ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดปัตตานี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดปัตตานี(2)

แม้ว่าปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ด้วยเหตุเมืองที่ปัตตานีมีความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทำให้เจ้าเมืองปัตตานีต้องการเป็นอิสละหลายครั้ง ดังเช่น ในปี พ.ศ.2092 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่านได้นำกองทัพเรือประกอบด้วยเรือหย่าหยับ 200 ลำ ไปช่วยราชการสงคราม แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยาเสียทีพม่า จึงถือโอกาสทำการขบถยกกำลังบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหนีข้ามฝากไปประทับบนเกาะมหาพราหมณ์ จนเมื่อกองทัพไทยรวบรวมกำลังได้แล้ว จึงยกกองทัพเข้าโอบล้อมตีกองทหารเมืองตานีจนแตกพ่ายไป ต่อมาในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีรับสั่งให้ออกญาเดโชยกทัพไปตีเมืองปัตตานี เพื่อยึดเข้าไว้ในพระราชอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากปัตตานีได้รับการช่วยเหลือจากพ่อค้าชาวยุโรป ทั้งอาวุธปืนใหญ่และทรัพย์สินเงินทอง ในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2245) เมืองปัตตานีไม่พอใจในการสถาปนาขึ้นใหม่ของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประกาศไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทำให้ปัตตานีเป็นอิสระต่อเนื่องมา

จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.2301 ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เมืองปัตตานีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองโบราณยะรังแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปก่อนหน้านั้นนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หลังจากที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง อิทธิพลของศาสนาอิสลามจากราชวงค์มัชปาหิตในชวาได้แผ่อำนาจเข้ามาสู่แหลมมลายูก่อตัวขึ้นเป็นอาณาจักรมะละกา ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 แผ่อิทธิพลไปสู่เมืองต่าง ๆ ทำให้เจ้าเมืองเปลี่ยนการนับถือศาสนาเดิมมาเป็นศาสนาอิสลามทั้งหมด ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการเมือง และการเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง ศาสนาอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นควบคู่ไปกับการค้า มีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ มัสยิดที่สำคัญคือ มัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ประจำเมือง และมัสยิดบ้านดาโต๊ะ บริเวณที่เป็นท่าเรือทางตอนเหนือของอ่าวปัตตานี นอกจากนั้นยังมีมัสยิดและสุเหร่าในเขตชุมชนอิสลามถูกสร้างขึ้นอีกหลายแห่ง

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าได้ส่งทหารเข้ามาตีหัวเมืองภาคใต้ ทัพเรือ ของพม่าตีได้เมืองตะทั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แต่ไม่สามารถยึดเอาเมืองถลางเพราะคุณหญิงจันทร์ภรรยาพระถลาง และนางสาวมุกน้องสาว ได้เกณฑ์กรมการเมืองออกต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ได้

ทางบกพม่ายกเข้าตีได้เมืองกระบุรี ระนอง ชุมพร แล้วเลยมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ขณะที่กองทัพพม่าจะยกไปตีเมืองพัทลุง และสงขลา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา สุรสิงหนาท ซึ่งเสร็จจากการรบกับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ก็เสด็จนำกองทัพมาช่วยเหลือหัวเมืองภาคใต้ที่ถูกพม่ายึดไว้กลับคืน ทรงดำริเห็นว่า หัวเมืองประเทศราชของไทย มีเมืองปัตตานี ไทรบุรี คิดจะตั้งตนเป็น อิสระไม่ยอมมาขึ้นกับไทย จึงส่งกองทัพหน้าออกไปตีเมือง ปัตตานี ได้จากสุลต่านอาหะหมัด ในปี พ.ศ.2329 ส่วนเมืองไทรบุรี ตรังกานู และ กลันตันเมื่อทราบข่าวเมืองปัตตานีพ่ายแพ้แก่ กองทัพไทย แล้วก็มีความหวาดกลัวว่าจะถูกกองทัพไทยยกไปโจมตี จึงได้ส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้ ทองเงินมาถวาย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงนาทยอมขึ้นกับราชอาณาจักรไทยเช่นเดิม และทรงแต่งตั้งให้ตนกูลัมมิเด็น ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานี หนังสือกรียาอันมลายู-ปัตตานีกล่าวว่า ตนกูลัมมิเด็นได้รวบรวมผู้คนอพยพเข้าไปตั้งศูนย์กลางปกครองเมืองปัตตานีอยู่ใน บริเวณ เมืองโบราณ ที่บ้านประวันอำเภอยะรัง และมอบหมายให้ ระตูปะกาลันเป็นพนักงานด่านภาษีอยู่ที่ ตำบลตันหยงลุโละท้องที่ อำเภอเมืองปัตตานี ด่านนี้เพิ่งจะเลิกกิจการไปในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง

ตวนกูลัมมิเด็น ได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสุลต่านเมืองปัตตานีได้ไม่นานก็ส่งทูตชื่อ "นาคุดาสุง" ถือสาสน์ พร้อมเครื่องราชบรรณาการไปเกลี้ยกล่อมองค์เชียงสือกษัตริย์ญวน ขอความร่วมมือให้นำกองทัพ ไปตี รุงเทพฯแต่ องค์เชียงสือ ยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งเคยชุบเลี้ยงอุปถัมภ์องค์เชียงสือและมารดาในยามที่หลบหนี พวกกบฏไตเซินเข้ามาพึ่งพาพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ และทั้งยังทรงสนับสนุนเกื้อกูลให้อาวุธยุทโธปกรณ์ใช้กอบกู้ เอกราช บัลลังก์กลับคืน จึงมีสาสน์มากราบทูลให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงทราบดังนั้นในปี พ.ศ.2334 จึงโปรดเกล้าให้พระยา กลาโหมราชเสนาเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมือง ปัตตานี จับตนกูลัมมิเด็นได้ ทรงให้นำเอาตัวมากักกันไว้ในกรุงเทพฯ

พงศาวดาร เมืองสงขลา กล่าวถึง เหตุการณ์ ในครั้งนี้ ว่า "ปีกุนตรีศกศักราช 1153 (พ.ศ.2334) โต๊ะสาเหย็ด (ไซยิด) คบคิด กับ พระยา ตานี ยกกองทัพไปตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา ขอกำลังทัพหลวงจากกรุงเทพฯและ กำลัง จาก กองทัพ เมืองนครศรี ธรรมราชมาช่วยเหลือแต่ก่อนที่กองทัพหลวง จากพระนครยกไปถึง เมืองสงขลาเพียง 4 วัน กองทัพเมือง สงขลาและ เมืองนครศรี ธรรมราช ก็สามารถตี กองทัพพระยาตานีที่มาตั้งค่ายคูล้อมเมืองสงขลาแตกทัพกลับไป โต๊ะสาเหย็ด (ไซยิด) ถูกปืนตายขณะเสกน้ำมนต์ประพรมประตูค่าย"            หลังจากการปราบปรามกบฏเมืองปัตตานีครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าฯ ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานบำเหน็จ ความชอบให้เลื่อน พระยาสงขลา (บุญฮุย) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอินคีรีสมุทรสงครามรามภักดีฯ ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นเป็นเมืองชั้นเอก ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานครฯ และมอบให้เจ้าเมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแล เมืองปัตตานี เมืองตรังกานู และกลันตัน

ในพงศาวดารเมืองสงขลา มิได้กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้ปกครองเมืองปัตตานี หลังจากกบฏตวนกูลัมมิเด็น แต่เรื่องราว การแต่งตั้งผู้ครองเมืองปัตตานีไปปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในหนังสือ กรียาอันมลายู-ปัตตานี ของอิบรอฮิมซุกรี ว่าพระยากลาโหม ราชเสนาขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งระตูปะกาลัน เป็นเจ้าเมืองปัตตานีโดยมีคนสยาม ชื่อ "ลักษมณาดายัน" เป็นผู้ ควบคุมดูแล

ครั้นถึงปี พ.ศ.2351 ระตูปะกาลัน เกิดมีความคิดขัดแย้ง กับข้าราชการไทย (ลักษมณาดายัน) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแล การบริหารเมืองปัตตานีอยู่ในขณะนั้น จนถึงกับยกกำลังไพร่พลเข้าต่อสู้กันเป็นเหตุให้ข้าราชการไทย ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าต้องหลบหนี ไปรายงานพฤติกรรมของระตูปะกาลันต่อเจ้าเมืองสงขลา

เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดีอภิริยะปรากรมพาหู(บุญฮุย) เจ้าเมืองสงขลาระดมกำลังทหารจากเจ้าเมืองจะนะเมืองพัทลุงและเมืองสงขลา มอบให้หลวงนายฤทธิ์(เถี้ยนจ๋ง) เป็นแม่ทัพและให้นายขวัญซ้ายบุตรชายพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) เจ้าเมืองจะนะเป็นกองทะลวงหน้า บุกจู่โจมตีเมืองปัตตานีได้ระตูปะกาลันหลบหนีออกจากเมือง นายขวัญซ้ายนำทหารติดตามไปจนถึงเขตแดนเมืองเประกับเมืองรามันห์ และได้ยิงต่อสู้กันจนกระทั่งระตูปะกาลันเสียชีวิต

จากเหตุการณ์ที่ตนกูลัมมิเด็นและระตูปะกาลันก่อการกบฏในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริเห็นว่าเมืองปัตตานีมีกำลังผู้คนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ยากแก่การปกครองได้ทั่วถึง จึงมีพระบรมราโชบายให้แยกเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา รามันห์ ระแงะ และเมืองสาย และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายขวัญซ้ายมหาดเล็กเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี เป็นคนแรกในปี พ.ศ.3251

เรื่องของปีที่แยกเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมืองนี้ ยังมีการเข้าใจไขว้เขวกันอยู่พงศาวดารเมืองปัตตานี ที่พระยาสงขลาแต่งกล่าวว่าได้ทำการแยก ในปีพ.ศ.2329 หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาทตีเมืองปัตตานีได้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องการแต่งตั้งนายขวัญซ้าย ไว้ในคำนำหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 3 ว่าปลัดจะนะ(ขวัญซ้าย)ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ.2334 แต่เมื่อพิจารณาจากชีวประวัติสังเขปของนายขวัญซ้าย ก็ว่าปีจุลศักราช 1155 (พ.ศ.2336) พระมหานุภาพปราบสงครามผู้ว่าราชการเมืองจะนะ บิดาของนายขวัญซ้ายได้นำนายขวัญซ้าย เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รับราชการฉลองพระยุคลบาท อยู่ในกรุงเทพมหานคร

พงศาวดารเมืองสงขลาก็กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า ได้ทำการแยกเมืองปัตตานีหลังจากปราบกบฏระตูปะกาลันใน ปีพ.ศ. 2351 ความว่า "ครั้งนั้นดาตูปักหลัน เจ้าเมืองยิริงคิดขบถ เจ้าพระยาพลเทพจัดให้กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลากับกองทัพหลวง ให้หลวงนายฤทธิ์เป็นแม่ทัพยกออกไปตีเมืองยิริง หลวงนายฤทธิ์ยกกองทัพออกไปตีทัพดาตูปักหลันเมืองยิริงถึงตะลุมบอน จับตัวดาตูได้ จึงได้แยกเมืองตานีออกเป็น 7 เมือง ตามพระบรมราชานุญาต"

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการส่งเครื่องราชบรรณาการของหัวเมืองทั้ง 7 ที่เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีมีหนังสือถึงพระยาตรังกานู พระยาหนองจิกในปีจ.ศ.1173 (พ.ศ.2354) ความว่า

"เมืองตรังกานูเมืองหนองจิก เคยได้พำนักอาศัยเมืองสงขลามาก่อนฉันใด ถึงพระยาสงขลา(บุญฮุย) ถึงแก่กรรมแล้วพระยาวิเศษสุนทร (เถี้ยนจ๋ง) ออกมาว่าราชการอยู่ถ้าถึงงวดปีเมืองตรังกานู เมืองหนองจิก ส่งดอกไม้ทองเงิน เครื่องบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย ก็ให้ส่งไปเมืองสงขลาให้พระยาสงขลาจัดแจงแต่งกรมการเอาดอกไม้ทองเงินเครื่องบรรณาการ ไปทูลเกล้าฯถวาย อย่างแต่ก่อนนั้น"

ธรรมเนียมการส่งดอกไม้ทองเงินหัวเมือง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองสงขลา ได้แก่เมืองปัตตานี ยะลา รามันห์ ระแงะ ยะหริ่ง สายหนองจิก กลันตันและตรังกานู จะต้องจัดดอกไม้ทองเงินตามขนาด (ที่กำหนดแต่ละเมือง) ส่งผ่านเจ้าเมืองสงขลาตรวจสอบ และแต่งตั้งกรมการเมืองเป็นผู้นำเข้าไปทูลเกล้าถวาย ทุกๆ 3 ปี จากหนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เตือนพระยาตรังกานูและพระยาหนองจิก ดังกล่าวแสดงว่าอย่างน้อยเมืองหนองจิก เมืองตรังกานูก็เคยส่งดอกไม้ทองเงินมาแล้วครั้งหนึ่ง คือในปี พ.ศ.2351 ครั้นถึง ปี พ.ศ.2354 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบแห่งการส่งดอกไม้เงินทองอีก เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีจึงมีหนังสือเตือน มาเร่งรัดหัวเมืองทั้งสอง

จากเอกสารฉบับนี้และพงศาวดารเมืองสงขลา ปัญหาการแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ปีใดจึงน่าจะยุติได้ว่าเมืองปัตตานีถูกแบ่งแยกออก เป็น 7 หัวเมือง ในปี พ.ศ.2351 มิใช่ปี พ.ศ.2329

นายขวัญซ้ายดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอยู่ได้ 8 ปี ก็ถึงแก่กรรม สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพ่ายน้องชายนายขวัญซ้าย ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีคนต่อมา

สมัยที่นายพ่ายปกครองเมืองปัตตานี "พวกสาเหย็ด (ไซยิด) และพวกรัตนาวงได้คบคิดกันเข้าปล้นบ้านพระยาตา นี(พ่าย) และบ้านหลวงสวัสดิ์ภักดี (ยิ้มซ้าย) ผู้ช่วยราชการเมืองตานี "พระยาตานีพ่ายได้ทำการต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ได้ แล้วรายงานเหตุการณ์ไปยังเมืองสงขลาทราบ พระยาสงขลา(เถี้ยนจ๋ง) มีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาสงขลา ออกไปช่วยเหลือพระยาตานี(พ่าย) หาทางระงับเหตุการณ์และเห็นว่าวิธีที่จะช่วยให้เกิดความสงบสุขขึ้นในหัวเมืองทั้ง 7 ได้ดีที่สุดในขณะนั้น คือเลือกสรรบุคคลในท้องถิ่นที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้ทรงแต่งตั้ง

ต่วนสุหลง เป็นผู้ว่าราชการ เมืองปัตตานี นายพ่าย เป็นผู้ว่าราชการ เมืองยะหริ่ง(ยิริง) ต่วนสหนิ(หนิ) เป็นผู้ว่าราชการ เมืองหนองจิก ต่วนมาโซ เป็นผู้ว่าราชการ เมืองรามันห์ ต่วนหนิเดะ เป็นผู้ว่าราชการ เมืองสาย ต่วนยาลอ เป็นผู้ว่าราชการ เมืองยะลา ปี พ.ศ.2360ต่วนยาลอ ผู้ว่าราชการเมืองยะลาและต่วนมาโซผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ และต่วนสหนิผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ถึงแก่กรรมพระยาวิเศษสุนทร(เถี้ยนจ๋ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจึงแต่งตั้งให้ ต่วนบางกอก เป็นผู้ว่าราชการเมืองยะลา ต่วนกุโน เป็นผู้ว่าราชการเมืองรามันห์ ต่วนกะจิ น้องชายต่วนสุหลง(เจ้าเมืองปัตตานี) เป็นผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย