว่าความรู้สัมพัทธ์ การย่อสรุป (Abstraction) จึงเป็นลักษณะสำคัญของความรู้ชนิดนี้ เพราะว่าในการเปรียบเทียบ การจัดแบ่งหมวดหมู่ตามความแตกต่างที่สำคัญของรูปลักษณะโครงสร้างและปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเรานั้น เราไม่อาจจะนำเอาทุกลักษณะของสิ่งนั้นมาพิจารณาได้ แต่เราต้องเลือกเอาลักษณะที่สำคัญบางลักษณะเท่านั้น ดังนั้น เราได้สร้างแผนที่ของความจริงขึ้นในความคิดคำนึงของเรา โดยย่นย่อสิ่งต่าง ๆ ให้เหลือเพียงโครงร่างคร่าว ๆ ของมันเท่านั้น ความรู้ในเชิงเหตุผลจึงเป็นระบบของความคิดและสัญลักษณ์ที่ถูกย่นย่อสรุป มีลักษณะโครงสร้างแบบลำดับการณ์เชิงเส้นตรง ซึ่งเป็นแบบฉบับของความคิดและการพูดของเรา

ในภาษาพูดส่วนใหญ่ โครงสร้างเชิงเส้นตรงเช่นนี้ แสดงออกอย่างชัดแจ้งโดยการใช้ตัวอักษร ซึ่งสื่อสารประสบการณ์และความคิดออกมาเป็นข้อความยาว ๆ ในทางตรงกันข้าม โลกธรรมชาติเป็นสิ่งหลากหลายและซับซ้อน โลกซึ่งกอปรด้วยมิติหลาย ๆ มิติ มิได้มีเส้นตรงหรือรูปร่างที่แน่นอนสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์โลกซึ่งสิ่งต่าง ๆ มิได้ปรากฏเป็นลำดับ แต่ปรากฏพร้อม ๆ กัน โลกซึ่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่บอกเราว่า แม้อวกาศอันว่างเปล่าก็มีลักษณะโค้ง เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าระบบการย่อสรุปความคิดของเราไม่สามารถอธบายหรือเข้าใจความจริงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ในการคิดเกี่ยวกับโลก เราต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันที่นักเขียนแผนที่เผชิญ เมื่อเขาจะเขียนแสดงผิวโค้งของโลกบนแผนที่แผ่นราบ เราคาดหวังได้แต่เพียงสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงเท่านั้นในขบวนการดังกล่าว และดังนั้นความในเชิงเหตุผลทั้งหมดจึงอยู่ขอบเขตที่จำกัด อาณาเขตของความคิดในเชิงเหตุผล เป็นขอบเขตของวิทยาศาสตร์ซึ่งกอปรด้วยการวัดและกำหนดปริมาณ การจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ ข้อจำกัดของความรู้ใด ๆ ซึ่งได้มาโดยวิธีการเช่นนี้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ๆ ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งได้แสดงให้เห็นดังคำกล่าวของเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก ว่า “คำพูดหรือความคิดที่กระจ่างชัดที่สุดก็มีขอบเขตการประยุกต์ใช้ได้อย่างจำกัด”

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย